ข่าว

ส่องสตาร์ทอัพ'โยษิตา เฉิน'คว้าโอกาสเหมาะปั้นแบรนด์มาม๊า นาตา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่องสตาร์ทอัพ'โยษิตา เฉิน'คว้าโอกาสเหมาะปั้นแบรนด์'มาม๊า นาตา' : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดย อนัญชนา สาระคู

            “จังหวะ” และ “โอกาส” สำหรับคนคนหนึ่งที่จะมาพร้อมกันได้คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องคว้าไว้และลงมือทำ

            นั่นเป็นแนวคิดของ “โอ๋” หรือ “โยษิตา เฉิน” เจ้าของธุรกิจหมอนและเบาะนั่งเพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ mama nata (มาม๊า นาตา) ที่เจ้าตัวมีเป้าหมายชัดเจนถึงแผนการเข้าไปสานต่อธุรกิจของครอบครัว บวกกับความคิดสร้างสรรค์และโอกาสดีๆ ที่เข้ามา จึงไม่ละเลยที่จะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง แม้จะยังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 6 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

            ไม่เท่านั้น “โอ๋” ยังแบ่งเวลาในการทำกิจกรรมด้านสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการศึกษารายกระบวนวิชา ที่คณะรัฐศาสตร์ กลุ่มวิชาการบริหารรัฐกิจ  มหาวิทยาลัยรามคำแหง อีกด้วย และก้าวเข้าสู่สายธุรกิจอย่างจริงจัง จนกลายเป็น “คนรุ่นใหม่” ที่น่าจับตามองอยู่ในขณะนี้

ส่องสตาร์ทอัพ'โยษิตา เฉิน'คว้าโอกาสเหมาะปั้นแบรนด์มาม๊า นาตา

            เจ้าตัวเล่าว่า ธุรกิจหมอนและเบาะนั่งเพื่อสุขภาพแบรนด์ mama nata เริ่มต้นอย่างจริงๆ จังๆ เมื่อเดือนกันยายน 2558 จากนั้นเดือนตุลาคม ได้เข้าร่วมโครงการปั้นธุรกิจ ในงานสุดยอด เอสเอ็มอี ของดีทั่วไทย ณ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม โดยเอสเอ็มอีแบงก์ และบริษัท เดลต้า จำกัด (มหาชน) ที่ได้ให้การสนับสนุนเด็กไทยหัวใจสร้างสรรค์ สู่การเป็นนักรบเศรษฐกิจหน้าใหม่ เปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาที่มีไอเดียสร้างสรรค์และต้องการเริ่มต้นธุรกิจนำเสนอโครงการ ล่าสุดปีนี้ ยังร่วมโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (สตาร์ทอัพ) ปี 2559 ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในการพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการ โดยเข้าร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

            “ในช่วงที่ได้เข้าร่วมโครงการปั้นธุรกิจฯ โอ๋จะได้รับคำแนะนำในเรื่องการเขียนแผนธุรกิจ การออกตลาด คือทำให้เราสังเคราะห์องค์ความรู้และทำธุรกิจได้ไวขึ้น และเมื่อมาร่วมกับ สสว.ในโครงการสตาร์ทอัพ จะเป็นการเรียนรู้ในเรื่องวางแผนการตลาด การโฆษณา และช่องทางการขาย รวมทั้งนำไปสู่ช่องทางการจดทะเบียนมาตรฐานต่างๆ ที่ตอนนี้กำลังดูว่าเราเข้ามาตรฐานใด ก็จะจดทะเบียนในเรื่องนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการขยายตลาดออกไปต่างประเทศด้วย”

            เจ้าตัวเล่าว่า ได้ซึมซับการทำธุรกิจของครอบครัวมาโดยตลอด ซึ่งเป็นผู้ส่งออกโฟมลาเท็กซ์ธรรมชาติ จากน้ำยางพารา 100% เพื่อทำเป็น “ท็อปเปอร์” หรือแผ่นที่นอน ไปยังไต้หวัน และสิงคโปร์ จนได้แนวคิดการผลิตหมอนยัดไส้เศษยางพาราที่เหลือจากการตัดแผ่น ท็อปเปอร์ ก่อนการส่งออก โดยเริ่มทดลองนำมา ฉีกๆ ดึงๆ พบว่ามีความยืดหยุ่นดี และนำมาทำเป็นหมอนทดลองใช้เองก่อน จากนั้นก็ทำไปฝากเพื่อนๆ และญาติใช้ จนต่อยอดมาเป็นธุรกิจ

            โดยเศษที่เหลือจากการตัดแผ่นท็อปเปอร์นั้น เรานำไปเข้าเครื่องปั่นเรียก ภาษาง่ายๆ ได้ว่ายางพาราปั่น คือ เกรนลาเท็กซ์โฟม ซึ่งจะเป็นโฟมยางพาราธรรมชาติ 100% บรรจุใส่หมอนเป็นรูปทรงต่างๆ โดยพบว่าหมอนยางราคาปั่นนั้นมีคุณสมบัติพิเศษคือ สามารถจัดรูปทรงของหมอนได้ตามสรีระของผู้ใช้ เข้ากับแรงกดทับได้อย่างดี สามารถรับน้ำหนักได้ดี และช่วยลดแรงกดทับ เข้ากับทุกส่วนเว้าโค้งของคอ และศีรษะได้ โดยออกแบบหมอนและปลอกหมอนให้สามารถถอดซักได้ โดยได้นำผ้าไทยชนิดต่างๆ มาผลิตเป็นปลอกหมอนให้ผู้ซื้อได้เลือกหลากหลายตามความชอบ ไม่ว่าจะเป็นผ้าข้าวม้า ผ้าฝ้ายทอเชียงใหม่ ผ้าทอราชบุรี หรือผ้าคอตตอนออแกนิกที่ผลิตในประเทศไทย เป็นต้น

            ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายแล้วมากกว่า 10 รายการ ไม่ว่าจะเป็นเบาะหนุนรองคอขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ มีทั้งแบบที่เป็นรูปทรงปกติ หรือพกพาสำหรับเดินทาง ยังมีหมอนรูปพระจันทร์เสี้ยว สำหรับหนุนนอนก็ได้ ไว้กอดก็ดี, เบาะรองนั่งสำหรับทำสมาธิ, หมอนโดนัท ทั้งรูปทรงกลมและสี่เหลี่ยม รวมทั้งเบาะที่เป็นชุดสำหรับแม่และเด็ก และหมอนอเนกประสงค์ (สมาร์ท พิลโล) เป็นหมอนไว้สำหรับรองแขนเมื่อเวลานั่งอ่านหนังสือ หรือใช้สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต

            “นอกจากนี้เรายังจะพัฒนาสินค้าอื่นๆ ต่อเนื่องทั้งที่ได้แนวคิดมาจากความต้องการของลูกค้าเอง หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ของเราเองด้วย เช่น จากการที่ได้ออกบูธ พูดคุยกับลูกค้า ได้ความเห็นจากลูกค้าในกลุ่มที่ชอบขี่จักรยาน ว่าเวลาขี่จักรยานมักจะเจ็บก้น ตอนนี้เราก็กำลังจะมีผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มนี้ออกมา ส่วนที่เราออกแบบเองก็จะมีในส่วนผลิตภัณฑ์ของแม่และเด็ก เช่นเบาะรองนอนสำหรับทารกซึ่งจะมีหมอนกั้นไว้ทั้ง 2 ข้างเพื่อป้องกันทารกเวลานอน เป็นต้น”

            อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ โอ๋ บอกว่าไม่อยากที่จะเสี่ยง จึงไม่ได้เน้นการลงทุนก่อตั้งโรงงานผลิตที่มีขนาดใหญ่ รูปแบบธุรกิจจะเป็นเหมือนอุตสาหกรรมในครัวเรือนมากกว่า และเน้นการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน อย่างในขั้นตอนการผลิตปลอกหมอนจะส่งไปยังชุมชนกลุ่มแม่บ้านในผลิตสินค้าตามที่เราต้องการ โดยชุมชนหลักๆ ที่เราจ้างเย็บปลอกหมอนอยู่ในย่านสะพานสูง จะมีเพียงพนักงานส่วนหนึ่งที่มีหน้าที่ควบคุมคุณภาพสินค้าเท่านั้น

            ส่วนด้านการตลาด ก็เริ่มต่อยอดจากลูกค้าของบริษัทส่งออกท็อปเปอร์ที่ไต้หวันก่อน ซึ่งก็พบว่าลูกค้ามีออเดอร์เข้ามาเพิ่มขึ้น และขณะนี้กำลังคุยกับ พีซี โฮม ซึ่งเป็นอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของไต้หวัน ที่จะนำสินค้าไปจำหน่ายเพิ่มเติมด้วย ส่วนในประเทศนั้น โอ๋ ได้ผู้ใหญ่ใจดีที่ให้การสนับสนุน อย่างมีการจัดงานที่ไหนก็จะพาเราไปร่วมออกบูธมากขึ้น ทำให้ได้มีโอกาสเจอลูกค้าและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ยอดขายก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปลายเดือนมิถุนายนนี้ ยังจะเข้าร่วมงานเอสเอ็มอี เอ็กซ์โป ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ด้วย

            นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขยายตลาดในประเทศ เน้นการใช้ดีแล้วบอกต่อ แต่ก็อยากขยายวงให้แบรนด์ที่เป็นรู้จักและได้รับการยอมรับมากขึ้น จึงเน้นไปที่การสร้างการรับรู้ของแบรนด์ มาม๊า นาตา ผ่านช่องทางออนไลน์ และโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทางเฟซบุ๊ก : mama mata brand, E-mail : [email protected], Line ID : mamanatabrand และ IG : mamanatabrand และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเว็บไซต์ ที่จะใช้ชื่อ www.mamanatabrand.com

            “อยากให้แบรนด์ มาม๊า นาตาเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมากขึ้น เพราะเห็นว่าเราได้ทำของดีออกมาในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้แล้ว ก็อยากให้ทุกคนได้ใช้สินค้าของเรา เพราะเป็นประโยชน์กับสุขภาพจริงๆ เพราะทุกวันนี้เวลาเรานั่งทำงานนานๆ หรือขับรถเป็นเวลานาน แต่ด้วยนั่งไม่ถูกท่าทาง บวกกับความเครียด จึงเป็นสาเหตุของออฟฟิศซินโดรม เกร็งบริเวณกล้ามเนื้อ เกิดปัญหาสุขภาพตามมา การป้องกันที่ต้นเหตุจึงสำคัญ เพราะถ้านั่งให้สบายด้วยท่าทางที่ถูกต้องก็จะสบาย หรือแม้แต่การนอน หมอนของมาม๊า นาตา สามารถยืดหยุ่นและปรับให้เข้ากับสรีระของผู้ใช้ได้ ซึ่งการนอน หากนอนอย่างมีคุณภาพแล้วก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพด้วย ชีวิตการเรียนและการทำงานก็จะดีตามไปด้วย”

            นอกจากคุณสมบัติความนุ่ม ยืดหยุ่น และสามารถคืนตัวได้เร็ว ของเกรนลาเทกซ์โฟมแล้ว ยังมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะยางพาราสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ดังนั้น เวลาดูแลรักษาจะต้องหลีกเลี่ยงจากการรับแสงแดดโดยตรง หากตัวหมอนที่เป็น Inner เปื้อนก็ให้ชุบน้ำเช็ดและผึ่งลมให้แห้งทำเท่านั้น ส่วนตัว Cover หรือปลอกหมอนสามารถทอดซักได้

            อย่างไรก็ตาม แม้ว่า “โอ๋” จะก้าวเข้ามาสู่สายธุรกิจอย่างเต็มตัวแล้วแต่ก็ยังมองว่านี่เป็นเพียงขั้นของการเป็นนักธุรกิจ โดยเป้าหมายในปัจจุบันคือการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับ ให้คนได้รู้จักและทดลองสินค้าของ มาม๊า นาตาแบรนด์ และเมื่อใช้แล้วชอบจึงบอกต่อ ส่วนการจะต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ นั้นเจ้าตัวบอกว่าขอให้เป็นเรื่องของอนาคต แต่ที่แน่ๆ คือการเข้าไปสานต่อธุรกิจของครอบครัว ซึ่งหวังที่จะต่อยอดและพัฒนาให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

            โอ๋ บอกอีกว่า สำหรับตอนนี้ แม้จะต้องทำหลายๆ อย่างพร้อมกันทั้งเรื่องเรียน และงาน แต่คิดว่าถ้าเราชอบและสนุกเราก็มีความสุขกับสิ่งที่ทำ ซึ่งคำว่าเหนื่อยไม่มีผลให้ท้อถอย และจากที่ทำตรงนี้ก็ยังพบว่าคนรอบข้างต่างก็ให้การสนับสนุน และให้กำลังใจ

            “โชคดีด้วยที่ว่าโอ๋รู้จักตัวเอง มีความฝันหลายๆ อย่างที่อยากทำก็จะค่อยๆ ทำตามที่เราฝัน ซึ่งก็อยากแนะนำเพื่อนๆ ว่าถ้าหากเรารู้ อยากทำอะไรก็ควรทำเลย ส่วนคนที่ยังหาฝันของตัวเองไม่เจอก็ค่อยๆ หาไปเรื่อยๆ และสิ่งเล็กๆ ที่เราชอบก็อาจจะกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ หรือประกอบอาชีพในอนาคตก็ได้ เพราะไม่ใช่ทุกครั้งที่โอกาสจะมาหาเรา แต่บางครั้งเราก็ต้องเข้าหาโอกาสนั้นด้วย และเมื่อจังหวะและโอกาสเข้ามาถึงแล้ว ถ้าเราไม่ทำมัน ก็คงจะไม่ประสบความสำเร็จได้” โอ๋ กล่าวและยังทิ้งท้ายด้วยว่า

            สำหรับโอ๋แล้ว ปัจจัยแห่งความสำเร็จก็คือคนรอบข้าง ทั้งมาม้า ปาป๊า คุณครู เพื่อนๆ และผู้ใหญ่ใจดีที่ให้โอกาสเรา และคิดว่าเมื่อเราได้รับโอกาสนั้นแล้วก็ควรทำให้เต็มที่ และทำให้ดีที่สุด

             จากแรงบันดาลใจสู่แบรนด์

            แรงบันดาลใจของ “น้องโอ๋” หรือ “โยษิตา เฉิน” ผู้ก่อตั้งกิจการหมอนอเนกประสงค์แบรนด์ มาม๊า นาตา ไม่ใช่คนอื่นไกล ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าคือ “คุณแม่” เป็นที่มาของชื่อแบรนด์ด้วยที่คำว่า “มาม๊า” มาจากคำเรียกคุณแม่ และ “นาตา” ก็คือชื่อเล่นของคุณแม่นั่นเอง

            แต่หากจะอ่านออกเสียงตามคำภาษาอังกฤษจะอ่านว่า มามา นาตา ก็ไม่ว่ากัน

            อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพูดคุยกันนั้น คุณแม่นาตา ได้กล่าวเสริมว่าเป็นคนเลี้ยงลูกในแบบค่อนข้างเข้มงวด หัดให้รู้จักดูแลและรับผิดชอบตนเอง โดยมองว่าน้องโอ๋ เป็นคนมุ่งมั่น มีหลายความฝันที่อยากจะทำ และก็จะค่อยๆ ทำตามความฝันในแต่ละอย่างจนสำเร็จ

            ขณะที่ “โอ๋” เล่าถึงตนเองว่าตั้งแต่เข้าเรียนมัธยม 1 เป็นเด็กวัดแววความสามารถพิเศษในสายวิทย์ ซึ่งมาในแนวทางของสายวิชาการมาก่อน จากนั้นได้เข้าร่วมโครงการทูตเยาวชน ถือเป็นจุดเปลี่ยนเลยก็ว่าได้ ที่ได้เริ่มทำกิจกรรมด้านพัฒนาสังคมนอกเหนือจากการเรียน เพราะมองว่านอกจากการเรียนปกติแล้ว ยังมีความรู้ที่อยู่นอกตำราอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นความรู้จากประสบการณ์จริง การทำกิจกรรม หรือเรียนรู้จากผู้รู้ พอมา ม.ปลาย จึงมาเรียนในสายคณิต-อังกฤษ-นิเทศ พร้อมๆ กับเรียนระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ปัจจุบันเก็บหน่วยกิตได้ถึง 85 หน่วยกิตแล้ว โดยคาดว่าหลังจากจบชั้น ม.ปลาย อีกไม่นานนักก็รับปริญญาตรีในเวลาใกล้เคียงกัน

            จากนั้น เจ้าตัวมีความตั้งใจศึกษาต่อระดับปริญญาโททันที โดยจะไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ด้านนวัตกรรม

            “สำหรับธุรกิจมาม๊า นาตา คิดว่าหากวางระบบไว้ชัดเจนแล้ว หากโอ๋ไปเรียนต่อก็ยังมีคุณแม่ที่ช่วยดูแล ส่วนตัวโอ๋เองก็ยังสามารถนำสินค้าไปขยายตลาดในยุโรปได้ด้วย” เจ้าตัวกล่าว

            โดยแนวคิดในการการทำธุรกิจของผู้ก่อตั้งธุรกิจ มาม๊า นาตา บอกด้วยว่าไม่ใช่การมองหากำไรเพียงอย่างเดียว แต่ก็จะมีเรื่องของสังคมควบคู่กันไปด้วย เพราะส่วนตัวแล้วเป็นเยาวชนที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาก่อน เป็นนักกิจกรรม คือนอกจากจะดูแลตัวเองแล้วเราก็ต้องเผื่อแผ่ไปยังสังคมรอบข้างด้วย เพราะมองว่าความดีเพียงนิดหน่อยที่เราได้ทำ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อเด็กและเยาวชน ก็มองว่าเป็นประโยชน์ทั้งนั้น

 
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ