Lifestyle

Cultural generations

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

Eng Today โดย ผศ.ชลาธิป  ชาญชัยฤกษ์

          Dictionary.com  ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการพจนานุกรมดิจิตัลชั้นนำของโลก แบ่งคนออกเป็นยุคต่างๆ ตามช่วงเวลา วัฒนธรรม และชีวิตความเป็นอยู่ โดยเน้นบริบทของสหรัฐอเมริกาดังนี้      

          Lost Generation  คือผู้ที่เกิดในช่วงกลางทศวรรษ 1880-1900 ซึ่งเป็นช่วงที่หลายคนถูกส่งไปร่วมสู้รบในสงครามโลกครั้งที่ 1 คำว่า Lost Generation เป็นคำที่เกอร์ทรูด สเตน นักเขียนนวนิยาย กวี บทละครและนักสะสมงานศิลปะชาวอเมริกันประดิษฐ์ขึ้นเพื่อพูดถึงความรู้สึกละเหี่ย ตลอดจนความผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจที่เกิดกับทหารผ่านศึกจำนวนมากหลังกลับจากสงคราม
        เนื่องจากเพิ่งผ่านศึกสงครามมาหมาด ๆ คนยุคนี้จึงไม่เคร่งครัดเรื่องกฎระเบียบ ชอบใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ ไม่ยึดติดกับระเบียบแบบแผนใด ๆ นอกจากดนตรีแจ๊สแล้ว ยุคนี้ยังเป็นที่มาของปรากฏการณ์ต่าง ๆ อาทิ 
          Roaring ’20s  หมายถึง ทศวรรษ 1920 ที่สนุกสุดเหวี่ยง เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบโดยสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายที่ชนะสงคราม  เศรษฐกิจของประเทศก็เฟื่องฟูสุดขีดควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมรถยนต์ โทรศัพท์ ภาพยนตร์ วิทยุ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และการบิน 
           prohibition  หมายถึง ยุคห้ามเหล้า ซึ่งเป็นยุคที่การผลิต จำหน่าย หรือครอบครองสุราเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทำให้เกิด                bootlegging หรือการผลิตและจำหน่ายเหล้าเถื่อนอย่างแพร่หลาย ตลอดจนมีองค์กรอาชญากรรมผุดขึ้นมากมายเพื่อเข้ามากอบโกยเงินทองจากธุรกิจผิดกฎหมายนี้ ยุคห้ามเหล้าในอเมริกาเหนือและยุโรปต้องล้มเลิกไปในปลายทศวรรษ 1920 ถึงต้นทศวรรษ 1930         

          gangster  หมายถึง อันธพาลหรือเหล่าร้ายซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรอาชญากรรมต่างๆ ในยุคนั้น ที่โด่งดังที่สุดคือ แอล คาโปน มาเฟียอันดับหนึ่งในชิคาโกที่หลุดพ้นเงื้อมมือการจับกุมของตำรวจมาโดยตลอด ก่อนที่จะตายน้ำตื้นถูกจับด้วยข้อหาหลีกเลี่ยงภาษีและจองจำอยู่ที่เรือนจำอัลคาทราซนานถึง 11 ปี
          flapper  หมายถึง หญิงสาวในช่วงทศวรรษ 1920 ที่นิยมนุ่งกระโปรงสั้น ไว้ผมบ๊อบ ฟังเพลงแจ๊ส และมีกริยาท่าทางที่ถือว่า “เปรี้ยว” ในยุคนั้นโดยมักแต่งหน้าจัด สูบบุหรี่ ขับรถ และไม่ค่อยใส่ใจในเรื่องรักนวลสงวนตัวนัก flapper ถือเป็นสัญลักษณ์ของ Roaring ’20s ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและการเมือง รวมถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสหรัฐและยุโรปที่เพิ่มขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 และการส่งออกวัฒนธรรมแจ๊สของอเมริกันไปยังยุโรป
          The G.I. Generation  คือผู้ที่เกิดในช่วงต้นทศวรรษ 1900 ถึงกลางทศวรรษ 1920 คนรุ่นนี้ยังเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า The Greatest Generation ซึ่งเป็นชื่อที่ ทอมโบรคอร์ พิธีกรข่าวทางโทรทัศน์และนักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันใช้เรียกขานคนกลุ่มนี้ในหนังสือ The Greatest Generation ของเขา
          ส่วนสาเหตุที่เรียกคนยุคนี้ว่า The G.I. Generation นั้นมาจากการที่คนรุ่นนี้เป็นทหารที่เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ระหว่าง ค.ศ. 1939 – 1945) สำหรับอักษรย่อ G.I. ที่มีความหมายว่า ทหารอเมริกันนั้นมีทฤษฎีเชื่อว่า G.I. เป็นคำย่อมาจาก Galvanized Iron (เหล็กเคลือบกันสนิม) ที่จะพ่นติดไว้บนถังขยะหรือถังที่ทำจากวัสดุนี้ แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ความหมายของ G.I. ถูกขยายกว้างออกไปครอบคลุมทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทหาร จึงกลายเป็นว่า G.I. ย่อมาจาก government issue หรือ general issue 
          ความแพร่หลายของคำ ๆ นี้ ทำให้ทหารอเมริกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มเรียกตัวเองว่า G.I. โดยทหารบางนายใช้ในเชิงประชดประชันว่า ทหารอย่างพวกเขาเป็นเพียงสิ่งของที่รัฐบาลผลิตออกมาจำนวนมาก ๆ เท่านั้น
          ในช่วงวัยเยาว์ คนในยุค The G.I. Generation ต้องเผชิญกับความยากลำบากในช่วง the Great Depression หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1929 ซึ่งเริ่มต้นที่สหรัฐก่อนที่จะขยายออกไปทั่วโลกและกินเวลายาวนานเกือบ 10 ปี ในยุคนี้ จะมีกลุ่มย่อยที่เรียกว่า The Interbellum Generation รวมอยู่ด้วย ซึ่งคนในกลุ่มนี้อาจเด็กเกินกว่าที่จะเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ก็แก่เกินกว่าที่จะร่วมสู้รบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนเหตุที่รวมไว้กับ The G.I. Generation นั้นเป็นเพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 จะหมายรวมทุกสิ่งและทุกคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคนในยุค The Interbellum Generation จำนวนไม่น้อยรับราชการทหารอยู่แม้ว่าบางคนจะอายุมากก็ตาม

 แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ

ผศ.ชลาธิป  ชาญชัยฤกษ์
                                                   

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ