Lifestyle

ปลอดภัยห่างไกลโรคปอดบวมสร้างภูมิคุ้มกันด้วย...นมแม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โรคปอดบวมถือเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกที่องค์การอนามัยโลกเตือนให้ทุกประเทศเฝ้าระวัง โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดในเด็กเล็ก ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (ฮู) ระบุว่า โรคปอดบวมเป็นแชมป์คร่าชีวิตเด็กเล็กทั่วโลกเป็นอันดับ 1 ถึงปีละ 2 ล้านคนต่อปี หรือทุกๆ 15 วินาที

โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จึงจับมือสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมรณรงค์เนื่องใน “วันปอดบวมโลก” (World Pneumonia Day) 12 พฤศจิกายน 2553 ปลุกกระแสตื่นตัวป้องกันภัยร้ายโรคปอดบวมและรณรงค์ให้ความรู้ และวิธีการป้องกันโรคปอดบวมในฤดูหนาวที่กำลังมาถึง

 ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า สำหรับประเทศไทยในปี 2552 มีเด็กป่วยด้วยโรคปอดบวมทั้งสิ้น 62,825 คน เสียชีวิต 60 คน ปี 2553 ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม พบเด็กป่วยด้วยโรคปอดบวมแล้ว 32,925 คน และเสียชีวิตไปแล้ว 17 คน ถึงแม้ตัวเลขการเสียชีวิตจะไม่มาก แต่ย่อมเป็นการดีกว่าหากสามารถป้องกันลูกหลานไม่ให้เสียชีวิตจากโรคปอดบวมเลย ที่สำคัญในช่วงแรกเกิด-3 ปีแรก เป็นช่วงที่การต่อเนื่องของพัฒนาการเป็นสิ่งสำคัญมาก

"ดังนั้นหากเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาในช่วงดังกล่าว จะทำให้เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กได้ และอาจจะส่งผลจนถึงผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอ เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบทุกคนจึงเป็นกลุ่มสี่ยงของโรคปอดบวม และเด็กกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ และเด็กที่อยู่รวมตัวกันหนาแน่น ดังนั้นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงควบคู่ไปกับป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนต้องใส่ใจ"

 ปริญญา มาเอดะ คุณแม่ของ "น้องแจ๊บ" ปริญธวัช ดีสวาท เด็กชายวัย 5 ขวบ ที่เคยป่วยเป็นโรคปอดบวมจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนานแรมเดือน เล่าถึงความรู้สึกในตอนนั้นว่า ตอนแรกน้องมีอาการตัวร้อน ไข้ขึ้น ไอ และหอบ จึงให้กินยาลดไข้จนอาการดีขึ้น แต่สักพักอาการก็เริ่มกลับมาอีก จึงตัดสินใจพาน้องไปหาหมอ โดยไม่คิดมาก่อนว่าจะเป็นปอดบวม ในกรณีน้องแจ๊บเป็นผู้ป่วยในขั้นก่อนวิกฤติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หรือถ้าขาดออกซิเจนนานอาจมีผลต่อการพัฒนาสมอง แต่โชคดีที่น้องมาทันเวลา ในระหว่างการรักษาต้องคอยพ่นยาฆ่าเชื้อ ให้น้ำเกลือตลอดเวลา รวมถึงใส่สายออกซิเจนเพราะมีออกซิเจนในเลือดต่ำ ใช้เวลารักษาตัวที่โรงพยาบาลทั้งหมด 13 วัน หลังจากกลับมาถึงบ้านต้องกินยานานกว่า 2 เดือน จึงหายดีเป็นปกติ

ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ ประธานชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคปอดบวมเป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่ระบาดหนักในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว โดยเกิดจากการอักเสบและติดเชื้อของเนื้อปอด รวมทั้งหลอดลมและถุงลม ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจรุนแรงจนเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจน และมีโอกาสเสียชีวิตได้ นอกจากนี้อาจติดเชื้อได้จากการสัมผัสละอองของน้ำมูก น้ำลายของผู้ที่มีเชื้อ ซึ่งก่อให้เกิดโรคในระบบต่างๆ ที่สำคัญของร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เชื้อลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่สำคัญ

"อาการของโรคปอดบวมในเด็ก เช่น มีไข้ ไอ หายใจถี่และหอบ หายใจลำบาก หรือหายใจแรงจนซี่โครงบุ๋ม ถ้าพบว่าเด็กมีอาการไข้ ไอบ่อย หรือหายใจเร็ว (ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ หายใจเร็วมากกว่า 50 ครั้งต่อนาที และในเด็กเล็กที่มากกว่า 1 ขวบ หายใจเร็วมากกว่า 40 ครั้งต่อนาที) ให้สงสัยว่า เด็กอาจเป็นโรคปอดอักเสบ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจยืนยันและการรักษาที่ถูกต้อง หากพ่อแม่นิ่งนอนใจ  ปล่อยทิ้งไว้นานเด็กอาจมีอาการหอบ หายใจลำบาก มีอาการรุนแรงมากขึ้นและอาจไม่ทันกาล"

 ดังนั้นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการเลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพแข็งแรง ให้ทารกดื่มนมแม่ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ และสอนให้เด็กรู้จักรักษาสุขอนามัยเป็นประจำ รวมทั้งการใส่หน้ากากอนามัย ตลอดจนในปัจจุบันมีวัคซีนไอพีดีที่ช่วยป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส และโรคติดเชื้อรุนแรงอื่นๆ ซึ่งพ่อแม่ควรปรึกษากุมารแพทย์ และพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการฉีดวัคซีนด้วยตนเอง เนื่องจากวัคซีนดังกล่าว ยังเป็นวัคซีนทางเลือกในประเทศไทย
 
 0ภาวิณี เทพคำราม 0 รายงาน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ