ข่าว

38ปีสู้38ปีสู้กับพืชตระกูลส้มตายยืนต้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

38ปีสู้กับพืชตระกูลส้มตายยืนต้น 'แอมพิซิลลิน'มัจจุราชพิชิต'กรีนนิ่ง' : คมคิดจิตอาสา โดยดลมนัส กาเจ

              หายนะและการล่มสลายของชาวสวน “ส้มบางมด” ส้มเขียวหวานอันลือชื่อของไทยในอดีต ที่มีเกษตรกรปลูกกว่า 6 หมื่นไร่ใน ต.บางมด อ.ราษฎร์บูรณะ และบางส่วนของ อ.บางขุนเทียน จ.ธนบุรี (ปัจจุบันเป็นแขวงบางมด เขตทุ่งครุ และเขตจอมทอง กรุงเทพฯ) ที่เริ่มเกิดขึ้นในปี 2511 และปิดฉากตำนาน “ส้มบางมด” ด้วยอาการตายยืนต้นในปี 2526 จุดประกายให้นักวิชาการสาวไฟแรง “รศ.ดร.อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์” แห่งภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อ 38 ปีก่อน ต้องกระโดดลงไปในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางเอาชนะโรคที่กำลังระบาด หลังจากทราบจากงานวิจัยในปี 2517 ว่า ต้นส้มที่ยืนต้นตายนั้นคือเป็นโรคกรีนนิ่ง (Greening) หรือโรคฮวงลองบิง (Huanglongbing) จนเวลาผ่านไปกว่า 30 ปี ได้พบว่า “แอมพิซิลลิน” ยาปฏิชีวนะที่รักษาโรคอักเสบในคน คือมัจจุราชผู้พิชิต “โรคกรีนนิ่ง” ได้โดยสิ้นเชิง

              รศ.ดร.อำไพวรรณ เล่าว่า ตอนที่เรียนปริญญาโทด้านโรคพืช เป็นช่วงที่โรคกรีนนิ่งกำลังระบาดอย่างหนักในสวนส้มเขียวหวานที่บางมดหรือที่เรียกว่า “ส้มบางมด” ซึ่งระบาดมาตั้งแต่หลังน้ำท่วมปี 2510 ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งย้ายพื้นที่เพาะปลูกไปยังทุ่งรังสิต ในพื้นที่ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี รวมถึงบางส่วนของ อ.บ้านนา จ.นครนายก จึงทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับโรคในส้ม และแนวทางเอาชนะโรคกรีนนิ่ง มีลักษณะใบเหลือง เส้นใบเขียวใบเล็กลง ชี้ตั้ง คล้ายขาดธาตุสังกะสีหรือโรคใบแก้ว กิ่งส้มแห้งตายจากปลายยอด ให้ผลผลิตลดลง ผลส้มมีขนาดเล็กลงและคุณภาพต่ำ ผลร่วงก่อนอายุการเก็บเกี่ยว ต้นส้มโทรมกับทรุดและตายยืนต้น แต่ชาวบ้านไม่เข้าใจเท่าไรนัก

              ในระหว่างนั้นเองได้ขอทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ภายใต้โครงการรักษาโรคกรีนนิ่ง มีระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี ตั้งแต่ปี 2520-2527 โดยไปทดลองในสวนส้มที่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ทั้งในรูปแบบของการรักษาสารเคมีหลายชนิด ฉีดพ่น และการปล่อยแตนเบียน ทำลายเพลี้ยกระโดดส้ม หรือเพลี้ยไก่แจ้ เพราะโรคนี้แพร่ระบาดโดยเชื้อแบคทีเรียไปกับกิ่งพันธุ์และถ่ายทอด โดยมีเพลี้ยไก่แจ้เป็นพาหะ แม้โครงการสิ้นสุดลงแต่ก็ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคกรีนนิ่งมาตลอด กระทั่งในปี 2538 โรคกรีนนิ่งระบาดในสวนส้มกว่า 1 แสนไร่ที่ทุ่งรังสิตและหนักมากในปี 2543 จึงมองว่าต้องหาทางกำจัดให้ได้ มิฉะนั้นจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อการผลิตพืชตระกูลส้มในประเทศไทย

              กระทั่งทราบว่าในต่างประเทศ อย่างจีน มีการใช้ยาจำพวกปฏิชีวนะที่รักษาโรคอักเสบในคน มาฉีดในต้นส้มได้ผลระดับหนึ่ง จึงได้ศึกษาและไปแนะนำเกษตรกรชาวสวนส้มที่ทุ่งรังสิต ให้ทดลองใช้ในปี 2541 แต่เกษตรกรไม่ยอมรับ กระทั่งในปี 2548 โรคกรีนนิ่งระบาดหนักในสวนส้มเขียวหวานสายพันธุ์สายน้ำผึ้งที่เกษตรกรปลูกว่า 1 แสนใร่ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จึงขอเงินสนับสนุนการวิจัยจาก วช. อีกครั้ง เพื่อดำเนินโครงการรักษาโรคกรีนนิ่ง ด้วยยาปฏิชีวนะ หลังจากได้รับการอนุมัติงบประมาณแล้วตัดสินใจเดินทางไปลุยงานเอง โดยมีเกษตรกรชาวสวนส้มสายน้ำผึ้งที่ อ.ฝาง และ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ยินดีให้ทดลองในพื้นที่กว่า 100 ไร่ในปี 2549 ผลการดำเนินงานเริ่มดีขึ้นตามลำดับ และได้ฝึกอบรมเกษตรกรชาวสวนส้มให้สามารถไปต่อยอดและขยายผลเองกว่า 400 ราย โดยไม่มีค่าตัว เพียงเกษตรกรรายใหญ่เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่านั้น

              “แรกๆ เราทดลองยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด คือ เตตราไซคลิน, เพนนิซิลลิน และแอมพิซิลลิน ซึ่งในต่างประเทศนั้นจะใช้ สเตรปโตมัยซิน, อะม็อกซีซิลลิน ไม่มีการนำยาแอมพิซิลลิน มาใช้ จากการทดลองผ่านไป 18 เดือน พบว่า แอมพิซิลลินที่ใช้รักษาคนเกี่ยวกับอาการอักเสบที่เป็นแคปซูล ทั้งขนาด 250 มิลลิกรัม และ 500 มิลลิกรัม ได้ผลมากที่สุด ถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้ยาแอมพิซิลลินรักษาโรคกรีนนิ่งได้สำเร็จ ตอนนี้กล้าการันตีว่า ถ้าต้นส้มที่โรคกรีนนิ่งระบาดในระยะแรกไม่เกิน 50% ได้ผล 100% และจากการนำผลผลิตส้มเขียวหวานที่ใช้ยาปฏิชีวนะแอมพิซิลลินฉีดในต้นส้มเพื่อรักษาโรคกรีนนิ่ง เพื่อหาสารตกค้างที่อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ไม่พบว่ามีสารตกค้างในผลส้มแต่อย่างใด หรือเกษตรกรจะใช้เตตราไซคลินก็ได้” รศ.ดร.อำไพวรรณ ระบุ

              หลังจากดำเนินการไป 7 ปีตามโครงการนี้ รศ.ดร.อำไพวรรณ ยืนยันว่า ในปี 2556-2557 พบว่าการใช้ยาปฏิชีวนะแอมพิซิลลิน สามารถฟื้นสวนส้มสายผึ้งใน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ได้กว่า 6 หมื่นไร่ ปัจจุบัน แม้โครงการรักษาโรคกรีนนิ่งที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช.ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ รศ.ดร.อำไพวรรณ ได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งเดินทางไปช่วยเหลือ แนะนำ และอบรมเกษตรกรที่ประสบปัญหาโรคกรีนนิ่งระบาดทั้งในสวนส้มเขียวหวานและส้มโอ ในพื้นที่ จ.นครปฐม และล่าสุดกำลังช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะนาวที่ อ.บ้านแพ้ว จ.ราชบุรี ที่โรคกรีนนิ่งกำลังระบาดอยู่

              “บางคนสงสัยว่า เราจะใช้ยาปฏิชีวนะที่รักษาคนมารักษาต้นไม้ได้อย่างไร ซึ่งความเป็นจริงต้นไม้ก็เป็นสิ่งมีชีวิต โรคกรีนนิ่งที่ระบาดในพืชตระกูลส้มนั้นมาจากเชื้อแบคทีเรีย คนที่เกิดอาการอักเสบส่วนหนึ่งก็มาจากติดเชื้อแบคทีเรียเหมือนกัน ฉะนั้นเรามาสามารถใช้ยาปฏิชีวนะที่รักษาคนมากำจัดเชื้อแบคทีเรียได้ อย่างบ้านเราก็พบว่าแอมพิซิลลินดีที่สุดนำมาฉีดในต้นส้มที่โรคกรีนนิ่งระบาด ด้วยการฉีดปีละ 3-4 ครั้งใช้ครั้งละ 5-15 เข็ม ในอัตราเข็มละ 1 แคปซูล ใช้เวลารักษาจนกว่าต้นส้มจะฟื้น ลงทุนไปต้นละราว 40-130 บาท ถือว่าคุ้มค่ะ นี่ถ้าเราค้นพบมาตั้งแต่แรกวันนี้ส้มบางมด ส้มทุ่งรังสิต ก็ยังเหลืออยู่” รศ.ดร.อำไพวรรณ กล่าวอย่างมั่นใจ

              นับเป็นนักวิจัยและนักวิชาการที่เสียสละคนหนึ่ง เพื่อเกษตรกร ที่ค้นคว้าวิจัยจนพบว่ายาปฏิชีวนะ “แอมพิซิลลิน” สามารถพิชิตโรคกรีนนิ่งในพืชตระกูลส้ม อันเป็นมหันตภัยร้ายแรงที่คร่าต้นส้มของเกษตรกรนับแสนๆ ไร่ในอดีต และวันนี้ “แอมพิซิลลิน” เป็นคำตอบสุดท้ายที่จะฟื้นพืชตระกูลส้มให้พ้นจากโรคกรีนนิ่งในประเทศไทยได้

ขั้นตอนและต้นทุนในการฉีด

              การใช้ยาปฏิชีวนะแอมพิซิลีน ในการกำจัดโรคกรีนนิ่งในพืชตระกูลส้มนั้น จะใช้ขนาด 250 มิลลิกรัม หรือ 500 มิลลิกรัม แต่แนะนำให้ใช้ขนาด 250 มิลลิกรัม ปริมาณที่ใช้ขึ้นกับต้นส้ม อายุ จำนวนและขนาดของกิ่งและเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้น โดยจะเริ่มฉีดตรงที่สูงจากผิวหน้าดิน 20 ซม.

              ถ้าต้นอายุ 2 ปี ใช้ปริมาณ 500-1,000 มิลลิกรัม/ต้น/ครั้ง หากต้นอายุ 5 ปี ใช้ขนาด 1,500-2,000 มิลลิกรัม/ต้น/ครั้ง และต้นอายุ 9 ปีขึ้นไป ใช้ประมาณ 2,500-10,000 มิลลิกรัม/ต้น/ครั้ง

              อุปกรณ์ที่ใช้ กระบอก(เข็ม)ฉีดยา (ไซลิงค์ = syringe) - ขนาดความจุ 60 มิลลิลิตร , สว่านไฟฟ้า,ดอกสว่าน ขนาด 2 หุนครึ่ง (6.8 มม),ตะปูหรือลวด เพื่อใช้เป็นสลักล็อคกระบอกฉีด,ยาปฏิชีวนะ

              การผสมยา 50 แคปซูลต่อน้ำ สะอาด1 ลิตร คนให้ละลาย ใช้หลอดดูดยา 20 ซีซี จะได้ทั้งหมด 50 หลอด นำกระบอกฉีดยาดึงสูบยาที่ละลายแล้ว ล็อคกระบอกฉีดยาด้วยตะปู ลวด หรือ ยางรัด (แล้วแต่กรณี) จากนั้น เจาะรูที่โคนหรือกิ่งต้นส้มด้วยสว่าน ทำมุมเอียง 45 องศากับต้นส้ม ลึกราว1.5-1.7 ซม. ต้องล้างดอกสว่านด้วยแอลกอฮอล์ทุกครั้งเมื่อเสร็จการเจาะแต่ละต้น การเจาะประมาณ 5-20 รู ขึ้นกับขนาดของลำต้นส้ม

              จากนั้นฉีดยาเข้าต้นส้ม โดยเสียบปลายกระบอกเข้ารูที่เจาะไว้ให้แน่นพอดี ปล่อยให้ยาไหลซึมเข้าต้น ใช้เวลาประมาณ 20 - 30 นาที เมื่อดึงกระบอกฉีดออกแล้ว ผสมปูนขาวหรือสารป้องกันกำจัดเชื้อราละลายน้ำแบบข้นอุดรูเจาะป้องกันกำจัดเชื้อราละลายน้ำแบบข้น จากนั้นตัดแต่งกิ่ง จนเวลาผ่านไป 3-4 เดือนทำอีกครั้ง

              สำหรับค่าใช้จ่าย ค่ากระบอกฉีดยาอันละ 13.00 บาท ใช้ฉีดได้ 300-350 ครั้ง คิดเฉลี่ย 300 ครั้ง คิดเป็นค่าใช้กระบอกฉีดยาครั้งละ 0.04 บาท ค่ายาสารปฏิชีวนะแคปซูลละ 1.30 บาท ,ค่าแรงงานในการเจาะต้นและฉีดยาวันละ 300 บาท เฉลี่ยค่าแรงต่อการฉีดยา 1 ครั้ง คือ 0.66 บาท รวมแล้วค่าใช้จ่ายในการฉีดยา 1 ไซลิงค์ ประมาณ 2.00 บาท หากเฉลี่ยที่ฉีด 5-8 กระบอก ต่อต้น 4 ครั้งต่อปี เกษตรกรต้องลงทุนเฉลี่ยประมาณต้นละ 40-64 บาท/ กรณีใช้10-15 กระบอก สำหรับต้นส้มขนาดใหญ่ ลงทุนเฉลี่ยประมาณต้นละ 80-130 บาท/ปี



 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ