Lifestyle

“ล้ง 1919” ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมเจ้าพระยา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จุดเชื่อมความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกว่า 167 ปี

“ล้ง 1919” ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมเจ้าพระยา

          หากใครเคยมีโอกาสล่องเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาชมความสวยงามของ 2 ฝั่งน้ำ ต้องเคยสังเกตเห็นพื้นที่อันเก่าแก่ของตระกูล “หวั่งหลี” ที่ยังหลับใหลอยู่เป็นเวลานาน แต่ใครจะรู้ว่าพื้นที่แห่งนี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ในนาม ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” สถานที่อันเป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์อันรุ่งเรือง ในช่วงยุคทองของการค้าระหว่างไทย-จีน นับแต่นั้นมา เมื่อกาลเวลาผ่านไปการค้าทางเรือถูกเข้ามาแทนที่ด้วยการคมนาคมอื่นๆ ที่ทันสมัยขึ้น ท่าเรือแห่งนี้จึงถูกลดบทบาทลง กระทั่งวันเวลาเดินทางมาถึงวันนี้ ตระกูล “หวั่งหลี” ในฐานะเจ้าของ ต้องการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมไทย-จีน ปลุกชีวิตมรดกของบรรพบุรุษที่หลับใหลให้ตื่นคืนชีวิตชีวาอีกครั้งในนาม “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมี  รุจิราภรณ์ หวั่งหลี ผู้ก่อตั้งโครงการ รับหน้าที่ในการสร้างสรรค์

“ล้ง 1919” ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมเจ้าพระยา

รุจิราภรณ์ หวั่งหลี

         หัวเรือใหญ่ รุจิราภรณ์ หวั่งหลี  กล่าวว่าด้วยความรัก ความภาคภูมิใจ และหัวใจอนุรักษ์ ของลูกหลานตระกูล หวั่งหลี นำมาสู่โครงการ “ล้ง 1919” ที่เป็นมากกว่าการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกของครอบครัว อีกทั้งคือการดำรงรักษามรดก เชิงศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ศิลป์อันเป็นมรดกของชาติ และมรดกของโลกสืบไป ครั้งนี้ทุกคนในบ้านหวั่งหลีต่างเห็นพ้องกันว่า เห็นควรแก่การปลุก “ฮวย จุ่ง ล้ง” ที่หลับใหลมาเป็นเวลายาวนาน ให้ตื่นขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง และในขณะเดียวกัน ก็ยังคงรักษารูปร่างหน้าตาแบบดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งสร้างครั้งแรก

“ล้ง 1919” ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมเจ้าพระยา

         "เมื่อได้บูรณะขึ้นมาแล้ว เราจึงอยากเปิดให้เป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนภายนอก นักเรียนนักศึกษา รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้เข้ามาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผ่านศิลปะและวัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเล ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งโครงการนี้เป็นการบูรณะเชิงอนุรักษ์ ที่ยึดหลักการรักษาโบราณสถานให้คงสภาพงดงามตามสภาพให้ได้มากที่สุด ด้วยการใช้วิธีการบูรณะและวัสดุแบบโบราณ เช่น ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังบริเวณรอบวงกบประตูและหน้าต่าง บูรณะด้วยการใช้สีที่ตรงกับของเดิม ค่อยๆ บรรจงแต้มเติมรอยจางให้ชัดขึ้น โดยไม่ได้เอาสีสมัยใหม่เข้าไประบายทับหรือวาดเพิ่มเติม หรืออย่างเช่น การบูรณะผนังอิฐ ส่วนที่แตกร่อนก็คงสภาพไว้ตามนั้น บูรณะโดยการใช้ปูนจากธรรมชาติแบบโบราณ มาบูรณะช่วงรอยต่อที่แตก เพื่อไม่ให้ปูนหลุดร่อนไปมากกว่าเก่า ส่วนโครงสร้างไม้สักนั้น ส่วนไหนที่ชำรุด ก็นำไม้จากส่วนอื่นๆ ของอาคารมาต่อเติม โดยไม่ทิ้งไม้เก่า เราตั้งใจและทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อให้ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) กลายเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทยจีน ที่นอกจากจะเป็นความภูมิใจของลูกหลานตระกูลหวั่งหลีเองแล้ว ยังรวมถึงลูกหลานชาวไทยจีนทุกคนด้วย" รุจิราภรณ์ เผยถึงความตั้งใจของลูกหลาน

“ล้ง 1919” ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมเจ้าพระยา

         ทั้งนี้ รุจิราภรณ์ ฉายภาพย้อนให้ฟังเพิ่มเติมว่า หากกล่าวย้อนกลับไปถึงยุคทองของการค้าไทย-จีน ต้องมองย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 4 เพราะหลังจากมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ซึ่งมีสาระสำคัญในการเปิดฉากการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยามประเทศ ตั้งแต่นั้นมา พ่อค้าต่างประเทศก็เข้ามาติดต่อค้าขายในประเทศไทยอย่างอิสระ เมื่อมีการเปิดเมืองท่า พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ริเริ่มลงทุนสร้างเรือกลไฟ ซึ่งคือเรือโดยสารหรือบรรทุกสินค้าที่ใช้ฟืนเป็นต้นเป็นเชื้อเพลิงมีขนาดใหญ่กว่าเรือไฟนิยมใช้แล่นในทะเลหรือมหาสมุทร และได้สร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้น ประมาณปี พ.ศ.2393 (ค.ศ.1850) เป็นท่าเรือชื่อ “ฮวย จุ่ง ล้ง” เป็นภาษาจีน เขียนว่า 火 船 廊 หมายถึง “ท่าเรือกลไฟ” สำหรับให้ชาวจีนที่เดินทางทางเรือมาค้าขายหรือย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่ประเทศไทยมาเทียบเรือ พร้อมลงทะเบียนชาวต่างชาติที่เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่โดยเฉพาะที่ท่าแห่งนี้ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งการค้าธุรกิจ โดยตัวอาคารท่าเรือ เป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น  จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ โดยจอดเรือที่ท่าเรือด้านหน้า และนำสินค้ามาโชว์ในร้านในอาคาร เหมือนเป็นโชว์รูม ซึ่งนับเป็นท่าเรือกลไฟที่ใหญ่ที่สุดของไทย ในสมัยนั้น จนในปี พ.ศ.2462 (ค.ศ.1919) ตระกูล “หวั่งหลี” โดย นายตัน ลิบ บ๊วย ได้เข้ามาเป็นเจ้าของ อาคารท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” คนใหม่ต่อจาก พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) และได้ปรับท่าเรือดังกล่าวให้กลายเป็นอาคารสำนักงาน และโกดังเก็บสินค้า สำหรับกิจการการค้าของตระกูลหวั่งหลี ต่อมาได้ปรับโกดังสำหรับเก็บสินค้าการเกษตรที่ขนส่งมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าราคากันเองสำหรับพนักงานในพื้นที่เรื่อยมา 

“ล้ง 1919” ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมเจ้าพระยา

ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว

          นอกจากนั้น คุณค่าสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนจีนที่นี่ ที่เป็นศูนย์รวมใจ ได้แก่ “ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว” (MAZU) คลองสาน ที่ประดิษฐานอยู่คู่ “ฮวย จุ่ง ล้ง” มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนปัจจุบัน โดยเป็น เจ้าแม่หม่าโจ้วโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ทำจากไม้ มี 3 ปาง ปางแรกคือปางเด็กสาว ให้พร ด้านการขอบุตร ปางที่สองคือปางผู้ใหญ่ ให้พรในด้านการค้าขายเงินทองและ ปางที่สามคือปางผู้สูงอายุ ซึ่งเชื่อว่าท่านประทับอยู่บนสวรรค์ และมีเมตตาจิตสูง ซึ่งทั้ง 3 ปางนี้ เป็นองค์ที่ชาวจีนนำขึ้นเรือเดินทางมาจากเมืองจีน เมื่อมาถึงเมืองไทยจึงอัญเชิญประดิษฐานที่ศาลแห่งนี้ อายุเก่าแก่มากกว่า 167 ปี เวลาคนจีนเดินทางโพ้นทะเลมาถึงฝั่งประเทศไทย ก็จะมากราบสักการะท่าน เพื่อเป็นการขอบคุณที่ช่วยทำให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ และเมื่อจะเดินทางกลับไปประเทศจีน ก็จะมากราบลาเจ้าแม่ที่นี่เช่นกัน เจ้าแม่หม่าโจ้ว จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนจีนในแผ่นดินไทย ซึ่งคนจีนที่ทำการค้าในไทยจนเจริญร่ำรวยเป็นเศรษฐี ก็ล้วนก่อร่างสร้างตัวมาจากที่นี่

“ล้ง 1919” ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมเจ้าพระยา

          นอกจากคุณค่าในฐานะสถานที่ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยจีนแล้ว ยังเปี่ยมด้วยคุณค่าเชิงสุนทรียะด้านสถาปัตยกรรม “ฮวย จุ่ง ล้ง” ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นและเครื่องหลังคาสร้างจากไม้เสาสร้างลักษณะป่องกลางที่คนจีนนิยม ลักษณะเป็นหมู่อาคารแบบ “ซาน เหอ หยวน” (三 合 院)ซึ่งเป็นการออกแบบวางผังอาคารในแบบจีนโบราณ ลักษณะอาคาร 3 หลัง เชื่อมต่อกัน 3 ด้านเป็นผังรูปทรงตัว U มีพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารทั้งสามหลังเป็นลานอเนกประสงค์ อาคารประธาน ด้านในเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (MAZU) คลองสาน ส่วนอาคารอีก 2 หลัง ด้านข้างใช้สำหรับเป็นอาคารสำนักงานและโกดังสินค้า

“ล้ง 1919” ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมเจ้าพระยา

          อีกเสน่ห์ที่พลาดไม่ได้คือ การค้นพบภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้สีที่ฉาบทับไว้ ซ้ำไปมาหลายต่อหลายชั้นมาเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นการเขียนสีด้วยพู่กันลงบนผนังปูน จึงทำให้ภาพจิตรกรรมเหล่านั้นยังคงผนึกไว้และไม่ถูกลบหายไป กอปรกับลักษณะการออกแบบและขนาดของแต่ละห้องที่แตกต่างกัน สะท้อนให้เห็นว่าเป็นแหล่งศูนย์ช่างฝีมือของชาวจีนในอดีต

“ล้ง 1919” ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมเจ้าพระยา

          เหตุผลเหล่านี้ทำให้ “ฮวย จุ่ง ล้ง” มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ เพราะนอกจากเป็นการรักษาไว้ซึ่งสมบัติของบรรพบุรุษ และสืบต่อให้ลูกหลานสืบไปแล้ว ยังเป็นสมบัติทางประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกัน ก็เป็นสมบัติของคนไทยด้วย ตระกูลหวั่งหลี ผู้เป็นเจ้าของถือครองตระหนักถึงคุณค่านี้ จึงมีเจตนารมณ์ที่จะรักษามรดกของบรรพบุรุษชิ้นนี้ไว้ให้คงอยู่ตราบนาน โครงการบูรณะ ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ขึ้น จึงได้ริเริ่มขึ้น สำหรับโครงการบูรณะเชิงอนุรักษ์พร้อมพัฒนาและปรับโฉมสู่บทบาทใหม่ ในฐานะ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่อเนกประสงค์ สำหรับการจัดกิจกรรม นิทรรศการ งานเลี้ยงสังสรรค์ ร้านอาหาร - คาเฟ่ ร้านจำหน่ายสินค้าศิลปะและงานฝีมือของเหล่าศิลปินรุ่นใหม่ สถานที่พักผ่อน และพิพิธภัณฑ์ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจีนในอดีตบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

“ล้ง 1919” ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมเจ้าพระยา

          สำหรับโครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่บนถนนเชียงใหม่ เขตคลองสาน จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการภายใน ต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ LHONG 1919 หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ 091-1871919
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ