Lifestyle

ฮือโดเรมอนโผล่บนจิตรกรรมฝาผนังวัด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วัดสำปะซิวเมืองสุพรรณบุรีสร้างความความฮือฮาขึ้นเมื่อภาพวาดบนฝาผนังภายในอุโบสถ มีการวาดรูปและเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ และเรื่องราวของพระพุทธเจ้าสิบชาติ พร้อมสอดแทรกตัวการ์ตูนโดเรมอนและโนบิตะ

พระมหาอนันต์ กุสลาลงกาโร เจ้าอาวาสวัดสำปะซิว ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ ๓ ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี  เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ภายในอุโบสถเป็นผนังเปล่าๆ แต่เมื่อปี ๒๕๕๔ จึงได้ติดต่ออดีตศิษย์เก่าจากช่างวิทยาลัยในวังชาย มาลงสีวาดรูปในผนังอุโบสถ เพื่อให้ภายในสวยงดงามยิ่งขึ้น

ทั้งนี้บล็อกเกอร์นามครูแผนได้เขียนถึงประวัติของวัดสำปะซิวไว้ในเว็บบล็อกhttp://www.oknation.net/blog/phaen ความว่า  เป็นวัดเก่าแก่ สร้างเมื่อ พ.ศ.๑๘๕๗  ในสมัยอยุธยาตอนต้น มีอายุมานานกว่า ๖๐๐ ปี มีพื้นที่ ๒๐ ไร่เศษ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๑๘๖๐ 

ตามประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ และมีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าขานต่อ ๆ กันมาว่าเดิมสถานที่แห่งนี้เป็นวัดร้าง ต่อมากองทัพไทยในองค์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้มาหยุดพักทัพเพื่อตรวจสอบบัญชีจำนวนทหารในกองทัพว่ามีจำนวนทหารที่สูญหาย จากการทำศึกเท่าใด และมีจำนวนทหารเหลืออยู่เท่าใด ในสมัยนั้นเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า สางบัญชี


 ต่อมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดร้างแห่งนี้ขึ้น จึงตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า วัดสางบัญชี เนื่องจากสาเหตุอันใดไม่ทราบ ได้ทำให้การเรียกชื่อวัดแห่งนี้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม จากชื่อว่า วัดสางบัญชี เป็น วัดสำปะซิว มาจนถึงทุกวันนี้


นอกจากนี้แล้ว “สุนทรภู่” ยอดกวีเอก ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เคยเดินทางผ่านมาถึงเมืองสุพรรณบุรี โดยใช้เรือแจวจากกรุงเทพฯ มาตามลำแม่น้ำท่าจีน (แม่น้ำสุพรรณบุรี) ใน พ.ศ.๒๓๗๙ ผ่านหมู่บ้านตำบลต่าง ๆ จนเกิดโคลงสี่สุภาพ “นิราศเมืองสุพรรณ” ว่า ขึ้นสำปะทิว งิ้วง้าวสะล้าง กร่างไกรถิ่นท่าป่ารำไร ไร่ฝ้ายเจ็กอยู่หมู่ไทยมอญ ทำถั่วรั้วเอยปลูกผักฟักกล้วยกล้ายเกลื่อนทั่วทางขจร


“สำปะทิว” ก็คือ “สำปะซิว” ในสมัยปัจจุบัน เป็นเพราะการเรียกเพี้ยนมาจนเดี๋ยวนี้ ที่เชื่อเช่นนั้นเพราะ "สุนทรภู่" ได้พรรณนาถึงวัดกับบ้าน และบางต่าง ๆ เรื่อยมาตามลำน้ำสุพรรณบุรี ก่อนที่จะถึงบ้านสำปะซิว ได้กล่าวถึง โพคลาน (วัดโพธิ์คลาน), ศรีษะเวียง (บ้านหัวเวียง), โพหลวง (บ้านพลูหลวง) ซึ่งชื่อดังกล่าวนี้ อยู่ใต้บ้านสำปะทิว และมีอาณาเขตติดต่อกันเป็นช่วง ๆ จึงไม่มีปัญหากับคำว่า “สำปะทิว” ซึ่งก็คือ “สำปะซิว” นั่นเอง

นอกจากนี้แล้ว วัดสำปะซิว ยังเป็นแหล่งที่ตั้งเตาเผาภาชนะดินเผา (ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา) ซึ่ง เป็นเตาเผาอิฐแบบระบายความร้อนผ่านเฉียงขึ้น สามารถเผาภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งแบบเคลือบ และแบบไม่เคลือบได้  พบตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนทั้ง ๒ ฝั่ง เพราะสะดวกในการขนส่งวัตถุดิบต่าง ๆ ทางเรือ นับว่าเป็นสินค้าส่งออก 

ลักษณะของดินเกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินที่ถูกการเคลื่อนย้ายพัดพามา จึงทำให้ดินมีคุณภาพดี เหมาะสำหรับในการทำภาชนะดินเผา และเคยขุดค้นพบเศษเครื่องสังคโลก และเครื่องถ้วยจีน ซึ่งนำมาเป็นตัวอย่างในการผลิตประเภท ถ้วย ชาม ส่วนหม้อ ไห มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง

ปัจจุบันนี้วัดสำปะซิว มี พระมหาอนันต์ กุสลาลงกาโร เป็นเจ้าอาวาส โดยท่านจบการศึกษามัธยมปลาย ที่โรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย สุพรรณบุรี ในระบบการศึกษานอกโรงเรียน สอบได้นักธรรมชั้นเอก สอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาพระพุทธศาสนา (พธ.บ.) คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

หลังเข้ารับตำแหน่ง พระมหาอนันต์ได้ร่วมกับชาวบ้าน พัฒนาปรับปรุงบูรณะวัด ด้วยศรัทธาอันแรงกล้า โดยมีแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นประธาน และผู้อุปถัมภ์วัดมาตลอด

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ