Lifestyle

ถอดรหัสครูศิลป์ถิ่นอีสานใต้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากรุ่นสู่รุ่น ครูช่างหัตถกรรม "สร้างสรรค์งานช่างฝีมือ" อนุรักษ์ สืบสาน งานศิลปหัตถกรรมไทยถิ่นอีสานใต้

ถอดรหัสครูศิลป์ถิ่นอีสานใต้

          คนไทยมีความละเมียดละไม ไม่ว่างานอะไรมักมุ่งมั่นตั้งใจทำเต็มที่ อย่างงานหัตถกรรมก็เป็นอีกแขนงที่คนไทยทั่วทุกภาคมีฝีมือเป็นเอกลักษณ์ ก่อเกิดเป็นผลงานทรงคุณค่า ซึ่งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดให้คงอยู่ในวิถีชีวิต ล่าสุดได้จัดกิจกรรมสัญจรตามรอยงานศิลปหัตถกรรมไทยถิ่นอีสานใต้ จังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ เพื่อเรียนรู้เทคนิคการสร้างสรรค์งานเครื่องเงิน งานทอผ้าโฮล และผ้าซิ่นตีนแดง หวังเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หาดูได้ยากให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น       

ถอดรหัสครูศิลป์ถิ่นอีสานใต้

อัมพวัน พิชาลัย

          ในฐานะหัวเรือใหญ่ อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า งานหัตถกรรมถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติที่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ และกระบวนการสร้างสรรค์งานผ่านช่างฝีมือที่มีความรู้ความชำนาญจากรุ่นสู่รุ่น หากแต่ความรู้เหล่านี้ไม่ได้มีการบันทึกหรือเก็บรวบรวมไว้ให้เป็นรูปธรรม จึงลบเลือนและสูญหายไปตาลเวลา ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในฐานะหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ สืบสาน และรวบรวมงานหัตถศิลป์ไทยให้คงอยู่ในวิถีชีวิตปัจจุบัน โดยดำเนินการสืบค้น และให้ความสำคัญกับบุคคลทรงคุณค่าเหล่านี้เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเผยแพร่คุณค่าของผลงานหัตถศิลป์สู่ผู้สนใจทั้งเยาวชนและสาธารณชนได้รู้จักอย่างกว้างขวาง ตลอดจนเป็นการเก็บรักษาข้อมูลภูมิปัญญาศิลปหัตถกรรมของครูช่างเหล่านี้ไว้เป็นแหล่งความรู้แม่แบบ เพื่อถ่ายทอดแก่คนรุ่นหลังสืบต่อไป

          ถอดรหัสครูศิลป์ถิ่นอีสานใต้

ครูป่วน เจียวทอง

          ที่บ้านโชค ต.เขวาสินรินทร์ อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ ครูป่วน เจียวทอง ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2552 ผู้เชี่ยวชาญงานช่างเครื่องโลหะ (เครื่องเงิน) ยังคงรังสรรค์ผลงานโดยเฉพาะตะเกา (ต่างหู) กับประเกือม (ลูกประคำ) มีความประณีตมาก โดยได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ลวดลายเลียนแบบธรรมชาติ เช่น ลายรังผึ้ง รังแตน รังหอกโปร่ง รังหอกปิด ดอกปลึก เป็นต้น และยังคงถ่ายทอดความรู้ในการทำเครื่องเงินให้สมาชิกในครอบครัว เครือญาติ และเพื่อนบ้านที่สนใจโดยไม่หวงวิชา อีกทั้งเป็นวิทยากรพิเศษให้แก่หน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จ.สุรินทร์ 

          “ตอนนี้ช่างทำเงินเหลือน้อยเต็มที จากเมื่อก่อนที่ใครเข้ามาในหมู่บ้านจะได้ยินเสียงตีเงินแทบทุกหลังคาเรือน แต่ทุกวันนี้เหลืออยู่แค่ 10 บ้าน ส่วนหนึ่งเกิดจากคนรุ่นใหม่ไม่สนใจ เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทน ละเอียดอ่อน แล้วเงินวัตถุดิบสำคัญก็หายากขึ้นต้องนำเข้าจากประเทศลาว เราเลยเปิดสอนทุกขั้นตอนการทำ บ้างก็ให้นำชิ้นงานไปทำที่บ้าน เสร็จแล้วส่งมาให้เรา จากนั้นจึงนำมาร้อยเป็นเส้นตามจินตนาการ เราอยากสืบสานงานเหล่านี้ไว้จึงมีทั้งผลิตลายต่างๆ แล้วเก็บไว้เป็นต้นแบบ และรับผลิตจากการออเดอร์ลูกค้า รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานนี้” ครูป่วน กล่าว  

ถอดรหัสครูศิลป์ถิ่นอีสานใต้

ครูสุรโชติ ตามเจริญ

          ในตำบลเดียวกันจากหัตถกรรมเครื่องเงินโบราณ มุ่งหน้าสู่บ้านนาตัง หมู่ 8 เพื่อพูดคุยกับ ครูสุรโชติ ตามเจริญ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2559 ถึงการอนุรักษ์งานผ้าโฮลโบราณด้วยภูมิปัญญาชาวไทยเชื้อสายเขมร ที่มีความชำนาญในการมัดลายและการย้อมสีจากธรรมชาติ ผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ช่วยให้สีติดสวย โดยครูสุรโชติ บอกว่า “โฮล” เป็นภาษาเขมร เป็นชื่อเรียกกรรมวิธีการผลิตผ้าไหมที่สร้างลวดลายขึ้นจากกระบวนการมัดย้อมเส้นไหมให้เกิดสีสันและลายต่างๆ ก่อนแล้วจึงนำไปทอ 

ถอดรหัสครูศิลป์ถิ่นอีสานใต้

สาธิตการย้อมไหมจากสีธรรมชาติ

          “ครั่งจะย้อมในน้ำอุ่นๆ ใส่ใบเหมือดแอ ใบชงโค ใบมะขามให้สีแดงสวย ส่วนสีเหลืองย้อมด้วยมะพูดผสมกับแก่นเข ได้เป็นสีเหลืองทองอร่าม และย้อมครามด้วยวิธีย้อมเย็นทำให้ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของผ้าโฮลที่มีสีสด บวกกับลวดลายมัดหมี่ที่โดดเด่นงดงามผ่านกระบวนการทอเป็นผ้า รักษาเอกลักษณ์ลายเชิงกรวย ลายหมาแหงน ลายปะกากะตึบเครือ ลายดอกทับทิม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ไว้อย่างสมบูรณ์”  ครูสุรโชติ กล่าวพร้อมกับบอกว่าตั้งใจถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชนรุ่นหลัง ซึ่งทุกวันนี้นอกจากลูกชาย (สุรศักดิ์ ตามเจริญ) จะเข้ามาเรียนรู้และสานต่อแล้ว ตัวเองยังเป็นวิทยากรสอนการทอผ้าโฮลตามชุมชนต่างๆ ด้วย     

ถอดรหัสครูศิลป์ถิ่นอีสานใต้

ครูรุจาภา เนียนไธสง

          มาที่ ต.บ้านยาง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เพื่อชมงานทอผ้าไหมมัดหมี่ (ซิ่นตีนแดง) ของ ครูรุจาภา เนียนไธสง ครูช่างหัตถกรรมปี 2557 ผู้ชำนาญในการทอผ้าไหมมัดหมี่ จุดเด่นคือเลี้ยงไหมและสาวไหมเอง ซึ่งเป็นไหมพื้นบ้านใช้การสาวลงตะกร้าด้วยมือจนได้รับพระราชทานตรานกยูงทองจากกรมหม่อนไหม ลายที่โดดเด่นคือลายนกยูงทอง ใช้เทคนิคการทอผสมผสานกับการเขียนลายทองสร้างมิติได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งครูรุจาภา เล่าว่าเอกลักษณ์ของผ้าซิ่นตีนแดง อ.พุทไธสง คือเป็นผ้าทอด้วยไหมทั้งผืน เส้นพุ่งจะใช้ไหมเส้นใหญ่ เส้นยืนใช้ไหมเส้นเล็ก ปัจจุบันทอทั้งแบบ 2 ตะกอ 3 ตะกอ และ 5 ตะกอ จะได้ผ้าที่มีความแตกต่างกัน ผ้าซิ่นตีนแดงนอกจากจะใช้สำหรับนุ่งแล้ว ทุกวันนี้ยังมีการพัฒนาการทอเพื่อใช้เป็นผ้าสำหรับตัดชุด ตัดเย็บเป็นกระเป๋า พวงกุญแจ ปลอกหมอน เป็นต้น อีกทั้งยังได้พัฒนาคุณภาพ มีการคิดค้นลวดลายใหม่ๆ เช่น ลายกำแพงเมืองจีน เป็นต้น 

          สำหรับผู้สนใจหัตถกรรมไทย สามารถศึกษาค้นคว้าได้ที่ SACICT อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา www.sacict.or.th

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ