ข่าว

เปิดโรงเรียนชาวนาสอนฟรีปีละ2รุ่นยิ่งหวงยิ่งหายยิ่งให้ยิ่งได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดโรงเรียนชาวนาสอนฟรี ปีละ2รุ่น'ยิ่งหวง ยิ่งหาย ยิ่งให้ ยิ่งได้' : คมคิดจิตอาสา

           ปัญหาใหญ่ของเกษตรกร มักหนีไม่พ้นเรื่องการใช้ยาฆ่าแมลง หรือสารเคมี รวมทั้งเรื่องหนี้สิน ที่ทำให้เกษตรกรหลายคน ถึงกับหมดหวังในชีวิต แต่สำหรับ ป้าพรรณ หรือ พรรณพิมล ปันคำ ประธานศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน (สิงห์อาสา) ต.ศรีเมืองชุม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน กำจัดปัญหาทั้งปวง รวมทั้งยังนำประสบการณ์จากชีวิตจริง มาถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรที่แสวงหาแนวทางการเกษตรยั่งยืน โดยไม่หวงความรู้ที่มี เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถลืมตาอ้าปาก หมดหนี้สิน ด้วยมือของตนเอง

           นางพรรณพิมล ปันคำ หรือ ป้าพรรณ เติบโตมาจากครอบครัวเกษตรกรใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อมาพบรักและแต่งงานกับ ลุงผ่าน หรือ นายผ่าน ปันคำ ที่เติบโตมาในครอบครัวเกษตรกรเหมือนกัน การเป็น “เกษตรกรมืออาชีพ” จึงไม่ใช่เรื่องยากเกินฝัน แต่ก่อนที่จะมาถึงวันนี้ ทั้งสองผ่านอุปสรรคมามากมาย ทำนาจนมีหนี้สินหลายล้าน บวกกับเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่เดียวกันก็มีหนี้สินคล้ายๆ กัน จนหลายคนท้อแท้อยากจะหันหลังให้แก่การทำนา แต่ด้วยความที่มีความมานะมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์อาชีพ “ชาวนา” อาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษไว้ ป้าพรรณจึงหารือกันกับเพื่อนเกษตรกรด้วยกันว่า “เราจะมาช่วยกันปลดหนี้” จึงได้มีการรวมกลุ่มเป็น “ชมรมเกษตรกรปลดหนี้” ใน ต.ศรีเมืองชุม อ.แม่สาย จ.เชียงราย

           ป้าพรรณ เล่าว่า เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ชาวบ้านยังไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับสารเคมี หรือการทำเกษตรแบบมีระบบระเบียบ การทำนาจึงเป็นการทำจากภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง แต่เมื่อปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง เข้ามามีบทบาทในเกษตกรรม พืชถูกตัดแต่งพันธุกรรม ชาวบ้านเริ่มประสบปัญหาต้นทุนสูง แต่ผลผลิตต่ำ สุขภาพย่ำแย่ ภูมิปัญญาที่เคยใช้มาตั้งแต่บรรพบุรุษก็เริ่มหายไป
 
           “ประมาณ 10 ปีที่แล้ว ได้มีการระดมความคิดของคนในชุมชนว่า ที่ผ่านมาเราทำเกษตรถูกต้องไหม พวกเรามีปัญหาอะไรบ้าง มาวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน พบว่า ปัญหาอันดับหนึ่งของเกษตรกรคือ มีหนี้สินจากการทำนา ทำไร่ เราคุยกันว่า ทำอย่างไรจึงจะหลุดพ้นจากปัญหาหนี้สิน ได้ข้อสรุปว่า เราต้องตั้งกลุ่มเกษตรยั่งยืน เพื่อศึกษา เรียนรู้ภูมิปัญญาแก้ไขปัญหาทางภาคเกษตร และแก้ปัญหาหนี้สิน นำองค์ความรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้านที่เคยละทิ้ง มาทดลอง มาพัฒนา นำกลับใช้ใหม่ ยกระดับภูมิปัญญาของไทยให้ทันสมัย จนกระทั่งปี 2550 กลุ่มของพวกเราได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืน ของ จ.เชียงราย จนถึงทุกวันนี้ เรามีแนวความคิดในการปรับแนวความคิดในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ฟื้นฟูองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการทำเกษตร เรามีทิศทางในการจัดระเบียบเรื่องหนี้สิน และเป็นที่น่าภาคภูมิใจว่า มีเกษตรกรในกลุ่มกว่า 80% หลุดพ้นจากการเป็นหนี้ และอีก 20% เข้าสู่ระบบ ทำให้เกษตรกรผ่อนคลายจากปัญหาหนี้สิน และหันมาตั้งหน้าตั้งตาทำนา ทำไร่ โดยไม่พึ่งสารเคมี แต่นำภูมิปัญญาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตายาย กลับมาพัฒนาใช้ใหม่ ซึ่งได้ผลเกินความคาดหมาย” พรรณพิมล เล่าด้วยความภูมิใจ

           จากนั้น เราก็มีอุดมการณ์ต่อว่า เราจะเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกร โดยเริ่มเปิด “โรงเรียนชาวนา” สอนฟรี ปีละ2 รุ่น รุ่นละไม่เกิน 100 คน ใช้ระยะเวลาเรียน 5 เดือน เรียกว่า หลักสูตรโรงเรียนชาวนา ประกอบด้วย การสำรวจแปลงนา การผลิตปุ๋ยนมวัว การผลิตฮอร์โมนไข่ การทำถ่านพลังแกลบ การทำน้ำมันไบโอดีเซล เน้นการเรียนรู้เรื่องข้าวเป็นหลัก รองลงมา คือความรู้เกี่ยวกับพืชชนิดอื่น เช่น มันสำปะหลัง พริก เป็นต้น โดยรุ่นแรกเพิ่งเรียนจบเมื่อเดือนธันวาคม 2558 เป็นเกษตรกรจาก อ.เมือง อ.แม่สาย อ.แม่ลาว อ.แม่สวย อ.พาน อ.เวียงชัย ส่วนรุ่นที่ 2 เปิดรับในเดือนมกราคม 2559 จากอำเภอทางด้านทิศตะวันออกของเชียงราย เช่น อ.เชียงแสน อ.ดอยหลวง อ.เพิง อ.เชียงขอม อ.พญาเม็งราย อ.เวียงแก่น นอกจากนี้ ก็จะเดินทางไปช่วยลูกศิษย์ที่เคยมาเรียนรู้กับศูนย์ภูมิปัญญา จ.เชียงราย เพื่อขยายเครือข่ายโรงเรียนชาวบ้านในหลายๆ จังหวัด เช่น อ่างทอง กำแพงเพชร เป็นต้น แต่ถ้าเป็นหลักสูตรโรงเรียนชาวนา ที่ศึกษาเชิงวิจัย หรือหลักสูตรนักวิจัยอาสา ใช้ระยะเวลาเรียน 1 ปี

           “กว่าจะเป็นศูนย์ภูมิปัญญาศรีเมืองชุม (สิงห์อาสา) เราผ่านการลองผิดลองถูกมานาน ต้นไม้ทุกต้นเป็นครู ป้ากับลุงผ่าน ต้องทดลอง ต้องศึกษาพัฒนาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ สิ่งที่เราทำ คือทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก จนกระทั่งปลายปี 2557 สิงห์อาสา โดย คุณปิติ ภิรมย์ภักดี ได้มองเห็นความพยายามของเรา จึงได้เข้ามาให้การสนับสนุน เพราะมีอุดมการณ์สำคัญเดียวกันคือ การช่วยเหลือพี่น้องในชุมชน ช่วยเหลือเกษตรกรใน จ.เชียงราย และขยายเครือข่ายไปทั่วประเทศ ต้องการติดอาวุธทางปัญญาให้พี่น้องเกษตรกร ปรับแนวความคิดมาทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน โดยนำองค์กรความรู้ที่มีอยู่ เช่น การทำปุ๋ยธรรมชาติ ทำการฮอร์โมนเป็นอาหารพืช ซึ่งเชื่อมกับนโยบายของสิงห์ในการให้ปัญญาแก่เกษตรกร ให้ชุมชนเข้มแข็ง เน้นองค์ความรู้ที่ทำได้จริง ยกตัวอย่าง สิงห์ ปาร์ค ที่นำชาวบ้านไปทำงานปลูกชา เก็บชา ดูแลต้นไม้ในสวน ดูแลกิจกรรมต่างๆ เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ค่าเข้าชม สิงห์ ปาร์ค ก็ถูกนำไปมอบเป็นทุนอาหารกลางวันให้นักเรียนใน จ.เชียงราย และช่วยส่งเสริมเกษตรกรใน จ.เชียงราย ชาวบ้านก็มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราจึงให้เกียรติด้วยการเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้านศรีเมืองชุม สิงห์อาสา จ.เชียงราย นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่จะขยายศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ให้ทั่ว จ.เชียงราย โดยใช้ศูนย์ภูมิปัญญาฯ ของเราเป็นต้นแบบ” ป้าพรรณ กล่าว

           พรรณพิมล เล่าด้วยว่า ในต้นปี 2559 จะเปิดศูนย์การเรียนรู้ เครือข่าย จำนวน 2 แห่ง ที่ อ.ม่วงคำ กับ อ.เจริญเมือง โดยนำผู้นำเกษตรกรของทั้ง 2 ชุมชน เรียนกว่า “วิทยากรครูกอ” มาเรียนรู้องค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้วกลับไปถ่ายทอดให้คนในท้องถิ่นนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งจะถ่ายทอดกระบวนการของการเป็นวิทยากร เพื่อขยายฐานการเรียนรู้ต่อๆ ไป เรียกว่า โคลนนิ่งป้าพรรณ กับลุงผ่าน เพื่อไปถ่ายทอดให้เกษตรกรในชุมชนนั้นๆ ได้รู้จักวิถีชีวิตของเกษตรกรทฤษฎีใหม่แบบยั่งยืนว่า เขาทำกันอย่างไร ผลตอบรับที่ได้ จะดีมากน้อยแต่ไหน ให้องค์ความรู้เหล่านี้กระจายลงสู่ชุมชนทั่ว จ.เชียงราย และในอนาคตจะขยายโครงการนี้ไปให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีโรงงานของบริษัทบุญรอดตั้งอยู่ คือ ขอนแก่น สิงห์บุรี และสุราษฎร์ธานี

           ลุงผ่าน หรือ ผ่าน ปันคำ เสริมว่า ความดี ทำง่าย แต่จะให้คนมองเห็น มันยาก เพราะความหลากหลายของแต่ละคน มุมมองของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ความดีที่เราทำ เป็นกิจวัตรประจำวันที่เราทำทุกวัน เป็นวิถีชีวิตของเรา ไม่ต้องให้ใครมาบอก เราอยู่รู้แก่ใจ การที่เราจะให้ชาวนาคนอื่นคล้อยตาม เราต้องทำให้เขาเห็นเป็นเชิงประจักษ์ด้วย อย่างในศูนย์ภูมิปัญญาฯ ของเรา เราต้องลงมือทำก่อน เสียสละก่อน แม้แต่ในพื้นที่ที่เราที่ไม่ใช่แปลงสาธิต เราก็ต้องลองผิดลองถูกเพื่อนำมาถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรคนอื่นได้เห็นจริง

           “คุณไม่ต้องไปนับหนึ่งแล้ว เราทดลองมาแล้ว เพียงคุณทำตามที่เราทำไว้ คุณก็จะได้ผลเหมือนที่เราทำ นี่คือความท้าทายและความอดทนของเรา อยากให้ลูกหลานสืบต่ออุดมการณ์เหล่านี้ ไม่อยากให้หายไปพร้อมกับเรา ถือเป็นทางรอดของเกษตรกรไทย เป็นเกษตรกรรมที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน วันนี้พยายามช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด อนาคตไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่การที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้ ต้องมีความอดทน อยากเปลี่ยนให้เขาได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ เราอยากเห็นคนไทยพึ่งตัวเองได้ สังคมดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องช่วยกัน” ลุงผ่าน กล่าว

           ศูนย์ภูมิปัญญาศรีเมืองชุม (สิงห์อาสา) จ.เชียงราย ขนาด 14 ไร่ เป็นพื้นที่ไร่นาสวนผสม มีการบริหารจัดการพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ อย่างเหมาะสม ทั้งไร่นา บ่อปลา สวนครัว สวนสมุนไพร ฯลฯ เพื่อเป็นต้นแบบในการทำเกษตรกรรมแบบพึ่งพาตนเองอย่างครบวงจร และไม่ได้มีแค่คนไทยที่เข้าไปเรียนรู้เท่านั้น แต่เปิดรับชาวต่างชาติที่สนใจอยากศึกษาด้านเกษตรกรรม เข้ามาเรียนรู้ด้วย ดังนั้น จึงมี ชาวพม่า ชาวลาว ชาวจีน เข้ามาขอศึกษาดูงานเป็นประจำ เพื่อแบ่งปันตามหลักหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ ถ้าใครยังไม่เก่ง รู้ไม่ชัด รู้ไม่จริง อย่าไปบอกใครว่าเป็นศิษย์พรรณพิมลนะ เราไม่รับ เพราะลูกศิษย์ของพรรณพิมล “ทุกคำถามต้องมีคำตอบ ทุกปัญหาต้องมีทางแก้” พึ่งตนเองเป็นหลัก ต้องมีความคิดใหม่ที่ต้องช่วยตนเองก่อน อย่ารอให้ใครมาช่วย การที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย เราต้องช่วยตนเองก่อน

            ปิติ ภิรมย์ภักดี ผู้ริเริ่มโครงการเกษตรยั่งยืนเพื่อคนเชียงราย กล่าวว่า สิงห์อาสา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย และเห็นความตั้งใจจริงของ ป้าพรรณ และลุงผ่าน ที่ริเริ่มศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้านศรีเมืองชุม จึงได้เข้าไปให้การสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ และการรวมกลุ่มเครือข่ายเกษตรกร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรไทยสามารถลดต้นทุน บริการปัจจัยเสี่ยง ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง จนนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว และพร้อมที่จะรับมมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

           “สิงห์อาสา เข้าไปสนับสนุนศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้านศรีเมืองชุม เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน อยากช่วยลดต้นทุนการผลิต แก้ไขปัญหาผลผลิตตกต่ำ และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษจากการใช้สารเคมี และอยากเห็นคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรดีขึ้นอย่างยั่งยืนด้วย” ปิติ กล่าว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ