ข่าว

พันธุ์ไทย “6 สตาร์ทอัพ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปั้นธุรกิจ..ตอบโจทย์ชีวิตยุคดิจิทัล


               ปัจจุบันเราได้ยินคำว่า “สตาร์ทอัพ” กันหนาหู ซึ่งแม้ภาครัฐจะมองในภาพกว้างเป็นเรื่องของการปั้นนักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรงให้เกิดขึ้น เพื่อหวังจะให้เศรษฐกิจไทยก้าวข้ามกับดักต่างๆ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่ความหมายที่แท้จริง คือธุรกิจเกิดใหม่ที่มีนวัตกรรม นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

               โดยมีกลุ่มทุนที่เรียกว่า เวนเจอร์ แคปปิตอล (VC) เข้ามาสานฝันให้ธุรกิจใหม่เหล่านี้เติบโต

               วันนี้ เราจึงมาทำความรู้จักกับเหล่านักธุรกิจรุ่นใหม่ในโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพของ “ดีแทค แอคเซอเลอเรท” ที่ปีนี้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 ว่าพวกเขามีแนวคิดในการทำธุรกิจอย่างไร และก็พบว่าแนวคิดที่ไม่ธรรมดาเหล่านี้ คิดได้อย่างเดียวว่า “แม่ ก็คือ แม่” “พ่อ ก็คือ พ่อ” กันทั้งนั้น

               “Health atHome” คือสตาร์ทอัพที่ต้องการทำโซลูชั่นเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุที่บ้าน รองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต และหนึ่งในผู้ก่อตั้งคือ “นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ” อายุรแพทย์ อดีตเป็นแพทย์ประจำ ดูแลแผนกผู้สูงอายุโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า บ้าน เป็นสถานที่ที่พักฟื้นที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย แต่ปัญหาคือ ไม่สามารถอยู่บ้านได้เพราะไม่มีคนดูแล หรือการจะหาผู้ดูแลก็ไม่มั่นใจว่าจะเชื่อถือหรือไว้วางใจได้หรือไม่

               “สิ่งที่เราทำคือแก้ปัญหาเหล่านี้ ด้วยการคัดเลือกผู้ดูแลเข้ามาในระบบและทำการแมทชิ่ง โดยใช้เว็บไซต์เป็นมาร์เก็ตเพลส (ตลาดกลาง) โดยการรับสมัครผู้ดูแล ทดสอบ และคัดเลือกเฉพาะบุคคลที่ผ่านมาตรฐานเท่านั้นให้เข้ามาอยู่ในระบบเรา ด้านฝั่งครอบครัวที่ต้องการผู้ดูแล สามารถกรอกข้อมูลความต้องการผ่านทางเว็บไซต์ ว่าต้องการผู้ดูแลแบบไหน ต้องการการดูแลชนิดใด จากนั้นเราก็จะทำการแมทชิ่งเข้ากับฐานข้อมูลที่มี เพื่อให้ได้บุคคลที่ใกล้เคียงที่สุด โดยคิดค่าแมทชิ่ง ฟี ครั้งละ 3,000 บาท และค่าบริการให้คำปรึกษาเดือนละ 1,000 บาท กรณีผู้ดูแลลางาน ยังสามารถจัดหาคนมาเติมให้ได้”

               นอกจากนี้ ยังจะมีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท คือผู้ดูแลในระบบของ Health atHome จะมีแอพพลิเคชั่น เพื่อดูว่าจะต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน เพราะแต่ละโรคที่แตกต่างกัน จะต้องการการดูแลที่ไม่เหมือนกัน เช่นคนไข้ที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ต้องการการพลิกตัวทุก ๆ 2 ชั่วโมง จากนั้นยังสามารถเก็บข้อมูลคนไข้ผ่านระบบ ทั้งความดัน ชีพจร ค่าน้ำตาล ที่สามารถประมวลผลออกมาเป็นกราฟ โดยจะมีค่าเตือน เพื่อสามารถบอกคุณหมอถึงสถานะของคนไข้ได้

               หมอคณพลบอกด้วยว่า ปัจจุบันมีผู้ดูแลที่มีคุณภาพในระบบอยู่ชุดหนึ่งแล้ว จากนั้นเชื่อว่าคนเหล่านี้ก็จะบอกต่อ และแนะนำเพื่อนๆ เข้ามาสู่ระบบได้มากขึ้น และยังได้เข้าไปคุยกับทางโรงเรียนบริบาลที่จัดอบรมหลักสูตรดูแลเพิ่มเติมด้วย สุดท้ายที่เราอยากทำ คือการจัดสร้างเทรนนิ่ง โปรแกรมการดูแลของ Health atHome ขึ้นมาเอง เพื่อสร้างให้เป็นอาชีพในอนาคต เพราะเห็นว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี ปัจจุบันมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.5-2.5 หมื่นบาทต่อเดือน

               “Fastwork” ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Fastwork.co ซึ่งเป็นเว็บไซต์ฐานของฟรีแลนซ์

               โดย “ตั๊บ” วสะ สุภาโชค เอี่ยมสุรีย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและเป็นกัปตันของ Fastwork.co เล่าให้ฟังว่า เอสเอ็มอีในสหรัฐอเมริกา ราว 1 ใน 3 หรือประมาณ 12 ล้านราย เลือกที่จะจ้างฟรีแลนซ์ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และกลุ่มทำงานในสหรัฐ ประมาณ 1 ใน 3 หรือราว 15 ล้านคน เลือกที่จะทำงานเป็นฟรีแลนซ์ ถือเป็นสูตรสำเร็จก็ว่าได้ ที่ว่าทำไมสตาร์ทอัพในอเมริกาถึงเติบโตได้รวดเร็ว นั่นเพราะเขาจ้างฟรีแลนซ์

               สำหรับในไทยเองตลาดในส่วนนี้ยังค่อยๆ เติบโตไปตามเทคโนโลยี โดยมี 1 ใน 4 ของเอสเอ็มอีไทย เลือกที่จะจ้างฟรีแลนซ์ แต่คนไทยมีเพียง 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรคนไทยเท่านั้น เลือกที่จะทำงานเป็นฟรีแลนซ์ ทั้งที่ทั่วโลกเองฟรีแลนซ์เองหาเงินได้มากกว่างานประจำ และการที่เอสเอ็มอีเลือกที่จะจ้างฟรีแลนซ์ก็เพราะว่าพวกเขาต้องการมืออาชีพ ที่มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญเฉพาะได้อย่างรวดเร็ว

               อย่างไรก็ตาม ปัญหาในประเทศไทย คือยังไม่มีความน่าเชื่อถือระหว่างกันในการจ้างฟรีแลนซ์ทำงาน เช่น ไม่ได้งานบ้าง ส่งงานไม่ตรงเวลาบ้าง หรือฟรีแลนซ์เองก็เจอปัญหาการไม่ได้รับค่าจ้างบ้าง เราจึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้โดยเป็นมาร์เก็ตเพลส ที่มีความโปร่งใสและมั่นใจได้ เป็นเว็บไซต์ที่ให้ความน่าเชื่อถือกับผู้ว่าจ้างว่าจ้างฟรีแลนซ์อีกที

               “เราเป็นคนกลางจะถือเงินไว้ก่อนจนกว่าจะมีการส่งงานถึงโอนเงิน โดยจะเก็บค่านายหน้า 17% จากฟรีแลนซ์ และจะจัดให้มีการให้เรตติ้ง และรีวิวฟรีแลนซ์ การที่เราสร้างขึ้นมา ก็เพื่อช่วยเอสเอ็มอีให้เปลี่ยนจากไอเดียเป็นความจริง ซึ่งจุดเด่นของเราคือการการันตี ถือเงินไว้ให้ก่อน และจากการทำ Fastwork มา 6-7 เดือนแล้ว เรามีฟรีแลนซ์มากกว่า 3,800 คน และมีลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีมากกว่า 500 ราย เข้ามาว่าจ้างผ่านเรา มีมูลค่าการจ้างฟรีแลนซ์ผ่านระบบเกือบ 3 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเติบโตเร็วสมชื่อ”

               “Finnomena” ซึ่งเป็นการผสมคำจาก Finance (การเงินการลงทุน) และ Phenomena (ปรากฏการณ์) หมายถึงการสร้างปรากฏการณ์ทางการเงินและการลงทุนให้กับประเทศไทย

               “แบงก์” ชยนนท์ รักกาญจนันท์ ซึ่งรู้จักกันในนามแฝงในเว็บบอร์ดพันทิป ห้องสินธร ว่า “Mr.Messenger” คือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง กล่าวว่า Finnomena มาตอบโจทย์การที่สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ซึ่งจากข้อมูลของ TDRI ระบุว่าผู้สูงอายุจำนวน 20 ล้านคน จะมีแค่ 7% เท่านั้นที่สามารถเกษียณอายุได้อย่างมีความสุข ส่วนที่เหลือ จะเกษียณอย่างมั่นคงได้ สิ่งเดียวที่จะต้องทำคือการออมเงินเพิ่ม และต้องการการลงทุน

               “เรามาตอบโจทย์ของปัญหานี้ จึงเป็นการรวมตัวกันของกูรูทางการเงิน มาร่วมก่อตั้ง และทำโปรแกรมชุดแรกออกมาคือ วางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ ในชื่อว่า NTER (เอ็นเทอร์) และยังมีคอนเทนท์ที่เป็นบทความต่างๆ ซึ่งตอบโจทย์นักลงทุนหุ้นรายวันได้อ่านฟรีอีกด้วย” แบงก์กล่าวและว่า ตอนนี้ เราได้พาร์ทเนอร์กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทั้ง 23 รายแล้ว และจะมีพาร์ทเนอร์เพิ่มเติม เช่น เมืองไทยประกันชีวิต และดีแทค

               และส่วนตัวยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท INFINITI Global Investors เป็นบริษัทนายหน้าซื้อขายลงทุนที่เตรียมไว้เพื่อการขยายธุรกิจ และล่าสุดยังได้จับมือกับไลน์ ที่จะเปิดไลน์ไฟแนนซ์

               แบงก์บอกว่า รายได้ของ “Finnomena” จะมาจากค่าคอมมิชชั่นจาก บลจ. คิดเฉลี่ยอยู่ที่ 0.5% ต่อ 1 พอร์ตความเสี่ยงระดับกลางของผู้ลงทุน และตั้งแต่เปิดมาจนถึงขณะนี้มี Asset Under Advice (AUA) อยู่ที่ 33 ล้านบาทแล้ว โดยมั่นใจว่าการที่เราเป็นอิสระ มีความเป็นกลาง ไม่ได้ทำตัวเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต แต่เป็นไฟแนนเชียล แอดไวเซอร์ โดยไม่ได้อิงกับค่ายใดค่ายหนึ่ง สามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด จับจังหวะเข้าออกที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าได้ จึงถือเป็นจุดเด่นของเรา

               “Freshket” ซึ่งมีหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคือ “เบลล์" พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ ผู้ที่ได้คลุกคลีธุรกิจการเกษตรของครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก จนมาทำธุรกิจจัดซื้ออาหารสดให้ร้านอาหาร แต่เมื่อประสบกับปัญหามากมาย จึงหาทางแก้ปัญหาด้วยการก่อตั้ง Freshket.co มาร์เก็ตเพลส ที่มาตอบโจทย์กับปัญหาดังกล่าว

               “เราเจอปัญหาแรก คือระหว่างร้านอาหารและซัพพลายเออร์ของสด จะหากันค่อนข้างยาก เช่น เวลาจะไปที ก็ต้องไปเคาะประตู และหากไม่ได้พบกับผู้ที่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจซื้อ ก็จะยังไม่ได้รับออเดอร์จากร้านนั้น ขณะเดียวกันร้านค้าเองต้องการเจอซัพพลายเออร์ก็หาได้ยากเช่นกัน อีกปัญหาที่เราเจอคือ การจะสั่งสินค้าอาหารสดแต่ละร้าน จะมีเป็นร้อยรายการ และสั่งซื้อแต่ละครั้งจะต้องหลังเที่ยงคืนไปแล้วคือร้านอาหารปิด 4 ทุ่ม เช็กสต็อกห้าทุ่มถึงตีหนึ่ง จากนั้นจึงจะสั่งวัตถุดิบเข้าร้าน จากปัญหานี้เราจึงตอบโจทย์ด้วยการพัฒนาโปรแกรมเป็นมาร์เก็ตเพลสขึ้นมา”

               เบลล์ บอกว่า เราจะคิดค่าใช้จ่าย 2% จากยอดขาย โดยเริ่มแรกเจาะตลาดกลุ่มร้านอาหารระดับกลางและเล็ก และซัพพลายเออร์ขนาดกลางและเล็กก่อน จากนั้นมีแผนที่จะพัฒนาและขยายตลาดไปต่อเนื่องจนถึงตลาดส่งออกต่อไป

               นอกจากนี้ยังมี “Visionear” ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นแว่นตาเพื่อผู้พิการทางสายตา ช่วยในเรื่องการแยกแยะสิ่งของ โดยมี “นันทิพัฒน์ นาคทอง” จากอดีตวิศวกรณ์คอมพิวเตอร์ มาเป็นซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง “Visionear” ผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาในการใช้ชีวิตประจำวัน

               “แม้ว่าผู้พิการทางสายตาเหล่านี้จะมีความสามารถในการพัฒนาการรับรู้ และความจำมาเป็นอย่างดี แต่ด้วยสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ อย่างในประเทศไทย การใช้ไม้เท้านำ อาจจะช่วยได้เฉพาะด้านล่าง แต่พวกเขาอาจจะไม่ทราบว่ายังมีบันได ที่อาจเดินไปเจอและชนได้ หรือแม้แต่ป้ายหาเสียงที่ตั้งไว้ตามทางเดินเท้า ซึ่งจะทำให้พวกเขาเกิดอุบัติเหตุชนได้ แว่นตาที่ว่านี้ก็จะมาช่วยแยกแยะสิ่งของให้ รวมทั้งแยกแยะสินค้าที่รูปทรงเหมือนๆ กัน เช่นขนมขบเคี้ยวที่เป็นห่อเหมือนๆ กัน ขวดซีอิ้วที่รูปทรงเหมือนๆ กัน โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะแยกแยะสินค้าได้ด้วยการอ่านบาร์โค้ด และมีภาษาหลัก 3 ภาษาคือ ไทย อังกฤษ และจีน” นันทิพัฒน์ กล่าว

               ปิดท้ายที่ “FABbrigade” แอพพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์ด้านความงามและสุขภาพสำหรับทั้งหญิงและชายในยุคดิจิทัล ภายใต้ “สโลแกนสวยสั่งได้ ง่ายๆ ถึงบ้านคุณ”

               “เราเปิดบริการมาได้ 2 เดือนครึ่ง เริ่มที่บริการแต่งหน้า ทำผม ทำเล็บ ยังมีโยคะ และสปา เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่แค่การตอบโจทย์คนที่มีเวลาจำกัดเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการเอาใจใส่ดูแลตัวเองว่าต้องดูดี มีสุขภาพที่ดี ในขณะที่เราต้องการพักผ่อนก็ไม่อยากจะฝ่ารถติดออกไปไหน แต่ก็อยากจะมีเวลาที่ทำให้รู้สึกดีและผ่อนคลายได้บ้าง” ดาลัด ตันติประสงค์ชัย ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง กล่าว

               ทั้งนี้ เราเป็นแอพพลิเคชั่นที่เจาะตลาดความสวยความงาม ตลาดสุขภาพที่เมืองไทยถือได้ว่าเป็นตลาดที่ใหญ่และเติบโต

 

---------------------

(คมคิด ธุรกิจนิวเจน : พันธุ์ไทย “6 สตาร์ทอัพ” ปั้นธุรกิจ..ตอบโจทย์ชีวิตยุคดิจิทัล : อนัญชนา สาระคู ... เรื่อง / อนันต์ จันทรสูตร์ ... ภาพ)

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ