ข่าว

"สื่อออนไลน์"จุดประกายธุรกิจ “พิมรา สีดอกบวบ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บายไลน์ - สุรัตน์ อัตตะ

              จากผ้าคลุมผมฮิญาบและเครื่องสำอางบำรุงผิวหน้า ผิวกายหลังใช้ช่องทางการตลาดทางสื่อออนไลน์จับกลุ่มลูกค้ามุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับของกลุ่มลูกค้าทุกเพศทุกวัยของสาวน้อยวัยใสเชื้อสายมุสลิม ที่กลายเป็นเถ้าแก่รุ่นใหม่ด้วยวัยแค่ 25 เศษสำหรับ “พิมรา สีดอกบวบ” อดีตผู้ประกาศข่าวช่องมุสลิม แชนแนล ที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอย่างเต็มตัว ภายใต้สัญลักษณ์ทางการค้า “PIMMARA" และการันตีด้วยเครื่องหมายฮาลาล

              แต่การก้าวมาถึงจุดนี้ของเธอไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลากว่า 4 ปีในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยในการนำความรู้วิชาการใช้สื่อออนไลน์มาประยุกต์ใช้กับสินค้าผ้าคลุมศีรษะฮิญาบ ส่วนประกอบเครื่องแต่งกายที่ขาดไม่ได้ของสตรีมุสลิม ซึ่งได้ออกแบบและประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อเป็นโครงงานส่งอาจารย์ ก่อนต่อยอดมาเป็นสินค้าที่ทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในระหว่างการศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อกว่า 6 ปีที่แล้ว

              “หนูได้แรงบันดาลใจจากคุณย่านัน (นันทนา นียะพันธ์) ซึ่งเคยทำงานด้านสื่อสารมวลชนมาก่อน หลังจบ ม.6 ที่สวนกุหลาบนนทบุรี ก็มาต่อด้านเจอาร์ที่คณะนิเทศฯ ม.หอการค้า  ช่วงนั้นเป็นยุคแรกๆ ที่อาจารย์เอาโซเชียลมีเดียมาสอนนักศึกษา เพราะเป็นสื่อที่กำลังมาแรง จะเปลี่ยนจากสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็นสื่อออนไลน์ ก็สนใจตรงนี้” พิมรา ย้อนอดีตให้ฟัง

              ก้าวแรกเดินเข้าสู่มหาวิทยาลัยในฐานะน้องใหม่ปี 1 เธอจึงเข้าสังกัดชมรมมุสลิมเพื่อทำความรู้จักมักคุ้นกลุ่มเพื่อนมุสลิมด้วยกัน ส่วนการเรียนส่วนใหญ่เป็นวิชาพื้นฐานเพื่อปรับพื้นความรู้เตรียมเข้าสู่สาขาวิชาที่แต่ละคนเลือก โดยเธอสนใจด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ มีวิชาที่สนใจมากเป็นพิเศษคือ การใช้สื่อออนไลน์ในการหาตลาด อาจารย์ประจำวิชา ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้นำเรื่องนี้มาสอนในมหาวิทยาลัยคนแรกๆ พร้อมบังคับให้นักศึกษาที่เรียนทุกคนเปิดเฟซบุ๊ก พร้อมทดลองหาสินค้ามาทดลองจำหน่าย ถือเป็นโครงงานส่งอาจารย์หลังจบภาคการศึกษา ซึ่งถือเป็นจุดประกายไอเดียของผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง

             “พอเรียนวิชาสื่อออนไลน์เรียนมาร์เก็ตติ้งเกี่ยวกับเฟซบุ๊ก เราก็เริ่มทดลองทำผ้าคลุมศีรษะฮิญาบขาย เลิกเรียนตอนเย็นก็ไปเดินหาผ้าที่สำเพ็งไปเลือกผ้าแล้วเอามาจ้างช่างตัดเย็บ เสร็จแล้วก็ถ่ายรูปลงในสื่อออนไลน์ เฟซบุ๊กบ้าง อินสตาแกรมบ้าง เว็บไซต์บ้าง เพื่อนในเฟซฯ เรามุสลิมเยอะ ก็ทดลองใช้ช่องทางนี้ทำตลาด ปรากฏว่าขายดีมาก ได้กำไรเดือนเป็นหมื่น”

             จากนั้นมหาวิทยาลัยได้ให้เธอเป็นพรีเซ็นเตอร์ตัวอย่างของนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจระหว่างเรียน พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ จนเป็นที่รู้จักในหมู่นักศึกษาและลูกค้ามุสลิมที่สนใจผลิตภัณฑ์ผ้าคลุมศีรษะฮิญาบบายจัสมิน ซึ่งแปลว่า มะลิ  จากนั้นก็เริ่มขยายธุรกิจมาสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล โดยมีเป้าหมายตลาดนีดมาร์เก็ต หวังเจาะกลุ่มฐานลูกค้ามุสลิมโดยเฉพาะ ทั้งที่เป็นกลุ่มลูกค้าเดิม(ใช้บริการสั่งซื้อผ้าคลุมฮิญาบ) และกลุ่มลูกค้าใหม่ที่สนใจรักสวยรักงาม โดยใช้กลยุทธ์การขายทางสื่อออนไลน์เหมือนเดิม

              “พอขึ้นปี 3 เทอม 2 เขาเอาผ้าคลุมไปติดไว้ที่หน้ามหาวิทยาลัย คนที่รู้จักเราอยู่แล้วก็แผ่ขยายวงกว้างขึ้น ภาพลักษณ์เราคือนักศึกษาทำธุรกิจขณะเรียน คนก็ฮือฮาน่าสนใจ ทำเพจกดไลค์ คนเข้ามากดไลค์เป็นหมื่นเฉพาะผ้าคลุมศีรษะอย่างเดียว แล้วก็มาคิดว่าเราน่าจะต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ได้ ก็เลยมาลงที่เครื่องสำอาง โดยมองเรื่องฮาลาลเป็นจุดขายแล้วอยากมีแบรนด์เป็นของตัวเอง มานั่งคิดว่าใช้ชื่ออะไรดีเป็นแบบไทยๆ ก็ใช้ชื่อตัวเองพิมรา  ตอนนั้นเรียนกราฟฟิกดีไซน์ด้วย อาจารย์สอนเรื่ิองการสร้างแบรนด์ การทำโลโก้ ก็เลยเอาความรู้จากตรงนี้มาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ของเรา”

               เจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางพิมราเปิดเผยต่อว่า จากนั้นได้ไปติดต่อโรงงานผลิตเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี เพื่อให้ผลิตสินค้าโดยใช้ชื่อตราสัญลักษณ์ “พิมรา” พร้อมกับดำเนินการขอตราเครื่องหมายการค้าฮาลาลด้วย ปรากฏว่าผ่าน ทำให้สินค้าของเราได้รับการตอบรับจากลูกค้าจำนวนมาก เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีเครื่องสำอางที่มีตราฮาลาลในท้องตลาดทั่วไป ผลิตภัณฑ์ของเราถือเป็นรายแรกๆ ทำให้ขณะนี้มีสินค้าอยู่สองตัวที่จำหน่ายทางสื่อออนไลน์คือ ผ้าคลุมศีรษะฮิญาบและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงผิวหน้า ผิวกาย

               “ตอนนั้นเรียนอยู่ปี 4 ยังไม่มีแผนมาร์เก็ตติ้งอะไรเลย แต่พอเราเอามาทำปุ๊บกลายเป็นแบรนด์มุสลิมคนก็สนใจ จดจำเราว่าเป็นผู้หญิงมุสลิมที่มีผ้าคลุมด้วยแล้วก็มาขายผลิตภัณฑ์ด้วย ทำควบคู่กันสองอย่างเลย เริ่มจากชุดหน้าใสธรรมดา สนนราคา 250 บาท จุดขายเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกสกัดมาจากพืช มีเครื่องหมายฮาลาลด้วย ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นจำนวนมากสั่งผลิตแทบไม่ทัน จากนั้นก็ไปเปิดบูธในงานบางกอกฮาลาลอาเซียนปี 57 ที่สนามรัชมังคลาฯ หัวหมาก ทุกคนเปิดบูธขายเสื้อผ้าอาหาร เราขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นพรีเซ็นเตอร์เองด้วย จำได้ว่าตอนนั้นงานมี 3 วัน ขายได้ประมาณ 8 หมื่น ออกงานครั้งแรกด้วยก็เลยเป็นแรงบันดาลใจว่าเราก็ทำได้นี่”

               หลังประสบความสำเร็จในการผลิตและจำหน่ายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ในระหว่างเรียน แต่ก็มีความใฝ่ฝันอยากจะมีหน้าร้านเป็นของตัวเองด้วย หลังจากสำเร็จการศึกษาในปี 2555 มาสมัครเป็นผู้ประกาศข่าวช่องมุสลิม แชนแนล เพื่อนำความรู้ด้านนิเทศศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนมาอย่างเต็มที่ แม้เส้นทางผู้ประกาศจะไปได้ดี แต่จำเป็นต้องเลือกระหว่างธุรกิจของตัวเองกับอาชีพผู้ประกาศข่าวที่เป็นได้แค่ลูกจ้าง จนในที่สุดก็ตัดสินใจอำลาเส้นทางผู้ประกาศข่าวหลังใช้เวลาทำหน้าที่อยู่ประมาณ 4 เดือนเศษ เพื่อเข้ามาดูแลธุรกิจอย่างเต็มตัว พร้อมกับเช่าที่เปิดร้านย่านรามคำแหง (ซ.85) แยกลำสาลี แต่ประสบภาวะขาดทุน จึงย้ายไปเปิดสาขาที่ จ.ปัตตานี แทน  เนื่องจากเป็นแหล่งลูกค้าหลักที่ใช้บริการสินค้าทางสื่อออนไลน์ 

                “มีอยู่วันหนึ่งทาง ม.อ.หาดใหญ่ เชิญเราไปเป็นวิทยากรพูดถึงวิธีการสร้างแบรนด์ ขั้นตอนการขอฮาลาลทำอย่างไร ไปพูดสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประกอบการ นักศึกษาและผู้สนใจโดยทั่วไป ทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็มีคนมาติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็โอเค แต่พอทำไปสักระยะเริ่มมีปัญหาก็เลยมาคิดว่า เราน่าจะเปิดร้านเองดีกว่า จึงตัดสินใจลงไปหาทำเลที่ปัตตานี เพราะที่นั่นมีลูกค้าของเรามากที่สุด  ขับรถตระเวนหาที่เช่าร้าน บังเอิญโชคดีมาได้ทำเลใจกลางเมืองพอดี (ตรงสี่แยกศรีเมือง) จากนั้นก็ขนย้ายของจากร้านเดิมมาติดตั้งพร้อมตกแต่งหน้าร้านใหม่ทั้งหมด ใช้ชื่อว่า ”PIMMARA" เพิ่งเปิดดำเนินการมาได้ไม่ถึงปีเลย” พิมรา กล่าวทิ้งท้ายอย่างภูมิใจ

                “พิมรา สีดอกบวบ” นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของคนรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อออนไลน์เป็นกลยุทธ์การตลาดในการสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าที่ต้องการลูกค้าเฉพาะกลุ่ม จนประสบความสำเร็จในวันนี้  

 เส้นทางชีวิต“พิมรา”

                พิมรา สีดอกบวบ หรือพิม เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 3 คนของภีมะ กัปตันการบินไทย และรัชนี สีดอกบวบ จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนดาราทร ประชาชื่น และมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบนนทบุรี ก่อนมาศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เนื่องจากมีความสนใจในอาชีพสื่อสารมวลชนมาตั้งแต่เด็ก ระหว่างเรียนก็ผลิตสินค้าจำหน่ายทางสื่อออนไลน์ เริ่มต้นจากทำโครงงานส่งอาจารย์แล้วมาต่อยอดเป็นธุรกิจสร้างรายได้ในระหว่างเรียน เป็นตัวอย่างของนักศึกษามุสลิมที่ประสบความสำเร็จในการนำองค์ความรู้มาประยุกต์กับอาชีพจนสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจของตัวเอง ปัจจุบันเธอเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงผิวหน้าผิวกายที่ได้รับการรับรองจากฮาลาลมากกว่า 20 ชนิด ภายใต้ตราสัญลักษณ์ทางการค้า “PIMMARA” ซึ่งมีตัวแทนสาขาจำหน่ายอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

           

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ