Lifestyle

นำงานหัตถศิลป์ไทยสู่สายตาชาวโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชูภูมิปัญญาดั้งเดิมฝีมือคนไทย ครูศิลป์ของแผ่นดินและทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รวมทั้งคนรุ่นใหม่ใส่ไอเดียความคิดสร้างสรรค์

          ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) : SACICT นำหัตถศิลป์ไทยยุคดิจิทัลอวดสายตาชาวโลก ชูภูมิปัญญาดั้งเดิมฝีมือคนไทย ครูศิลป์ของแผ่นดินและทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รวมทั้งคนรุ่นใหม่ใส่ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ผสานแรงบันดาลใจที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังและสุนทรียภาพ กลายเป็นงานอาร์ตระดับมาสเตอร์พีซ ในงาน Revelations 2019 ที่ Grand Palais กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

          อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ได้รับเชิญจาก Ateliers d’Art de France ให้เข้าร่วมงาน Revelations 2019 ซึ่งเป็นการแสดงศิลปะร่วมสมัยที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดของยุโรป และนานาชาติยอมรับว่าเป็นงานที่ดีที่สุดของโลกงานหนึ่ง ศิลปินทั่วโลกและบุคคลที่มีชื่อเสียงในหลากหลายวงการต่างปักหมุดเข้าร่วมชมผลงานของผู้สร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยกว่า 450 คนจาก 33 ประเทศ โดย SACICT และ Ateliers d’Art de France มีความร่วมมือในข้อตกลงระหว่างกัน ในการส่งเสริมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรมสู่ระดับสากล

นำงานหัตถศิลป์ไทยสู่สายตาชาวโลก

นำงานหัตถศิลป์ไทยสู่สายตาชาวโลก

          สำหรับประเทศไทยได้รับคัดเลือกเข้าไปจัดแสดงในโซน The Exhibition Le Banquet ซึ่งเป็นโซนที่ได้รับการคัดเลือกว่าเป็นสุดยอดผลงานระดับโลก ทั้งนี้ อัมพวัน พิชาลัย ยังเป็นหนึ่งในแขกรับเชิญร่วมบรรยายเปิดมุมมอง “Thai Fine Art” ในงาน Symposium ร่วมกับ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปูทางการพัฒนาศิลปะหรือหัตถกรรมร่วมสมัยของโลกให้ขับเคลื่อนและพัฒนาสู่อนาคต ผลงานหัตถศิลป์ไทยสมัยใหม่จึงต้องทั้งความสวยและยังต้องแปลกแตกต่าง องค์ประกอบที่ผ่านการคิดมาอย่างใส่ใจ ผ่านกรรมวิธีที่ทั้งยากและใช้เวลามากมายในการสร้างสรรค์ ผนวกกับแนวคิดทางศิลปะสามารถสร้างสุนทรียภาพ ความงดงามในจิตใจ เกิดความอิ่มใจในวิถีแห่งภูมิปัญญาที่ถูกนำกลับมาเติมเต็มชีวิตของผู้คนในปัจจุบันได้

          ภายในงาน นานาชาติจะได้เห็นถึงศิลปหัตถกรรมไทยบนความเปลี่ยนแปลงของโลก พัฒนาการงานหัตถศิลป์ของไทย จากเดิมเป็นของใช้ของชาวบ้าน ต่อมาภูมิปัญญาเหล่านี้ได้เกิดการพัฒนาและฝึกฝน จนเกิดเป็นงานเชิงช่างชั้นสูงที่รังสรรค์ผลงานเพื่อตอบสนองความเชื่อทางศาสนา และส่งเสริมบ่งบอกสถานภาพของผู้ใช้ เช่น เครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์ มีความงดงามประณีตวิจิตรตระการตา เพื่อแสดงออกถึงความเคารพเทิดทูน เมื่องานช่างวิจิตรศิลป์แพร่ขยายสู่ประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงแนวคิดวิถีชีวิตของผู้คน ส่งผลให้งานศิลปหัตถกรรมจำเป็นต้องปรับตัว SACICT ได้ผลักดันให้วงการหัตถศิลป์ไทยมีพัฒนาการที่สอดรับกับกระแสของประชาคมโลก ด้วยภารกิจในการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยมีกลยุทธ์สำคัญคือ “หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน” หัตถศิลป์ยุคใหม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว ผลงานหัตถศิลป์ไทยที่จัดแสดงเป็นงานฝีมือที่มาจากครูศิลป์ของแผ่นดิน ทายาทศิลปหัตถกรรม และศิลปินรุ่นใหม่ผู้ชนะการประกวด SACICT Innovative Crafts Award

นำงานหัตถศิลป์ไทยสู่สายตาชาวโลก

ทศกัณฐ์ชีวภาพ

          ทศกัณฐ์ชีวภาพ ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจจากโขน ศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย ทำขึ้นโดยการหล่อ ปั้น ฉีดและขึ้นรูปด้วยวัสดุบางอย่าง และใช้กรรมวิธีอื่น ๆ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก โดยศิลปินนำแนวคิดหัวโขนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากทศกัณฐ์ ในรามเกียรติ์ มาพัฒนาออกแบบโดยใช้เซลลูโลสชีวภาพ ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อข้าว เป็นการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม รูปแบบ ซีโร่ เวสท์ แต่ “ทศกัณฐ์” ในมุมมองของศิลปินเป็นการนำเสนอใบหน้าเรียงต่อกันเป็นวงรอบศีรษะ โดยขึ้นโครงเป็นเรซิ่นแล้วใช้เส้นใยที่เกิดจากจากการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียเซลลูโลสปิดทับซ้อนกันไป แสดงให้เห็นถึงมุมของวรรณคดีผสานกับวิทยาศาสตร์ เป็นการตีความองค์ความรู้ดั้งเดิมนำเสนอในรูปแบบที่ทันสมัยทันโลกที่คมคายอย่างยิ่ง

นำงานหัตถศิลป์ไทยสู่สายตาชาวโลก

BIO-TULIP Chair

          BIO-TULIP Chair ศิลปินนำเสนอผ่านการใช้วัสดุเนื้อเยื่อชีวภาพ ออร์แกนิก โดยใช้เทคนิคการทับซ้อน และใช้ความสามารถในการรวมตัวเป็นเนื้อเดียวในระดับนาโน เมื่อได้รับความร้อนจากแสงแดด ซึ่งเป็นความสามารถพิเศษของเนื้อเยื่อชีวภาพนี้ เพื่อให้เกิดเป็นผลงานอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น และยังใช้การย้อมด้วยสีที่แตกต่างจากเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป โดยใช้สีผสมอาหารในการสร้างสีสัน ทำให้ผลงานมีความเป็นธรรมชาติในทุกมิติของการนำเสนอ

ประเภทงานผ้า

นำงานหัตถศิลป์ไทยสู่สายตาชาวโลก

ผ้ามัดหมี่ลายไก่

          - ผ้ามัดหมี่ลายไก่ เป็นผ้ามัดหมี่ลายรูปสัตว์ที่เป็นที่นิยมทั่วไปในภาคอีสานตอนเหนือ มีความสนใจในแง่การใช้สีที่แม้จะเป็นสีเคมี แต่มีความงดงามละมุนตา และที่สำคัญคือมีการมัดย้อมเส้นไหมเป็นลวดลายที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง

          - ผ้าไหมกาบบัวลายไก่ ลายมัดหมี่ คั่นเส้นพุ่งพิเศษ จกลายดาวทั้งผืน โดย มีชัย แต้สุจริยา ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2559 ผ้าไหมผืนนี้เกิดจากเทคนิคการมัดหมี่ ย้อมสีธรรมชาติ ด้วยทักษะความชำนาญของช่างหัตถกรรมอีสานใต้ จึงเกิดเป็นผ้าที่ดูเหมือนผ้าโบราณที่ฟื้นฟูทั้งกระบวนการย้อม และภูมิปัญญาในการเลือกใช้วัสดุธรรมชาติในการผลิตในเวลาเดียวกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ