ข่าว

'ข้าวต้มมัด'โกอินเตอร์โชว์รากเหง้าความประณีตขนมไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ข้าวต้มมัด'โกอินเตอร์โชว์รากเหง้าความประณีตขนมไทย : คมคิดธุรกิจนิวเจนโดย...กุมุทนาถ สุตนพัฒน์

          รางวัลผู้ผลิตขนมไทยดีเด่น ประจำปี 2549 จัดโดยสมาคมอนุรักษ์ขนมไทย ซึ่งรับพระราชทานรางวัลจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติและการันตีให้แก่ “ฉัตรชัย โพธิ์วรสิน” หรือ คุณอ๊อด ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท โรสอรยา ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวต้มมัดส่งออกต่างประเทศ

          ก่อนจะก้าวเดินมาบนเส้นทางขนมหวาน คุณอ๊อดใช้ชีวิตเป็นคนขายปลาอยู่แถวสะพานปลากรุงเทพฯ แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบคุยเรื่องอาหารร้านอร่อย ทำให้ลูกค้าที่มาซื้อปลาซึ่งทำธุรกิจส่งออกสินค้าไปต่างประเทศสอบถามถึงแหล่งขายข้าวต้มมัดที่อร่อยและได้มาตรฐาน เพื่อนำส่งออกไปขายต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมามักจะเจอสินค้าที่ไม่ค่อยได้มาตรฐาน ข้าวเหนียวสุกบ้างดิบบ้าง และด้วยความที่ลูกค้าคนนี้รู้จักกันมานานมีความไว้วางใจในตัวเขา จึงอยากให้ช่วยหาสินค้าให้ แต่เมื่อหาสินค้าไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็เลยหัดทำเองและลองทำส่งให้ลูกค้า ในที่สุดก็ได้ข้าวต้มมัดสูตรอร่อยเป็นของตัวเอง จึงเป็นการจุดประกายที่อยากจะทำข้าวต้มมัดขาย

          สิ่งที่จุดประกายอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อ 38 ปีที่แล้ว แฮมเบอร์เกอร์เข้ามาโด่งดังมากในเมืองไทย เลยอยากเห็นข้าวต้มมัดของไทยไปโด่งดังในต่างประเทศบ้าง จึงทำให้เกิดความมุ่งมั่นและเป็นแรงบันดาลใจที่อยากทำมากขึ้น จากนั้นก็พยายามคิดค้นหาความลงตัวนานเป็นเดือน ก่อนที่ในปี 2521 จะเริ่มรับจ้างผลิตข้าวต้มมัดส่งให้ผู้ส่งออก โดยช่วงแรกๆ ยอดสั่งซื้ออาจแค่หลักพัน แต่ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนเป็นแสนมัดต่อปี ซึ่งตลาดที่ส่งออกไปมีทั้ง สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย แคนาดา เนเธอร์แลนด์  ฟินแลนด์ แถบสแกนดิเนเวีย ยุโรปหลายประเทศ แต่ไม่มีในภูมิภาคอาเซียน

          “กรณีแบรนด์ของเราเองจะเริ่มตีตลาดจีนก่อน โดยในส่วนของจีนนั้น มีหลายครั้งที่มาเมืองไทยแล้วต้องการสินค้าเรามาก เพราะต้องการแบบแช่แข็งแต่จะเอาแบบถุงพร้อมรับประทานเลย แต่ผลิตให้ไม่ได้ เนื่องจากกำลังการผลิตไม่เพียงพอ อีกอย่างเราต้องการแตกไลน์การผลิตอีกแบบที่ไม่ทับซ้อนลูกค้า เราอยากทำแบบฉีกถุงรับประทานได้เลย”

          คุณอ๊อดบอกว่า ทำงานอยู่เบื้องหลังการผลิตมานานกว่า 30 ปี จนกระทั่งปี 2558 ได้เข้าโครงการพัฒนาผู้ประกอบการกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้สร้างแบรนด์ จึงมีแนวคิดที่จะสร้างแบรนด์ของตัวเอง และใช้ชื่อว่า “ใบสลาด” โดยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พัฒนาข้าวต้มมัดแบบสดๆ ห่อใบตองแช่แข็ง เป็นข้าวต้มมัดพร้อมรับประทานอยู่ในถุง และไม่ต้องเข้าไมโครเวฟ

          ที่มาของ “ใบสลาด” ก็คือใบตองที่เราใช้คำโบราณเรียกว่า ใบเทสลาด โดยตัดคำว่า เทออกไปคนจะได้ไม่ถาม แต่หากถามก็จะอธิบายว่าหมายถึง ใบตองที่ไม่แก่ไม่อ่อน ซึ่งมีอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตยสถาน ถือเป็นคำโบราณที่ไม่อยากให้ตายไป จึงเอาใบสลาดมาตั้งชื่อ โดยปีนี้จะเริ่มส่งออกตลาดอาเซียนคือ จีน เพราะในปีที่ผ่านมาได้ไปร่วมงานแสดงสินค้าอาหารก็มีลูกค้าสนใจติดต่อมากมาย แต่ยังผลิตไม่ได้ เนื่องจากงานวิจัยยังไม่จบ แต่ปีนี้จบแล้ว กำลังพัฒนาให้ดีขึ้น

          นอกจากนี้ ได้นำสินค้าไปออกบูธในงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อโปรโมทสินค้า ซึ่งก็ได้รับความสนใจอย่างมากมีความต้องการซื้อหลังจากออกงาน แต่ไม่มีขายในเมืองไทย เพราะเป็นการผลิตส่งให้ลูกค้าไปขายต่างประเทศทั้งหมด ทำให้ผู้บริโภคเพิ่งมารู้จักตอนออกบูธ หลายคนติดใจก็ถามว่าจะไปออกบูธที่ไหนอีกก็จะตามไปกิน ทำให้มีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น ช่วยเพิ่มแรงมุ่งมั่นให้ความต้องการที่จะทำขนมไทยให้ได้มาตรฐาน มีรสชาติอร่อย

          “เมื่อข้าวต้มมัดติดตลาดแล้ว ลูกค้าเริ่มไว้ใจและติดต่อให้ทำขนมชนิดอื่นเพิ่มขึ้น มีลูกค้าบางประเทศสั่งซื้อข้าวต้มมัดจำนวนมากๆ และยังต้องการให้เราผลิตขนมอื่นอีก บางรายมาตลาดน้ำดอนหวายเขียนรายชื่อขนมมาให้ทำ 20 กว่าอย่าง แต่ก็ทำได้ไม่หมด ตอนนี้ที่ผลิตเองเกือบ 10 อย่าง บางอย่างก็ให้ให้เจ้าอื่นทำแต่ให้เราจะควบคุมมาตรฐานเรื่องรสชาติให้”

          คุณอ๊อดบอกด้วยว่า การพัฒนารสชาติในขณะนี้ขอเป็นรสชาติของตัวเองเป็นหลัก เพราะลูกค้าติดในรสชาติดั้งเดิมไปแล้ว ซึ่งไม่ว่าผลการวิจัยจะออกมาเป็นอย่างไรก็ขอคงรสชาติเดิมไว้ 90% ตอนนี้ก็ได้ แต่จะมีการพัฒนาในส่วนของข้าวเหนียวให้นุ่มนวลขึ้น หรือทำขนมไส้อื่นๆ มาเสริม บางช่วงตลาดผลไม้ขาดแคลนก็จะใช้ผลไม้อื่นมาเสริม ได้แก่ เผือก ทุเรียน นอกจากนี้ การเพิ่มความหลากหลายของสินค้าก็จะต้องมาจากความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เช่น ข้าวเหนียวดำหน้ากระฉีก เป็นลูกค้าจากแคนาดาติดต่อเข้ามา เพราะมาเมืองไทยแล้วเคยกินข้าวเหนียวดำมีมะพร้าวโรยคาราเมล แต่อยากให้ทำออกมาเป็นข้าวต้มมัด ก็ต้องพยายามจนได้

          นอกจากนี้ กำลังเร่งวางแผนผลิตขนมในช่วงเทศกาลต่างๆ เพื่อเพิ่มยอดขายและทำตลาดให้ลูกค้ารู้จักมากขึ้น เช่น ขนมเทียนมีร้านสะดวกซื้อติดต่อไปวางจำหน่ายในช่วงเทศกาลสารทจีนเมื่อปีที่ผ่านมา  2,000 ชิ้น ส่วนปีนี้มียอดสั่งซื้อเกือบหมื่นชิ้น ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนเรื่องระยะเวลาในการขนส่งก็ไม่ใช่ปัญหา อย่างส่งไปยุโรปใช้เวลา 28 วัน พอไปถึงที่โน่นแพ็กใหม่วางขายที่แม็คโคร กระจายไปร้านอาหารต่างๆ ได้ด้วย ซึ่งสินค้านี้เป็นอาหารแบบพร้อมรับประทาน ไม่ต้องแช่แข็ง สามารถลำเลียงลงเรือส่งออกได้เลย เพราะผ่านการวิจัยจากสกว.แล้ว แต่หากต้องการให้มีความนิ่มเพิ่มขึ้น ก็นำเข้าไมโครเวฟเพียง 1 นาที โดยปีหน้ามีแนวโน้มที่จะวางขายในเมืองไทย ตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาความพร้อมก่อน

          “ในช่วงแรกลูกค้าในต่างประเทศส่วนใหญ่ก็เป็นคนไทย คนเอเชีย แต่ช่วงหลังต่างชาติรู้จักหมด แม้แต่ขนมเทียนก็เคยนำไปออกบูธที่กรมส่งเสริมการส่งออก เชิญชวนให้ลองกินก็ไม่ค่อยมีใครสนใจ ตอนหลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐมาแนะนำให้กิน ไม่ต้องกลัวเรื่องความปลอดภัยจึงกล้ากินกัน ซึ่งจริงๆ ก็รู้ว่ามันคืออะไร และมีส่วนผสมอะไรบ้าง ตอนหลังบอกอร่อยมากขออีกได้มั้ย พร้อมกับข้อความ..เป็นของอร่อยมาก เกือบพลาดสิ่งดีๆ ในชีวิตไปแล้ว ..ผู้ใหญ่ปลื้มใจกันหมดเลย”

          คุณอ๊อดเล่าถึงขั้นตอนการส่งออกว่า ไม่ยุ่งยากเพราะทำมานานแล้ว นอกจากบางประเทศที่มีการขอใบรับรองต่างๆ เราก็ทำให้  ซึ่งสินค้าของบริษัทส่งไปตรวจคุณภาพที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2-3 ครั้งต่อปี และยังมีใบรับรองจากสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงตราฮาลาลด้วย ส่วนราคาจำหน่ายอยู่ที่ราคาถุงละ 30 บาท เนื่องจากต้นทุนในการบรรจุแพงมาก ขบวนการทำก็ยุ่งยากกว่าการห่อใบตอง เป็นราคาที่ส่งให้ลูกค้าเทรดเดอร์ เมื่อไปถึงตลาดต่างประเทศก็จะปรับราคาขึ้นอีก ส่วนราคามัดแช่แข็งจะอยู่ที่ 30-35 บาท แต่ละมัดจะมีน้ำหนักครึ่งกิโลกรัม

          ขนมของคุณอ๊อดยังเป็นที่สนใจของร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่นอีกด้วย โดยเคยถูกชักชวนให้นำไปวางจำหน่ายตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา แต่เขาเลือกที่จะไม่วางขาย หรือแม้แต่เมื่อปีที่ผ่าน ซีพีเอฟที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ก็ต้องการขนมที่ผลิตจากข้าวเหนียวทั้งหมดของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นข้าวต้มมัด ข้าวเหนียวมูล แต่เจ้าตัวบอกว่า ขอมุ่งมั่นพยายามเข้าไปวางจำหน่ายสินค้าในจีนด้วยแบรนด์ของตัวเองจะดีกว่า

          “เราเติบโตมาจากการส่งออก ทำให้เชื่อว่าเรามีความชำนาญในการเจาะตลาดต่างประเทศพอสมควร  ที่สำคัญอยากสร้างชื่อเสียงเรื่องนี้ให้เป็นที่เลื่องลือก่อน แล้วพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยถ้าสินค้าไม่ดังก็ขายได้หรอก จริงๆ ผมอยู่เบื้องหลังการส่งออกข้าวต้มมัดมานาน บางคนยังงงว่าข้าวต้มมัดส่งออกได้ด้วยเหรอ”

          ความภาคภูมิใจในวันนี้คือ การที่ต่างชาติชื่นชมในสินค้าของบริษัท ถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้ขนมไทย นอกจากอาหารคาวที่โด่งดังอย่างต้มยำกุ้ง ช่วยให้ตลาดขนมไทยเติบโตได้ ปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่าคนไทยเริ่มส่งออกขนมไปขายในต่างประเทศกันมากขึ้น ซึ่งหากไม่มีความมั่นใจในสินค้าชาวต่างชาติจะไม่ซื้อเด็ดขาด แต่เมื่อสินค้าของบริษัทเข้าไปตีตลาดแล้วก็ทำให้ง่ายขึ้น เพราะมีความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า รสชาติที่ดี โดยเป็นที่ถูกปากถูกใจเข้ากับสังคมในต่างประเทศได้ และแม้สินค้าจะถูกแช่แข็งไปก็สามารถนำไปเข้าไมโครเวฟเพื่อให้ข้าวเหนียวนุ่มได้เหมือนเดิม 

          หากถามถึงปัจจัยเสี่ยงต่อธุรกิจนี้ คุณอ๊อดมองว่า ราคาวัตถุดิบที่ค่อนข้างแกว่งตัวคือความเสี่ยง เพราะบางครั้งวัตถุดิบขึ้นไปมากแต่ก็ไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ บางครั้งต้องอดทน บอกกับตัวเองและลูกค้าว่าราคาวัตถุดิบจะปรับขึ้นแค่ไหน เราก็ขึ้นราคาไม่ได้ และคุณภาพต้องเหมือนเดิม ห้ามลดโน่นลดนี่เป็นอันขาด ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้เรายืนอยู่ตรงนี้ได้ยาวนาน

          “รสชาติขนมต้องนิ่ง ตลาดก็เดินได้ ไม่ว่าจะลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาก็ต้องพยายามทำสินค้าให้ดีซื้อครั้งเดียวติด เหมือนกับว่าเอาสินค้ามาให้เค้าต้องอร่อย จะมาแก้โน่นแก้นี่หลายรอบ ผมไม่ชอบ ปัจจุบันก็ยังทำเอง เพราะขนมไทยไม่เหมือนเบเกอร์รี่เขียนสูตรมาทำได้เลย ขนมไทยต้องแก้ให้เป็น ไม่ว่ากะทิมาไง น้ำมาไง เราต้องแก้ให้เป็น ไม่งั้นต้องทิ้งหมดเลย มองของให้ออก ข้าวเหนียวมารูปนี้ กินน้ำกะทิเท่าไหร่ อิ่มมั้ย ต้องปรับไปเรื่อยๆ เหมือนแป้งขนมถ้วย แต่ละถุงแต่ละถ้วยก็ไม่เหมือนกัน เราอยู่กับมันมาเหมือนจิตวิญญาณแล้ว เพราะทุกขั้นตอนเราทำมาก่อน”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ