Lifestyle

ตรวจสปาปลาจี้สบส.ยกร่างมาตรฐาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จุรินทร์สั่งสำรวจ “ฟิชปลา” พร้อมเตรียมเชิญผู้ประกอบการหารือ ด้านกรมสนับสนุนบริการสุขภาพยกร่างมาตรฐาน ออกคู่มือเฝ้าระวังติดเชื้อ คัดกรองผู้ใช้ ห้ามคนป่วยโรคผิวหนัง-เบาหวานรับบริการ ทำทะเบียนประวัติทุกราย ส่วนที่เชียงใหม่ นายกสมาคมไทยล้านนาสปาระบุ สธ.อยู่ระ

 ความคืบหน้ากรณีกระทรวงสาธารณสุขเตรียมหาช่องทางควบคุมสปาปลา หลังสหรัฐอเมริกา ประกาศปิดกิจการประเภทดังกล่าว ซึ่งนำปลาตัวเล็กๆ มากัดผิวหนังชั้นนอกเพื่อทำความสะอาดและรักษาโรคผิวหนังใน 14 รัฐ เนื่องจากตรวจพบว่าสามารถติดเชื้อ ทำให้เกิดการอักเสบและแพร่โรคติดต่อกันได้

 ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2554 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปิดสปาปลา ตามที่สหรัฐอเมริกาดำเนินการหลังพบการติดเชื้อ ในส่วนของประเทศไทยได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สำรวจจำนวนผู้ประกอบธุรกิจสปาปลา และเตรียมวางหลักเกณฑ์เพื่อควบคุม ทั้งเรื่องของความสะอาด และการตรวจโรคของผู้เข้าใช้บริการพื้นฐาน ซึ่งต้องเน้นและเตือนให้ผู้มาใช้บริการต้องปลอดโรคทางผิวหนัง เพื่อลดการเป็นพาหะหรือนำเชื้อไปสู่ผู้อื่น หากพบผู้มีบาดแผลบริเวณเท้า หรือขา ต้องห้ามรับบริการทันที ส่วนผู้ใช้บริการหากมีบาดแผลที่เท้าไม่ควรเข้ารับบริการ เพราะอาจเสี่ยง ไม่ปลอดภัยและติดเชื้อโรค โดยผู้ให้บริการก็ต้องสังเกตผู้เข้ารับบริการด้วย

 “ธุรกิจนี้ยังไม่ถูกควบคุมหรือเข้าข้อบังคับตามหลักเกณฑ์แต่จัดอยู่ในหมวดของกลุ่มสปา ซึ่งในส่วนของการดูแลของการให้บริการสปาของ สธ.แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสปา กลุ่มนวด และกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพ หากทั้ง 3 ประเภทไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ ก็สามารถเพิกถอนการอนุญาตประกอบการได้ แม้ว่าขณะนี้ผู้ที่ดูแลเรื่องของการขออนุญาตประกอบการ จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย แต่กระทรวงสาธารณสุขดูแลเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งในเร็วๆ นี้เตรียมให้ สบส.เชิญผู้ประกอบการธุรกิจสปาปลาเข้าหารือ ร่วมวางหลักเกณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ประเทศไทยมีสปาโดยรวม 1,341 แห่ง“ นายจุรินทร์กล่าว

 นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า สบส.ได้จัดทำร่างมาตรฐานการบริการสปาปลา โดยหารือกับกรมประมงและกรมอนามัย เบื้องต้นมี 7 มาตรฐาน ได้แก่ 1.สถานที่ 2.ชื่อ 3.ปลาที่ให้บริการ 4.การบริการ 5.อุปกรณ์เครื่องมือและผลิตภัณฑ์ 6.ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และ 7.การเฝ้าระวังการติดเชื้อ โดยปลาที่ใช้ในสปาปลาจะต้องมีขนาดประมาณ 2-4 นิ้ว ต้องไม่มีฟันบนขากรรไกร เพราะจะทำให้เกิดบาดแผลเล็กๆ อาจทำให้ติดเชื้อภายหลังได้ และต้องมาจากฟาร์มมาตรฐานของกรมประมง ซึ่งปลาไทยที่จะใช้ได้ในสปาปลา เช่น ปลาน้ำผึ้ง ปลานกกระจอก ปลาจิ้งจอก ปลาเล็บมือนาง ปลามัน

 ส่วนอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ จะต้องมีระบบการฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตราไวโอเลต หรือยูวี มีระบบตัวกรองน้ำชนิดละเอียดมีประสิทธิภาพในการกรองตะกอนต่างๆ ที่เกิดจากการขับถ่ายหรือคราบไคลของผู้ใช้บริการ น้ำจะต้องมีความใส ผ้าที่เช็ดทำความสะอาดเท้าของผู้รับบริการ ต้องผ่านการซักทำความสะอาดฆ่าเชื้ออย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ส่วนความสะอาดสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมพื้นที่ ต้องไม่แออัด อากาศถ่ายเทสะดวก น้ำที่ใช้ในอ่างปลาต้องใสสะอาดมีค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ในช่วง 6.5-8.5 ต้องปราศจากเชื้อ โดยต้องไม่มีโคลิฟอร์มแบคทีเรียและเชื้ออีโคไล (E.coli) มีระบบน้ำหมุนเวียนเข้าอ่างตลอด 24 ชั่วโมง ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ในปริมาณไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของน้ำทั้งหมด และเปลี่ยนวัสดุกรองชนิดละเอียดทุกวัน

 “การเฝ้าระวังการติดเชื้อได้จัดทำคู่มือปฏิบัติการให้สถานประกอบการใช้เป็นแนวทางการดูแล ทั้งนี้ ก่อนให้บริการจะต้องมีระบบการคัดกรอง ผู้ที่ไม่ควรใช้บริการสปาปลามี 2 กลุ่มพิเศษ ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคผิวหนัง มีบาดแผลหรือตุ่มหนอง และผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ที่มีอาการชาตามมือและเท้า และจะต้องมีการจัดทำทะเบียนประวัติผู้รับบริการทุกราย และขณะใช้บริการผู้รับบริการจะต้องไม่มีอาการผิวหนังแดงแสบหรือเจ็บจากการตอดของปลาด้วย” นพ.สมชัยกล่าว

 ด้าน นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า โรคติดต่อ พ.ศ.2523 เพราะ พ.ร.บ.นี้ใช้ควบคุมเฉพาะโรคติดต่อร้ายแรง แต่วัณโรคเทียมถือเป็นโรคที่รักษายาก หมายความว่า อาจเป็นโรคที่ดื้อยาและจำเป็นต้องใช้ยาที่แรงและราคาแพงในการรักษา ในอนาคตหากพบว่า มีคนติดโรคดังกล่าวจริง กรมจะออกประกาศเตือนภัยต่อไป อาจประกาศเป็นช่วงเหมือนกับโรคไข้หวัด เพื่อให้ประชาชนมีการป้องกันที่ถูกต้อง แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลรายงานว่ามีผู้ป่วยจากบริการดังกล่าว จึงยังไม่จำเป็นต้องดำเนินการอะไรเร่งด่วน จึงอยากฝากว่า หากมีประชาชนได้รับผลกระทบจากสปาปลาจริงๆ ขอให้แจ้งมายังกรมให้ทราบ

 นพ.วัฒนา กาญจนกามล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ กล่าวว่า ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ฟิชสปาไม่ถือว่าเป็นสปา และไม่นับเป็นสปาสุขภาพในความดูแล สำหรับสปาที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุขจะมีสปาเพื่อสุขภาพ สปาเพื่อความงาม และสปานวด ปัจจุบันที่ขออนุญาตมี 150 แห่งทั่วเชียงใหม่ และก็ยังไม่มีกฎหมายดูแลควบคุมเรื่องฟิชสปาด้วย

 "ฟิชสปาที่เปิดกันอยู่ในเชียงใหม่ก็ไม่ได้ขออนุญาตจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ใครมีเงินทุน มีความต้องการเปิดก็สามารถทำได้เลย และ สสจ.เชียงใหม่เองก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเข้าไปตรวจดู ซึ่ง สสจ.เชียงใหม่ ก็ทำได้เพียงแจ้งเตือนผู้ที่จะไปใช้บริการเท่านั้น ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบกระบวนการให้บริการของฟิชสปาได้" นพ.วัฒนากล่าว

 นางอนิดา โทณะวณิก นายกสมาคมไทยล้านนาสปา กล่าวว่า ฟิชสปาไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของสปา เป็นเพียงแค่การบำบัดด้วยปลาเท่านั้น การจะเปิดต้องมีการควบคุมจากกระทรวงสาธารณสุขแต่ไม่ใช่ข้อกำหนดเหมือนของสปาเพื่อสุขภาพอย่างแน่นอน ทั้งนี้ มีการตั้งชื่อเพื่อให้ดูสอดคล้องกับสปาเพื่อสุขภาพที่ให้บริการกันอยู่ ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขก็อยู่ระหว่างการทำพระราชบัญญัติควบคุมการใช้ชื่ออยู่ เพราะปัจจุบันฟิชสปาเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว
 
  นายกายย์วิชญ์ วงศ์ทอง อุปนายกสมาคมไทยล้านนาสปา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยตั้งแต่มีการนำฟิชสปาเข้ามาให้บริการตั้งแต่แรกแล้ว เพราะถือเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ประกอบกับไม่มีกฎหมายรองรับและรับรองในการจะเปิดสถานบริการดังกล่าว จึงทำให้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ตอนนี้เริ่มมีประเด็นมีผู้เดือดร้อนจากการใช้บริการและเริ่มมีการร้องเรียนจึงกลายเป็นกระแสข่าวขึ้นมา เชื่อว่าหลังจากนี้กระทรวงสาธารณสุขจะต้องเข้ามาดูแล ในส่วนของเจ้าของฟิชสปาเองตอนนี้ก็ต้องดูว่าแต่ละรายจะยึดหลักการให้การบริการมากน้อยเพียงใด

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ