Lifestyle

ศิริราชปลูกถ่ายตับอ่อนสำเร็จช่วยเบาหวาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศิริราช” โชว์นวัตกรรมปลูกถ่ายตับอ่อนสำเร็จครั้งแรกในเมืองไทย ช่วยคนป่วยเบาหวานไม่ต้องพึ่งอินซูลิน คุมน้ำตาลในเลือด ค่าผ่าตัดแค่ 3 แสนบาท ด้านคนไข้สุดปลื้มเผยเหมือนตายแล้วเกิดใหม่

ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร หัวหน้าทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ นพ.สมชัย ลิ้มศรีจำเริญ ทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ และนายสมนึก พิสัยพันธ์ ผู้ได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อน ร่วมแถลงเรื่อง “ศิริราชปลูกถ่าย (เปลี่ยน) ตับอ่อนสำเร็จเป็นแห่งแรกของไทย”

 นพ.สมชัย กล่าวว่า ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่พบ 90% จะเป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่ต้องพึ่งพาอินซูลิน สามารถรักษาโดยการให้ยาลดระดับน้ำตาลได้ แต่ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ต้องรักษาโดยการให้อินซูลินต่อเนื่อง 3-4 ครั้งต่อวัน เพราะเซลล์ที่ผลิตอินซูลินในตับอ่อนถูกทำลายไป ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้พบเพียง 1.6 รายต่อแสนประชากรต่อปีเท่านั้น ซึ่งเสี่ยงต่อการช็อกจากภาวะน้ำตาลในเลือดที่ต่ำหรือสูงเกินไป และเกิดภาวะไตวายเรื้อรังตามมา

 "บางคนเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย นอกจากนี้ยังเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดหัวใจตีบ จอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อน อย่างนายสมนึกได้รับการปลูกถ่ายเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา หลังเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ตั้งแต่อายุ 20 ปี ต้องฉีดอินซูลินวันละ 2-4 ครั้ง เมื่ออายุ 25 ปี ไตวายเรื้อรัง ต้องฟอกเลือดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในปี 2550 ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต และฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดต่อ ผู้ป่วยรายนี้ปลูกถ่ายตับอ่อนมาแล้ว 1 ครั้ง แต่ตับอ่อนทำงานได้เพียงแค่ 7 วันเท่านั้น" นพ.สมชัย กล่าว

 นพ.สมชัยกล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายสมนึกได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อนครั้งที่ 2 โดยได้รับการบริจาคจากผู้บริจาคสมองตาย การผ่าตัดใช้เวลา 3 ชั่วโมง คนไข้อยู่ในโรงพยาบาลเพื่อดูอาการ 18 วัน ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่ต้องฉีดอินซูลิน หรือรับประทานยาลดน้ำตาลในเลือด ส่วนค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดอยู่ที่ 3 แสนบาท อย่างไรก็ตาม ในคนที่เป็นมะเร็งตับอ่อน เนื้องอกตับอ่อน และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ไม่สามารถใช้วิธีการปลูกถ่ายตับอ่อนได้ ต้องรักษาด้วยยา และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ควรได้รับผ่าตัดต้องมีภาวะไตวายร่วมด้วย

 นายสมนึก กล่าวว่า รู้สึกโชคดีมากที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะถึง 2 อวัยวะ คือปลูกถ่ายไต และตับอ่อนในเวลาใกล้เคียงกัน หลังจากที่ป่วยเบาหวานมา 25 ปี ทรมานมาก ต้องคอยดูแลระดับน้ำตาลให้คงที่ นอกจากนี้ยังมีภาวะไตวายเรื้อรัง ต้องล้างไตผ่านหน้าท้องและฟอกไตสัปดาห์ละ 3 วัน

 "ก่อนปลูกถ่ายตับอ่อน ผมรู้สึกกังวลเรื่องการกินอาหาร ต้องคอยดูน้ำตาลในเลือดตลอด แต่หลังจากปลูกถ่ายตับอ่อนแล้ว ไม่ต้องฉีดอินซูลิน ค่าเฉลี่ยน้ำตาลในเลือดก็อยู่ในระดับปกติ ชีวิตเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ แต่ตอนนี้ต้องกินยากดภูมิให้ตรงเวลา" นายสมนึก กล่าว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ