Lifestyle

เหตุใดอ.ไข่ มาลีฮวนน่าจึงมาแช่ว่านรางยาที่สำนักวัดเขาอ้อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ตามรอย...ตำนานแผ่นดิน  โดย... เอก อัคคี (facebook.com/ake.akeakkee)

 


          วัดเขาอ้อ เป็นแหล่งวิทยาคมทางไสยศาสตร์และสมุนไพรไทย ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาแล้ว ตั้งแต่สมัยโบราณพระเกจิอาจารย์ผู้สืบต่อวิชาทางไสยศาสตร์ ต่างก็เป็นที่พึ่งที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป อาทิ พระอาจารย์ทองหูยาน, อาจารย์ทองเฒ่า พระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด), พระอาจารย์นำ ชินวโร, พระครูพิพัฒน์สิริธร (อาจารย์คง) พระอาจารย์ปาล อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ

 

 

          และที่เป็นฆราวาสที่คนทั่วไปรู้จักกันดี ได้แก่ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช, อ.เปลี่ยน หัทยานนท์ ผู้ทำให้ชื่อเสียงของวัดเขาอ้อที่ผู้คนทั่วไปรู้จักทั้งในทางไสยเวทและการใช้ว่านสมุนไพร


          โดยเฉพาะวิชาการแพทย์แผนโบราณพูดได้ว่าไม่มีสำนักใหนทางภาคใต้ที่จะชัดเจนและได้ผลชะงัดเท่ากับสำนักนี้ แม้ปัจจุบันจะคลายลงไปบ้าง แต่ก็หาได้สูญหายไปอย่างใดไม่ อย่างน้อยที่สุดยังมีพระอาจารย์หลายรูปที่สืบทอดกันมา

 

 

 

เหตุใดอ.ไข่ มาลีฮวนน่าจึงมาแช่ว่านรางยาที่สำนักวัดเขาอ้อ


          จุดกำเนิดของสำนักวัดเขาอ้อ แต่เดิมเป็นที่บำเพ็ญเพียรของพราหมณ์มาหลายรุ่นเนื่องจากภายในถ้ำฉัททันต์บรรพต หรือที่เรียกในยุคนั้นว่า ถ้ำพระคเณศเป็นเสมือนมหาวิหารบูชาเทพเจ้า


          ภูเขาอ้อ เปรียญประดุจเขาพระสุเมรุ ที่ประทับพระศิวะ ถ้ำที่มีหินงอกเป็นเศียรช้าง เปรียบดุจอุทรของพระแม่อุมา อันมีพระคเณศ ผู้เป็นบุตรอยู่ในครรภ์ ด้านหน้ามีลำคลองที่มีสายน้ำขุ่นแดงดุจสายเลือดไหลผ่าน


          เขาอ้อนั้นเป็นทำเลที่ดีมาก ตัวเขาอ้อเองก็ตั้งอยุ่บนเส้นทางสัญจรของชุมชนในอดีตเมืองที่เจริญในละแวกนั้น ซึ่งได้แก่สทิงปุระ หรือสะทิงพาราณสี ซึ่งก็คือ อ.สทิงพระ ในปัจจุบัน


          ประวัติของเมืองสทิงปุระนั้นเกี่ยวข้องกับพราหมณ์อยู่มากแม้กระทั่งในสมัยศรีวิชัยที่พุทธแผ่อิทธิพลทั่วแหลมมาลายู

 

 

 

 

เหตุใดอ.ไข่ มาลีฮวนน่าจึงมาแช่ว่านรางยาที่สำนักวัดเขาอ้อ

 



          ในบริเวณนี้(เขตเมืองพัทลุงในปัจจุบัน) ยังเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของพราหมณ์ หลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าเป็นเมืองที่มีชุมชนหนาแน่นที่สุด


          ในขณะนั้นมีพราหมณ์ผู้ทรงวิทยาคุณ (ฤาษี) คณะหนึ่งได้ไปบำเพ็ญพรตอยู่ที่ถ้ำบนเขาอ้อบำเพ็ญพรตจนเกิดอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ตามตำราอาถรรพเวท (พระเวทอันดับสี่ของคัมภีร์พราหมณ์) แล้วได้ถ่ายทอดวิชานั้นต่อๆ กันมา พร้อมกันนั้นก็ได้จัดตั้งสำนักถ่ายทอดวิชาความรู้แก่ผู้สนใจซึ่งตามวรรณะแล้วพราหมณ์มีหน้าที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่เชื้อพระวงศ์หรือวรรณะกษัตริย์และลูกหลานผู้นำเพื่อจะให้นำไปเป็นความรู้ในการปกครองคนต่อไป


          สำนักเขาอ้อในยุคนั้น จึงมีฐานะคล้ายๆ สำนักทิศาปาโมกข์ของพราหมณ์ผู้ทรงคุณในชมพูทวีป พราหมณ์ผู้ทรงคุณดังกล่าวได้ถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้พราหมณาจารย์สืบทอดต่อๆ กันมาซึ่งเท่าที่สืบค้นรากฐานก็พบว่า วิชาที่ถ่ายทอดให้คณาศิษย์นอกจากวิชาในเรื่องการปกครองตามตำราธรรมศาสตร์แล้ว ยังมีเรื่องพิธีกรรม ฤกษ์ยามการจัดทัพตามตำราพิชัยสงคราม ตลอดจนไปถึงไสยเวทและการแพทย์


          ตามตำนานบอกวิชาสองสายสืบทอดโดยพราหมณาจารย์ผู้เฒ่าสองคน ซึ่งสืบทอดกันคนละสายสำนักเขาอ้อในสมัยนั้นเป็นสำนักทิศาปาโมกข์จึงมีพราหมณ์อยู่สองท่านเสมอ ท่านหนึ่งจะทำพิธีกรรมไสยเวท อีกท่านจะทำด้านสมุนไพรรักษาโรค ควบคู่กันไปตลอดมา


          การสืบทอดวิชาของสำนักเขาอ้อได้ดำเนินเช่นนั้นจนกระทั่งมาถึงพราหมณ์รุ่นสุดท้ายเห็นว่าไม่มีผู้รับสืบทอดต่อแล้ว ประกอบกับเล็งเห็นว่าเมื่อสิ้นท่านแล้ว สถานที่แห่งนั้นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์พราหมณ์ผู้บรรลุพระเวทหลายคนได้ฝังร่างไว้ที่นั้น สถานที่นั้นจึงสำคัญเกินที่จะปล่อยให้รกร้างไปได้พราหมณ์ผู้เฒ่า จึงได้เล็งหาผู้ที่จะมาสืบทอดและรักษาสถานที่สำคัญนั้นไว้ ประกอบกับขณะนั้นอิทธิพลทางพุทธศาสนาได้แผ่เข้ารายล้อมเขตเมืองพัทลุงแล้ว


          บริเวณข้างๆ เขาอ้อมีวัดอยู่หลายวัด วัดที่ใกล้ที่สุดคือ วัดน้ำเลี้ยว (ปัจจุบันหายไปแล้ว) พราหมณ์ทั้งสองท่านเล็งเห็นว่าต่อไปภายภาคหน้าพุทธศาสนาจะยั่งยืนและแผ่อิทธิพลในดินแดนแถบนั้น การที่จะฝากอะไรไว้กับผู้ที่ยั่งยืนและมีอิทธิพลน่าจะเป็นการดี ท่านเลยตัดสินใจไปนิมนต์พระภิกษุนามว่า ทอง มาจากวัดน้ำเลี้ยวให้มาอยู่ในถ้ำแทนท่าน แล้วมอบคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของบูรพาจารย์พราหมณ์ให้พร้อมทั้งถ่ายทอดวิชาทางไสยเวทให้ รวมทั้งวิชาทางแพทย์แผนโบราณให้กับพระภิกษุเพื่อถ่ายทอดให้ศิษย์รุ่นสู่รุ่นต่อไปในภายหน้า


          พิธีแช่ว่านยา จึงเป็นพิธีกรรมชั้นสูงทางไสยเวทของสำนักวัดเขาอ้อ การแช่ว่านยา หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ลงไปนอนแช่ในน้ำว่านยาที่ได้ทำพิธีปลุกเสกตามหลักวิชาไสยเวท จากพระหรืออาจารย์ผู้เรืองอาคม วัดเขาอ้อจึงได้นามอีกอย่างหนึ่งว่า “วัดพระอาจารย์ขลัง”


          วัดเขาอ้อเป็นต้นตำรับพิธีการแช่ยา ต่อมาเมื่อมีลูกศิษย์มากขึ้น พิธีการนี้ก็แพร่หลายออกไปตามวัดต่างๆ เช่น วัดดอนศาลา วัดบ้านสวน อ.ควนขนุน วัดเขาแดงออก วัดยาง วัดปากสระ อ.เมือง พัทลุง ฯลฯ


          พิธีการแช่ว่านยาที่วัดเขาอ้อ นิยมประกอบพิธีบนไหล่เขาหรือภายในถ้ำฉัททันต์บรรพตในราวเดือน ๕ เดือน ๑๐ ของทุกๆ ปีหรือในวันเสาร์ ๕ ที่ถือว่าเป็นวันที่แข็งมีฤทธิ์มากที่สุดรางยาก่อเป็นรูปอ่างน้ำสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือใช้เรือที่มีขนาดพอที่จะให้คนลงไปนอนได้ประมาณ ๓-๔ คน


          แต่ส่วนใหญ่แล้วเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อหรือเจ้าพิธีกรรมสายนี้มักจะอนุญาตให้เฉพาะศิษย์สายตรงเท่านั้นที่จะแช่ว่านในถ้ำเพราะในถ้ำฉัททันต์แห่งนี้จะใช้ปลุกเสกเครื่องรางของขลังและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพราะบูรพาจารย์ทั้งหมดจะบำเพ็ญเพียรในถ้ำแห่งนี้มาทุกยุคทุกสมัย ความเชื่อที่ว่าหากได้ปลุกเสกหรือทำพิธีกรรมภายในถ้ำ หรือในโบสถ์ที่มีประตูทางเข้าด้านเดียวนั้น จะทำให้วัตถุมงคลดังกล่าวมีความขลัง มีพลังฤทธานุภาพในทางคงกระพันชาตรี หรือที่เรียกว่ามหาอุดนั่นเอง
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ