Lifestyle

“ต้นกล้าใหม่ของสังคม” คว้าดาวเด่นบัวหลวง 101 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สายตาที่มุ่งมั่นของเด็กคิดที่จะต่อยอดเรื่องเก่าไปสู่โลกกว้าง

“ต้นกล้าใหม่ของสังคม” คว้าดาวเด่นบัวหลวง 101 

          ความสามารถในการสร้างผลงานศิลปะ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์จากฝีมืออันวิจิตรบรรจงผ่านเอกลักษณ์แห่งตัวตน เป็นหัวใจของความเป็นศิลปิน  และส่วนประกอบที่สำคัญไม่แพ้กันคือการใฝ่หาประสบการณ์เพื่อเกิดพัฒนาการอยู่เสมอ 
          โครงการ “ดาวเด่นบัวหลวง 101” โครงการแข่งขันวาดภาพสด โดยความร่วมมือของมูลนิธิบัวหลวง  ร่วมกับ  มูลนิธิหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  เพื่อจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจทางด้านงานศิลปะ สนับสนุน เสริมสร้างศิลปินหนุ่มสาวรุ่นใหม่  ให้มีเวทีแสดงออกถึงความสามารถทางด้านการรังสรรค์ศิลปะ ในการจัดการประกวดในปีนี้ หัวข้อในการสร้างสรรค์งานคือ  “ประเทศไทย : อรุโณทัยแห่งจินตนาการ” โดยเปิดโอกาสให้ตัวแทนนักศึกษาจาก 32 สถาบัน จำนวน 70 คน ส่งผลงานเข้าประกวด โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ศ.กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี, ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์, ศ.เกียรติคุณปรีชา  เถาทอง,  อาจารย์ธงชัย รักปทุม,  ศาสตราเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร และ ศ.วิโชค มุกดามณี  มาร่วมตัดสินผลงาน เมื่อวันก่อน

“ต้นกล้าใหม่ของสังคม” คว้าดาวเด่นบัวหลวง 101 

          สำหรับในปีนี้ผลงานที่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการ ให้รับรางวัลดาวเด่นบัวหลวงยอดเยี่ยม คือ “ต้นกล้าใหม่ของสังคม” ที่รังสรรค์โดย "เอ็ม" ฤทธิเดช เสียงเส้ง จากมหาวิทยาลัยทักษิณ ด้วยเทคนิคสื่อผสม จากไม้กระดาน ได้แรงบันดาลใจจากวิถีชนบท ความเป็นอยู่ของที่บ้านของเขา ซึ่งเป็นชาวสวนในจังหวัดตรัง ภาพแสดงถึงความหวังให้กับเด็กรุ่นหลัง ซึ่งเปรียบเสมือนต้นกล้าใหม่ เป็นอนาคตของประเทศไทย สายตาที่มุ่งมั่นของเด็กคิดที่จะต่อยอดเรื่องเก่าไปสู่โลกกว้าง  

“ต้นกล้าใหม่ของสังคม” คว้าดาวเด่นบัวหลวง 101 

ฤทธิเดช เสียงเส้ง

          "เอ็ม" ฤทธิเดช เสียงเส้ง เล่าว่า ที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ส่งผลงานเข้าประกวดอยู่บ้าง แต่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการในลักษณะนี้ ซึ่งในช่วง 10 วัน ผมได้รับมิตรภาพดีๆ จากเพื่อนๆ ได้เรียนรู้ความคิดใหม่ๆ ได้เจออาจารย์และศิลปินมืออาชีพที่มาแนะนำเส้นทางที่ดีให้กับผม การได้รับรางวัลในครั้ง ตอนแรกที่เข้าเรียนมาก็ได้ไม่ได้ตั้งความหวังหรือเป้าว่าตัวเองจะไปในเส้นทางไหนอย่างไร แต่เมื่อได้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมทางด้านศิลปะ จึงมีความคิดที่ไต่เต้าไปสู่จุดที่สูงขึ้นในอนาคต และตอนนี้ผมก็คิดว่าผมกำลังจะไปถึงจุดที่วางเป้าหมายไว้ให้ได้ โดยรางวัลนี้ คือก้าวแรกที่สำคัญมากสำหรับผม มันทำให้ผมมั่นใจว่า ที่เดินมามันใช่ และช่วยผลักดันให้เราก้าวขึ้นสู่ความเป็นศิลปินมืออาชีพในอนาคต”  

“ต้นกล้าใหม่ของสังคม” คว้าดาวเด่นบัวหลวง 101 

ผานิตชา จันทรสมโภช

          "เพียว" ผานิตชา จันทรสมโภช คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร กับรางวัล ดาวเด่นบัวหลวงความคิดสร้างสรรค์   จากผลงาน “อรุณสวัสดิ์” ด้วยเทคนิคบาติก ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของการย่างเข้าสู่รัชสมัยในรัชกาลที่ 10 ในขณะที่ยังสำนึกและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 “การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ เกิดการทดลองใหม่ และได้แลกเปลี่ยนเทคนิคต่างๆ จากเพื่อนๆ ทำให้เราได้พัฒนา ได้มีเทคนิคใหม่กลับไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไป และนี่ถือเป็นการเข้าร่วมโครงการประกวดเป็นครั้งแรก  เมื่อได้รับรางวัลก็รู้สึกภาคภูมิใจ ถือเป็นก้าวสำคัญที่ส่งเสริมเส้นทางการเข้าสู่การเป็นศิลปินมืออาชีพต่อไป จริงๆตอนแรกคิดว่า แค่ได้เข้าร่วมโครงการก็ดีแล้ว ถึงไม่ได้รับรางวัลอะไร อย่างน้อยก็ได้แสดงผลงานให้ผู้อื่นได้ชม แค่นั้นก็ดีใจแล้ว” นส.ผานิตชา กล่าว

“ต้นกล้าใหม่ของสังคม” คว้าดาวเด่นบัวหลวง 101 

เทิดธันวา คะนะมะ

         ด้าน "เทิน" เทิดธันวา คะนะมะ คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร กับรางวัล ดาวเด่นบัวหลวง ดีเด่น จากผลงาน   “ยุคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี” ด้วยเทคนิคสื่อผสม  เล่าเรื่องราวผ่านแผ่นเหล็กอันเป็นตัวแทนของยุคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่กำลังเฟื่องฟู พร้อมแนวคิดที่ว่า การพัฒนาทางด้านจิตใจก็ควรจะยกระดับตามไปด้วย ก็กล่าวถึงประสบการณ์ได้รับว่าการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องการแข่งขันหรือมาดูผลงานของเพื่อนต่างสถาบัน แต่เป็นการได้โอกาสฝึกฝน การได้มีมิตรภาพและแลกเปลี่ยนความคิด 
         ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินในครั้งนี้และหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งโครงการดาวเด่นบัวหลวง กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการเป็นศิลปินมืออาชีพ คือสร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง และการส่งผลงานเข้าประกวดก็เป็นทางลัดหนึ่งสู่การเป็นศิลปินมืออาชีพ ยิ่งประกวดบ่อย ก็ยิ่งเพิ่มประสบการณ์ แต่ไม่เพียงเท่านั้น เส้นทางสู่ศิลปินมืออาชีพนอกจากการเข้าประกวดเวทีระดับชาติแล้ว ก็ยังต้องอาศัยองค์ประกอบอีกหลายอย่าง 
         “นอกจากการมีผลงานที่ดีแล้ว ต้องมีสังคมที่ดีด้วย เราต้องไปงานแสดงศิลปะของรุ่นพี่ ครูบาอาจารย์ งานแสดงผลงานของศิลปิน ไปเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติระหว่างรุ่นพี่รุ่นพี่รุ่นน้อง  ไปเพื่อพบปะกับนักสะสมผลงานศิลปะ  การได้ดูผลงานศิลปะมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ได้พบกับคนในแวดวงศิลปะมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี   ถ้าเราเขียนรูปแล้วเก็บตัว มันไม่มีโอกาสในยุคสมัยนี้. 
         ในตอนท้าย อ.เฉลิมชัย ยังกล่าวย้ำว่า เส้นทางของผู้ที่อยากเป็นศิลปินมืออาชีพ ต้องทำงานให้ดี และมีความกว้างขวาง  ต้องออกไปพบปะผู้คน  และพัฒนางานงานตัวเองให้ดีขึ้นเสมอ รวมทั้งใช้โอกาสของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น โดยเฉพาะโลกอินเตอร์เน็ตในการโชว์ผลงาน ซึ่งเป็นช่องทางที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับตัวเองได้  สำหรับผู้ที่สนใจผลงานที่เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการสร้างสรรค์ขึ้น  สามารถเข้าชมได้ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560-13 มกราคม 2561
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ