Lifestyle

เชิดชูสุดยอดช่างฝีมือแห่งปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คัดสรรและเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทรงคุณค่า ประกอบด้วย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม

          การที่จะอนุรักษ์ รักษาคุณค่าภูมิปัญญา ทักษะฝีมือและองค์ความรู้เชิงช่างที่อยู่ในตัวบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นสมบัติอันมีค่าไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ในขณะเดียวกันก็ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผสมผสานด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมและแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดสู่ความร่วมสมัยและสมัยนิยมอันจะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ ด้วยความสำคัญดังกล่าวนี้ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) จึงมีการดำเนินกิจกรรมคัดสรรและเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทรงคุณค่า ประกอบด้วย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2552

เชิดชูสุดยอดช่างฝีมือแห่งปี

คุณยายทองอยู่ กำลังหาญ

          ครูศิลป์ของแผ่นดินเป็นบุคคลที่คร่ำหวอดในวงการศิลปหัตถกรรม ที่มีเทคนิคเชิงช่างชั้นสูง และเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่ตกทอดมาจากภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมในท้องถิ่น คุณยายทองอยู่ กำลังหาญ อายุ 88 ปี เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ครูศิลป์ของแผ่นดินประจำปี 2562 ประเภทเครื่องทอ (ผ้าซิ่นตีนจก ไทยวน–คูบัว จังหวัดราชบุรี) “ผ้าซิ่นตีนจก”

เชิดชูสุดยอดช่างฝีมือแห่งปี

          คุณยายทองอยู่ เล่าว่า เมื่ออายุ 14 ปี เริ่มเรียนรู้การทอผ้าจากแม่เพื่อใช้สวมใส่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็จะมีการทอด้ายเป็นแบบง่ายๆ ไม่มีลวดลายอะไร กระทั่งเกิดแรงบันดาลใจเมื่อมีโอกาสเฝ้ารับเสด็จฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครั้นเมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นจึงทรงถามว่า “ผ้าอะไรหรือจ๊ะที่นุ่ง ลายแปลกดีนะ ผ้าอย่างนี้ทำได้อีกหรือเปล่า” จากนั้นก็เริ่มมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาเยี่ยม สั่งทำ ส่วนตัวเองก็เริ่มเรียนรู้วิธีการทำ “ผ้าซิ่นตีนจก” ตั้งแต่นั้นมาโดยแม่เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้รวมทั้งเทคนิคจกขนเม่น และยังคงสืบสานงานทอผ้าซิ่นตีนจกโดยยึดถือวิธีทำแบบโบราณดั้งเดิมที่มีมามากว่าร้อยปี ตลอดจนเผยแพร่เทคนิคแบบจกขนเม่น ด้วยการเปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้สืบสานและอนุรักษ์

เชิดชูสุดยอดช่างฝีมือแห่งปี

ไพโรจน์ สืบสาม 

เชิดชูสุดยอดช่างฝีมือแห่งปี

          ในส่วน “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” เป็นกลุ่มระดับครูช่าง แต่ประสบการณ์น้อยกว่าครูศิลป์ของแผ่นดิน ซึ่งครูช่างที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องแสดงทักษะฝีมือช่างชั้นสูง มีการทำงานศิลปหัตถกรรมมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร และต้องมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นด้วยเช่นกัน ไพโรจน์ สืบสาม อายุ 40 ปี ผู้มีทักษะมีฝีมือทำงานถึง 25 ปี จนได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ครูช่างศิลปหัตถกรรมประจำปี 2562 ประเภทเครื่องประดับทองโบราณ (บางใหญ่ นนทบุรี) บอกว่า หลังจากโรงเรียนเพาะช่างด้านการทำเครื่องประดับไทยเริ่มต้นจากงานซ่อมแซมของเก่า วัตถุโบราณ และพัฒนามาเป็นการทำเครื่องประดับทอง จากนั้นจึงตัดสินใจออกมาสร้างสรรค์งานด้วยตัวเอง มีโอกาสเป็นส่วนร่วมของช่างประณีตศิลป์ไทย จัดทำชุดเครื่องประดับทองโบราณให้โขนละคร “สำหรับรางวัลเชิดชูเกียรติที่ได้รับในครั้งนี้ดีใจที่มีคนเห็นความตั้งใจ เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ เพราะไม่ใช่แค่เราแต่ยังรวมถึงการสร้างชื่อเสียงให้ชุมชนให้เป็นที่รู้จัก รวมถึงองค์ความรู้ต่างๆ สามารถต่อลมหายใจได้ มีความภาคภูมิใจที่ได้เห็นลูกศิษย์มีความสนใจในงานจนนำมาประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว

เชิดชูสุดยอดช่างฝีมือแห่งปี

 พิชิต นะงอลา

          และที่สุดผลงาน “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่เป็นหัวใจของการสืบสานงานศิลปหัตถกรรมเป็นคนรุ่นใหม่ที่มารับช่วงต่อเพื่ออนุรักษ์ไม่ให้หายไป โดยตัวแทนหนึ่งในกลุ่มทายาท พิชิต นะงอลา อายุ 31 ปี กล่าวว่า ใช้ระยะเวลาการทำงานมาถึง 14 ปี จนกระทั่งได้รับการเชิดชูเป็น ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมประจำปี 2562 ประเภทเครื่องโลหะ (งานดุนโลหะ) ซึ่งแรงบันดาลใจเริ่มแรก คือเมื่ออายุ 17 ปี มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้งานดุนโลหะเพราะต้องการนำมาประกอบอาชีพ เมื่อฝึกฝนได้ 1 ปีเกิดชื่นชอบและคิดว่าสามารถพัฒนาต่อยอดไปได้หลายทางจึงตัดสินใจเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา ภาควิชาศิลปะไทย เพื่อนำความรู้มาต่อยอดงานดุนโลหะที่ฝึกฝนมา ปัจจุบันยังใช้บ้านเป็นที่ฝึกสอนเด็กๆ กว่า 10 คน อนาคตก็วางแผนจะเปิดศูนย์การเรียนรู้ รวบรวมกลุ่มคนที่ทำงานประเภทเดียวกัน จะได้ช่วยกันพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ