Lifestyle

จุดประกายการเรียนรู้วิทย์ให้ครูสู่เด็ก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู เปรียบเสมือนเวทีกลางขนาดใหญ่ที่ทำให้ได้พบกับคุณครูที่เป็นสื่อกลางสำคัญในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไปถ่ายทอดสู่เด็กๆ

      หลายคนมองว่า “วิทยาศาสตร์” เป็นเรื่องไกลตัวและยากที่จะเข้าถึง ทำให้การถ่ายทอดองค์ความรู้หรือสร้างความสนใจสู่เยาวชนทำได้ยาก องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แก่สังคมไทย จึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานมหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 10 (EDUCA 2017) เพื่อส่งผ่านองค์ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์ผ่าน “คุณครู” ซึ่งเป็นสื่อกลางไปสู่เยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ ที่ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อวันก่อน

จุดประกายการเรียนรู้วิทย์ให้ครูสู่เด็ก

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์

      ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวว่า งานมหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู เปรียบเสมือนเวทีกลางขนาดใหญ่ที่ทำให้ได้พบกับคุณครูที่เป็นสื่อกลางสำคัญในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้แก่เด็กๆ เพราะนอกจากครอบครัวแล้ว ครูคือผู้มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และเกิดความรักในวิทยาศาสตร์ เราจึงเข้ามาร่วมจัดนิทรรศการและจัดเวิร์กช็อปต่างๆ ให้แก่คุณครูในงาน EDUCA เพื่อทำให้ครู เด็กๆ และสังคมตระหนักข้อเท็จจริงว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว และไม่ได้ยากอย่างที่คิด ขณะเดียวกัน การเข้าร่วมงาน EDUCA ทำให้ อพวช.ได้รับรู้ถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่มาจากวิทยากรชั้นนำจากต่างประเทศ รวมทั้งมีโอกาสได้เข้าถึงคุณครูโดยตรง ได้ทราบปัญหาของคุณครูทั้งหลายว่ามีอะไรบ้าง ตลอดจนเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับปรุง พัฒนาหรือเอามาช่วยในภารกิจของอพวช.เอง ก่อนที่จะกลั่นกรองและส่งผ่านไปยังครู รวมทั้งนักการศึกษาของประเทศต่อไป

จุดประกายการเรียนรู้วิทย์ให้ครูสู่เด็ก

กรรณิการ์ เฉิน ร่วมเรียนรู้การทดลองวิทยาศาสตร์

      “สำหรับกิจกรรมในงานปีนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่  “การจัดเวิร์กช็อป” คือเวิร์กช็อปการทำของเล่นวิทยาศาสตร์ เพราะของเล่นเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเด็กที่สุด และเป็นสิ่งที่เด็กให้ความสนใจมากที่สุด สิ่งที่เราอยากจะสื่อให้เห็นคือ ของเล่นหลายๆ ชิ้น มีเรื่องของวิทยาศาสตร์อยู่ในนั้น และมันสามารถทำได้ง่ายๆ โดยใช้วัสดุใกล้ตัว เป็นการนำวิทยาศาสตร์มาเสริมกับเรื่องของภูมิปัญญา คุณครูสามารถนำของเล่นไปกระตุ้นหรือเป็นสื่อให้เด็กสนใจวิทยาศาสตร์ได้ หรือเวิร์กช็อปเกี่ยวกับเรื่องดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เด็กๆ น่าจะสนใจ ความสงสัยของเด็กจะเป็นเครื่องกระตุ้น ความอยากรู้อยากเห็น เมื่อเด็กเกิดทั้งสองสิ่ง ก็จะเปิดกว้างในการรับรู้ ทำให้เราสามารถสอดแทรกเรื่องของวิทยาศาสตร์เข้าไปได้  “บูธนิทรรศการวิทยาศาสตร์” ภายในบูธได้ถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ จัดแสดงสื่อและของเล่นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เพื่อให้คุณครูและผู้เข้าชมงานเกิดไอเดียไปต่อยอดในการส่งผ่านความรู้วิทยาศาสตร์สู่เยาวชน” ผู้อำนวยการ อพวช. กล่าว

จุดประกายการเรียนรู้วิทย์ให้ครูสู่เด็ก

      นอกจากนี้ ผศ.ดร.รวิน ย้ำว่า ต้องยอมรับว่าเด็กไทยบางส่วนยังกลัววิทยาศาสตร์ แต่แท้จริงแล้ววิทยาศาสตร์อยู่รอบๆ ตัวเรา ตั้งแต่ตื่นนอนมา พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก ก็คือวิทยาศาสตร์ ครูเองมีส่วนสำคัญมากในการทำให้เด็กรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องง่าย และไม่น่ากลัว คุณครูอาจปรับบทบาทพาเด็กๆ ไปยังแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนให้มากขึ้น ให้เด็กได้สัมผัสเรื่องราวต่างๆ มากกว่าในหนังสือ สอดคล้องกับนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน ขณะเดียวกัน ต้องให้ความสำคัญกับคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็น 2 วิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ควบคู่กันไปด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ