ข่าว

จากงานวิจัยบวกหยาดเหงื่อของชาวนาสู่'น้ำไซเดอร์ไรซ์เบอร์รี่'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากงานวิจัยบวกหยาดเหงื่อของชาวนาสู่'น้ำไซเดอร์ไรซ์เบอร์รี่' : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดยฉันทนา รัตนอำนวจศิริ

             กระแสการใช้ชีวิตแบบพอเพียง รักษ์โลก รักสุขภาพ ยังคงเป็นที่สนใจของคนทั้งโลก แม้แต่วัยรุ่นที่ถูกหล่อหลอมมาให้สำนึกในบุญคุณของ “ข้าว” และ “ชาวนา” ก็ยังถวิลหาชีวิตแบบเกษตรกรที่กินอยู่อย่างพอเพียง และปลอดภัย

             ด้วยแนวคิดนี้ ทำให้ "หลิง” บรรชร คัดนัมพรเลิศ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ลณิชา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นักธุรกิจรุ่นใหม่วัยเพียง 25 ปี ที่หันหลังให้กิจการ “อุปกรณ์เสริมโทรศัพท์มือถือ” ของครอบครัว มาให้ความสนใจชีวิตแบบเกษตรกร เพื่อสานฝันในวัยเยาว์ที่ได้รับการปลูกฝังให้รู้บุญคุณข้าว ให้ความสำคัญกับชาวนาที่ปลูกข้าวเป็นอาหาร และเข้าใจการใช้ชีวิตแบบธรรมชาติ

             บรรชร จบการศึกษาไฮสคูลจากประเทศสิงคโปร์ และกลับมาเรียนต่อปริญญาตรี ที่คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาจีน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เธอฝันอยากพูดและเข้าใจได้หลายๆ ภาษา เพื่อติดต่อสื่อสารด้านธุรกิจในอนาคต

             “ที่ไม่สนใจจะสานต่อธุรกิจของครอบครัว เพราะเห็นว่า กิจการอุปกรณ์เสริมโทรศัพท์มือถือ ที่เป็นสินค้าสิ้นเปลือง โดยส่วนตัวอยากทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการเกษตร หรือการอนุรักษ์โลก ตั้งแต่เด็กจนโต หลิงมองว่า ผู้ที่มีบุญคุณกับคนเรามากที่สุดคือ ชาวนา กว่าจะได้ข้าวมาแต่ละเมล็ด ชาวนาเหนื่อยยากขนาดไหน ไม่ได้ทำนาง่ายๆ เหมือนปัจจุบัน แต่ทำไมคนที่มีบุญคุณกับเราถึงยังตกระกำลำบาก นอกจากหลิงแล้ว พี่ชายของหลิงก็มีแนวคิดในทางเดียวกัน คือ อยากทำธุรกิจที่เพิ่มพูน หรือต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร”

             หลังจากนั้น บรรชร ร่วมทุนกับพี่ชายทำไอศกรีมมะพร้าว ลองผิดลองถูกอยู่ 3 เดือน สุดท้ายก็ยอมแพ้ เพราะไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำอาหาร หรือการบริหารธุรกิจเลย พอเริ่มค้นหาตัวเองพบว่า ถ้าจะทำอะไรให้จริงจัง ต้องเรียนรู้และหาประสบการณ์เพิ่มก่อน เธอจึงไปเรียนต่อปริญญาโท สาขา MBA Luxury brand management ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจากการเรียนต่างบ้านต่างภาษา การใช้ชีวิตในต่างประเทศ มีเพื่อนต่างเชื้อชาติ ความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป ทำให้เธอเติบโตขึ้น ทั้งความคิดและการมองโลกกว้างขึ้น ได้รับข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ คำปรึกษาจากเพื่อนๆ และอาจารย์ จึงคิดว่า เธอพร้อมแล้วที่จะกลับมาเริ่มธุรกิจในฝัน

             “ตอนแรกไม่มีใครเชื่อว่า หลิงจะทำได้ เพราะเคยล้มเหลวมาก่อน อายุก็น้อย ประสบการณ์ก็ไม่มี ต้องกลับมาทำงานในบริษัทของพี่ชายที่เปิดธุรกิจนำเข้าสินค้าจากจีน ขณะเดียวกันหลิงก็ใช้ที่ดินเปล่าปลูกพืชขาย เพราะเชื่อว่า ปลูกต้นไม้จะช่วยโลก พอทำได้สักพักก็รู้สึกว่า นี่ไม่ใช่ตัวเรา จึงหยุด แล้วไปเข้าอบรมคอร์สมินิ เอ็มบีเอ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาคอนเนกชั่น และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ซึ่งคิดไม่ผิดจริงๆ เพราะเป็นประสบการณ์อีกแบบที่ต่างจากที่เคยเรียนมา ที่สำคัญหลิงได้พบกับ “มิกกี้” อรณิชา เกลียวปิยะ หุ้นส่วนคนสำคัญของ บริษัท ลณิชา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่บ้านของมิกกี้ทำธุรกิจโรงสีข้าว แต่มิกกี้ก็เหมือนหลิง ที่มีความคิดแบบคนรุ่นใหม่ อยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในมุมที่หลากหลาย”

             บรรชร และ อรณิชา หันมาให้ความสนใจกับนวัตกรรมใหม่ที่ไม่ลืมรากเหง้าของคนไทย โดยเฉพาะ “ข้าวไรซ์เบอร์รี่” เพราะโรงสีของมิกกี้้ที่ จ.สุพรรณบุรี มีชาวนานำข้าวมาฝากขายจำนวนมากในแต่ละปี ประกอบกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาวนาไทยหันมาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่มากขึ้น บางรายขายได้ราคา บางรายก็ขายไม่ได้ราคา ปริมาณข้าวที่ผลิตออกมามีมากกว่าความต้องการของตลาด ทำให้มีข้าวไรซ์เบอร์รี่ค้างอยู่ในโรงสีเป็นจำนวนมาก เราจึงปิ๊งไอเดียนำข้าวไรซ์เบอร์รี่มาแปรรูป ที่ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน โดยเริ่มต้นค้นหาแนวทางที่จะทำให้เป้าหมายเป็นจริง

             เริ่มจากเข้าไปศึกษาในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนได้รู้ว่า สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ให้ทุนสนับสนุน สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวไรซ์เบอร์รี่ จึงเดินเข้าไปติดต่อกับอาจารย์ที่ดูแลงานวิจัยนี้ เพื่อขอคำแนะนำ และจะนำข้าวไรซ์เบอร์รี่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ จากการศึกษาทางการตลาดทำให้รู้ว่า ค่านิยมการดูแลสุขภาพยังมาแรง โดยเฉพาะน้ำไซเดอร์ที่มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ ช่วยย่อยอาหาร คลายเครียด และมีสรรพคุณมากมาย ทั้งสองคนจึงตัดสินใจซื้องานวิจัยน้ำไซเดอร์จาก สวก. มาต่อยอดเป็นธุรกิจ โดยจ้างให้ สวก.เป็นผู้ดำเนินการผลิตน้ำไซเดอร์ด้วยข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็น น้ำไซเดอร์ไรซ์เบอร์รี่

             บรรชร บอกว่า กว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จเหมือนทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง ช่วง 2 เดือนแรกของการวางตลาด ขาดทุนย่อยยับ อาจจะเป็นเพราะว่ายังไม่มีตลาดรองรับ แต่ทั้งสองก็พยายามปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดให้เข้ายุคสมัย นำผลผลิตไปวางขายในงานแฟร์ต่างๆ แทบทุกงาน ขายในเว็บไซต์ที่ทำขึ้น ทำทุกวิถีทาง ผลตอบรับเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ มีคนรู้จัก “น้ำไซเดอร์ไรซ์เบอร์รี่” มากขึ้น ติดหู ติดตาคนไทยมากขึ้น

             จากที่มีวางขายแค่ 3-4 ร้านในกรุงเทพฯ ก็ค่อยๆ ทยอยเพิ่มวางจำหน่ายมากขึ้น จนปัจจุบันมีน้ำไซเดอร์ไรซ์เบอร์รี่วางขายแล้วกว่า 30 ร้านทั่วประเทศ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทั้งสองหยุดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนกระทั่งพร้อมที่จะขยายฐานการตลาดไปลุยตลาดประเทศจีนแล้ว

             “เมื่อ 2 เดือนก่อน เราสร้างโรงงานผลิตน้ำไซเดอร์ไรซ์เบอร์รี่ และคิดค้นเพิ่มอีก 2 สูตร คือ ไซเดอร์ไรซ์เบอร์รี่ผสมทับทิม และไซเดอร์ไรซ์เบอร์รี่ผสมน้ำมะนาว เพื่อเตรียมนำไปจำหน่ายที่ประเทศจีน ไม่น่าจะเกินต้นปีหน้า เพราะหลังจากเคยนำน้ำไซเดอร์ส่งออกไปขายยังเกาหลีแล้วประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เราจึงคาดว่ากลุ่มลูกค้าคนจีนคงจะให้การตอบรับน้ำไซเดอร์เพื่อสุขภาพของเราเป็นอย่างดีเช่นกัน"

             สำหรับผู้ที่อยากก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจใหม่ๆ จากผลงานวิจัย บรรชร ให้ข้อคิดว่า อาหารสุขภาพเป็นโจทย์ที่น่าค้นคว้าทดลอง เพราะกระแสการดูแลสุขภาพยังมาแรง โดยเฉพาะอาหารปลอดสารพิษกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก สำหรับคนที่มีต้นทุน แต่ยังไร้ประสบการณ์และทิศทางในการแปรรูปวัตถุดิบ สามารถไปปรึกษาจาก สวก.ได้ ที่นั่นมีนักวิจัยไทยเก่งๆ มากขึ้น ทำงานศึกษาวิจัยออกมามากมาย แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจนำไปต่อยอด

             บรรชร ปิดท้ายว่า น้ำไซเดอร์ไรซ์เบอร์รี่ของเธอจะนำไปจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 16-20 สิงหาคม 2558 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ หากสนใจอยากไปลิ้มลอง หรือไปหาความรู้ว่า ดื่มน้ำไซเดอร์ไรซ์เบอร์รี่แล้วได้ประโยชน์อะไรกับร่างกายบ้าง หรือต้องการขอคำแนะนำในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ สามารถไปพบเธอได้ในงาน เธอทั้งสองคนพร้อมต้อนรับและยินดีให้คำแนะนำ

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ