Lifestyle

สิ้นหลวงปู่พรหมพระเกจิดังอีสานรวมอายุ101ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สิ้นพระเกจิดังอีสาน เจ้าคุณพระมงคลพรหมสาร (หลวงปู่พรหม)“อมตะมหาเถระแห่งลุ่มลำน้ำพอง” อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น หลังจากชราภาพป่วยเป็นไข้หวัด ลูกศิษย์นำตัวส่งรักษาที่ รพ.ศรีนครินทร์ ม.ขอนแก่น จนมรณภาพ รวมอายุได้ 101 ปี

 เวลา 12.00 น. วันที่ 29 มี.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากพระมหาจริทธิ์ วชิรเมธี รองเจ้าอาวาสวัดเขื่อนอุบลรัตน์ ว่า หลวงปู่เจ้าคุณพระมงคลพรหมสาร (พรหมสรมหาเถร) หรือ หลวงปู่พรหม อายุ 101 ปี 8 เดือน 13 วัน ชาวพุทธศาสนิกชนให้ฉายาว่า “อมตะมหาเถระแห่งลุ่มน้ำพอง” เจ้าอาวาสวัดเขื่อนอุบลรัตน์ หรือวัดถ้ำผาเจาะ บ้านท่าเรือ ต.เขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ได้ถึงแก่มรณภาพแล้วด้วยการชราภาพป่วยเป็นไข้หวัด ที่ รพ.ศรีนครินทร์ ม.ขอนแก่น

โดย พระมหาจริทธิ์ รองเจ้าอาวาสวัดเขื่อนอุบลรัตน์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2552 หลวงปู่พรหมได้มีอาการไข้หวัด คณะศิษยานุศิษย์ได้นำเข้ารักษาที่ รพ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อาการของหลวงปู่พรหมไม่ค่อยดี วันที่ 15 ธ.ค. 52 จึงได้นำส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลขอนแก่น และ โรงพยาบาลขอนแก่นราม อาการของหลวงปู่พรหมจึงดีขึ้นรู้สึกตัวดี

 ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.52 คณะแพทย์และพยาบาลซึ่งเป็นลูกศิษย์รู้ข่าวว่าหลวงปู่อาพาธ จึงได้ย้ายหลวงปู่มาพักรักษาตัวที่ รพ.ศรีนครินทร์ ม.ขอนแก่น อาการยังทรงตัว และปอดมีการติดเชื้อ จนถึงวันที่ 28 มี.ค. 2554 เวลา 11.39 น. หลวงปู่พรหมจึงได้ละสังขารด้วยโรคภาวะติดเชื้อในปอดรุนแรง รวมสิริอายุได้ 101 ปี 8 เดือน 13 วัน พรรษา 81 ขณะนี้ศพอยู่ที่นิติเวช รพ.ศรีนครินทร์ ม.ขอนแก่น

กระทั่งเมื่อเวลา 20.00 น. คืนวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ ศาลาพิธีกรรม บริเวณหน้าห้องเก็บศพ ได้มี ศ.ภิเษก ลิมพิกานนท์ คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ มข. รอง ศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ ม.ขอนแก่น พ.อ.กุศล สิงห์สาย ผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 6 ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น พร้อมด้วย พระมหาจริทธิ์ วชิรเมธี อายุ 41 ปี รองเจ้าอาวาสวัดเขื่อนอุบลรัตน์ และพุทธศาสนิกชน ลูกศิษย์ที่ศรัทธาหลวงปู่พรหม มาร่วมเคารพศพอย่างเนืองแน่น และจัดพิธีสวดพระอภิธรรมศพ และเก็บสรีระสังขารหลวงปู้พรหม ไว้ที่ รพซศรีนครินทร์ 1 คืน

ต่อมาเมื่อวันที่ 29  มี.ค. เวลาประมาณ 12.30 น. พระมหาจริทธิ์ พร้อมด้วยพระสงฆ์และศิษยานุศิษย์รถพร้อมขบวนรถยนต์ได้มารับสรีระสังขารของหลวงปู่พรหม จากศาลาพิธีกรรม เพื่อเคลื่อนสรีระสังขารหลวงปู่พรหม กลับไปที่วัดเขื่อนอุบลรัตน์ โดยจะตั้งศพไว้ที่พลับพลามหาสาร 100 ปี ชาติตระการ เพื่อเปิดให้คณะสงฆ์ - พุทธศาสนิกชนถวายน้ำหลวงสรงสรีระสังขารหลวงปู่พรหม และในเวลา 16.00 น. พล.ท.วีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ อดีตแม่ทัพภาค 2 เป็นประธานประกอบพิธีพระราชทานน้ำหลวงสรงศพหลวงปู่พรหม จากนั้นศิษยานุศิษย์ร่วมกันเคลื่อนสรีระสังขารหลวงปู่พรหมเข้าสู่มหาวิหารพรหมฤทธิ์ วัดเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อตั้งพิธีบำเพ็ญกุศลสรีระสังขารหลวงปู่พรหม เป็นเวลา 7 วัน ถึงวันที่ 3 เม.ย. 2554 ซึ่งจะประกอบพิธีบรรจุเก็บสรีระสังขารไว้ก่อน เพื่อรอความพร้อมขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป

ส่วน ประวัติ หลวงปู่เจ้าคุณพระมงคลพรหมสาร หลวงปู่พรหม (คำตา พรหมสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดเขื่อนอุบลรัตน์ กำเนิดเมื่อวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม 2452 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ปีจอ ในครอบครัวชาวไร่ชาวนา ซึ่งเป็นชาวบ้านแจนแลน ต.น้ำอ้อม อ.ฟ้าหยาด จ.อุบลราชธานี ปัจจุบันเป็นอำเภอ มหาชนะชัย จ.ยโสธร


บิดาของหลวงปู่พรหม มีนามว่า นายลา ชาปู่ มารดานางอ้วน มาอยู่กินเป็นสามีภรรยาตามประเพณี ณ บ้านจาน จนได้ให้กำเนิดพี่ชายและพี่สาว 2 คน คือ นายนวล ชาปู่ (ถึงแก่กรรมแล้ว) นางทองอวน ชาตะบุตร (ถีงแก่กรรมแล้ว) ต่อมาครอบครัวได้ย้ายมาตั้งรกรากที่ ต.บัวใหญ่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น หลวงปู่พรหม ในสมัยเมื่อยังเยาว์วัย มีชื่อว่า นายคำตา ชาปู่ ใช้ชีวิตอย่างเด็กชาวบ้านทั่วไป

และได้เข้าศึกษาเล่าเรียนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากนั้นก็ออกมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพทำไร่-ทำนา ตามวิถีชีวิตชาวนา เข้าสู่วัยหนุ่มไปเป็นพ่อค้า (นายฮ้อย) ต้อนวัวควายไปขายทาง จ.สระบุรี และนำข้าวเปลือกบรรทุกเรือกระแซงล่องแม่น้ำชีไปขาย จ.มหาสารคามและ จ.ร้อยเอ็ด ในวัยหนุ่มนายคำตาชอบศึกษาร่ำเรียนวิชาเกี่ยวกับเวทย์มนต์คาถา โดยเฉพาะเรียนจากปู่หล้า ถึงแม้จะเป็นฆราวาสก็มีความสามารถในทางปราบผีปอบ ทำน้ำพุทธมนต์ กันบ้านกันเมืองจากเสนียดจัญไรเภทภัยต่างๆ แต่งแก้สะเดาะเคราะห์ เป็นต้น

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2473 นายคำตา มีอายุได้ 21 ปี ได้เข้าสู่พิธีอุปสมบท ณ พัทสีมาวัดพิชัยพัฒนาราม บ้านวังชัย ต.วังชัย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ต่อมาไปจำพรรษาที่วัดโพธิ์ชัย บ้านคำม่วง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น สอบได้นักธรรมชั้นโท และนักธรรมชั้นเอก ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะ ต.บัวใหญ่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

 จากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูพรหมสารภิรมย์” เมื่อปี 2505 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นตรีที่ “พระครูพรหมสารภิรมย์” 2543 เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นโท 2549 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสมหามงคลสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในราชทินนามที่ “พระมหามงคลพรหมสาร”

จากนั้นได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบูรพาภิรมยาราม บ้านบัวใหญ่ ต.บัวใหญ่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น กระทั่งเมื่อปี 2521 ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเขื่อนอุบลรัตน์ (ถ้ำผาเจาะ) บ้านท่าเรือ อ.เขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ได้พัฒนาวัดเจริญรุดหน้ามาถึงปัจจุบัน สร้างอาคารโรงเรียนปริยัติธรรม ศาลาการเปรียญ ศาลาอเนกประสงค์ สร้างสีมากลางน้ำ สร้างเมรุ และ ศาลาบำเพ็ญกุศล สร้างที่กุฏิที่พักสงฆ์ ซุ้มประตู กำแพงวัด และถนนภายในวัด ภายในหมู่บ้าน สร้างห้องสมุดเพื่อเป็นอนุสรณ์ 90 ปี เป็นผู้นำในการก่อสร้างศาลหลักเมืองอำเภออุบลรัตน์ และอื่นภายในวัดเขื่อนอุบลรัตน์ และในตัวเมือง อ.อุบลรัตน์ นอกจากนี้หลวงปู่พรหมยังมีความสนใจเกี่ยวกับวิชาอาคม มีศิษยานุศิษย์ให้ความนับถือเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเรื่องการลงยันต์และคาถาอาคมต่างๆ โดยเฉพาะวัตถุมงคล

พระมหาจริทธิ์วชิรเมธี รองเจ้าอาวาสวัดเขื่อนอุบลรัตน์ เปิดเผยว่า เรื่องเกี่ยวกับวัตถุมงคล หลวงปู่ไม่เคยอนุญาตให้ใครสร้างวัตถุมงคล ที่เกี่ยวเนื่องกับตัวท่านแม้เพียงรุ่นเดียว แต่พอล่วงถึงปี 2536 ซึ่งเป็นปีที่หลวงปู่พรหมมีสิริอายุครบ 7 รอบ 84 พรรษา คณะศิษยานุศิษย์ได้เข้าไปกราบขออนุญาต เพื่อจัดทำบุญฉลองอายุครบ 7 รอบ 84 พรรษา พร้อมกับขออนุญาตดำเนินการจัดสร้างวัตถุมงคลในโอกาสเดียวกัน เพราะศิษย์ทุกคนต่างต้องการวัตถุอันเป็นมงคลที่เป็นตัวแทนของหลวงปู่ เพื่อนำติดตัวไปเป็นเครื่องสักการะ และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต พร้อมกับตั้งฉายาหลวงปู่พรหม ว่า “อมตะมหาเถระแห่งลุ่มลำน้ำพอง” โดยมีวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ จำนวน 12 รุ่น เช่น รูปเหมือนหลวงปู่พรหมสารภิรมย์ เหรียญรูปไข่ครึ่งองค์รุ่นแรกหลวงปู่พรหมสารภิรมย์ สมเด็จพรหมฤทธิ์ รุ่นแรก เนื้อเงินสลึงห้าสิบสตางค์ สมเด็จพรหมฤทธิ์ รุ่นแรก เนื้อผง

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ