Lifestyle

สำหรับคนดีไม่มีใครเป็นคนอื่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - พระปลัดปิยศักดิ์ ปิยสกฺโก วัดแจ้ง สงขลา

“เงิน” เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็จริง แต่ความสุขที่แท้จริงนั้นไม่ใช่เงิน เพราะความสุขที่แท้จริงเกิดจากความรักความอบอุ่นและการดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกันอย่างจริงใจ 

จากทะเลสู่ภูผาเพชร...อีกหนึ่งเรื่องราวความประทับใจที่เกิดขึ้นครั้งแรกในชีวิตจิตอาสา

เช้าวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ คณะพระธรรมทูตและเยาวชนอาสา จ.สงขลา เข้าร่วมโครงการอบรมคุณธรรม จริยธรรม ปฏิบัติธรรม และสร้างเครือข่ายเยาวชนอาสา ทั้ง ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ๑๕ คน จำนวนเยาวชนที่เข้าร่วม ๗๕ คน ณ วัดนิคมพัฒนาราม (ผัง ๗) อ.มะนัง จ.สตูล เป็นเวลา ๓ วัน ๒ คืน

หลังจากปิดโครงการในภาคเช้า ภาคบ่ายก่อนเดินทางกลับ ได้นำเยาวชนอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้ เดินทางออกไปดูวิถีชีวิต ของเงาะป่าซาไก เป็นระยะทางห่างออกไป ๒๐ กว่ากิโลเมตร เยาวชนอาสา เมื่อได้ยินว่า “เราจะไปดูเงาะป่าซาไกกัน” ทำให้เยาวชนอาสารู้สึกตื่นเต้นกับภารกิจนี้เพราะบางคนจะได้พบเจอเป็นครั้งแรก 

ก่อนเดินทางวัดได้เตรียมข้าวสารอาหารแห้งพร้อมขนมไปให้เงาะป่าซาไก ออกเดินทางเวลาบ่ายโมง ทามกลางอากาศที่ร้อนระอุบวกกับความเหนื่อยจากค่าย แต่ใจยังสู้พร้อมออกเดินทางสู่ภูผาเพชร ตลอดการเดินทาง มีการทำถนนใหม่ บางแห่งลาดด้วยยางมะตอยยังไม่แห้ง จึงมีฝุ่นตลอดทั้งสาย

รถเดินทางไปเรื่อยๆ จนสุดสายถนนดำเข้าสู่รอยต่อถนนลูกรังมีสีแดงพร้อมฝุ่น มีต้นไม้ที่เขียวชอุ่มบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ทั้งสองข้างทาง ทำให้คิดถึงชีวิตของคนเราก็เปรียบเสมือนกันถนนที่บางครั้งก็ราบรื่นตลอดสาย บางครั้งก็มีการซ่อมแชม มีหลุมมีบ่อ ขรุขระ ฉันใด ชีวิตย่อมมีสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่บางครั้งก็มีอุปสรรคที่เข้าทดสอบบทเรียนบนถนนสายชีวิตนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน แต่อย่างไรชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป 

สักครู่หนึ่งรถของคณะจอดลง มีเยาวชนอาสาคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “ถึงแล้ว” เสียงเปิดประตูพร้อมก้าวลงจากรถสัมผัสกับความร้อนในขณะนั้น

ถึงแล้วก็จริงแต่คณะเราต้องเดินขึ้นเขาไปอีกประมาณ ๒ กิโลเมตร ...โอ้โห...เสียงเยาวชนคนถึงอุทานขึ้นมา แล้วพูดต่อไปว่า “ไม่เป็นไรเหนื่อยแค่ไหนก็สู้ยังอีกไม่ไกลแล้วเดียวก็ถึง” บอกถึงความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงสิ่งนั้น

คณะและเยาวชนอาสาช่วยกันคนละไม้ละมือในการนำข้าวสารอาหารแห้งสิ่งของต่างๆ เดินทางเรียงตามกันไปบนถนนสายเล็กๆ ปกคลุมด้วยหญ้าเป็นบางส่วน ผ่านสวนยางพาราเข้าไป ข้ามสะพานเล็กๆ ที่เรียงด้วยไม้พาดข้ามผ่านไปอีกฝั่ง 

ไม่นานก็ถึงที่พักของเงาะป่าซาไก มีเพิงพักประมาณ ๔-๕ หลัง มีเงาะป่าซาไกสูงอายุคนหนึ่งยืนต้อนรับด้วยรอยยิ้มแห่งมิตรภาพ

ผู้ที่นำคณะกล่าวทักทายว่า “กำนันๆ พระมาเยี่ยมนะ” (กำนันน่าจะเป็นหัวหน้าที่ดูแลหมู่บ้านแห่งนี้)

หลังจากนั้นก็มีผู้หญิงเดินออกมา ๓ คน คนหนึ่งอุ้มลูกน้อยที่กำลังดูดนมแม่อยู่ อีกคนเดินจับมือแม่ออกมา

ผู้ที่นำถามว่าผู้ชายไปไหนหมด กำนันชี้มือไปบนเขาแล้วบอกว่าไปหาสัตว์

คณะที่มาและเยาวชนอาสาเดินสำรวจรอบๆ ที่พักมองไปไม่เห็นเครื่องอำนวยความสะดวกเลย มีแต่กองฟื้นที่ก่อตั้งไว้ในเพิงพัก

ผู้ที่นำบอกให้รู้ถึงวิถีชีวิตของเงาะป่าอยู่กันอย่างพอเพียง ไม่จำเป็นต้องใช้สิ่งของที่ฟุ่มเฟือย ผู้ที่นำยังบอกให้เยาวชนได้รู้อีกว่าสังเกตดูเพิงพักหลังไหนที่ไม่มีประตูกั้น แสดงว่าหลังนั้นเป็นคนโสด แต่ถ้าหลังไหนมีประตูกั้น หลังนั้นเป็นครอบครัว

หลังจากที่เยาวชนเดินสำรวจดูวิถีชีวิตแล้วก็มอบสิ่งของต่างๆ ให้เงาะป่า พระอาจารย์ที่ร่วมคณะ สวดมนต์ให้พรแก่ครอบครัวเงาะป่าซาไก ทุกคนตั้งใจฟังอย่างสงบ ผู้เขียนมองดูด้วยความภูมิใจ คิดในใจว่าการได้อยู่ร่วมกันถึงแม้ไม่มีปัจจัยอะไรพิเศษอย่างคนอื่นแต่เขาก็อยู่ได้อย่างมีความสุข คือความอบอุ่น

คณะของเราถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน เพื่อเก็บภาพไว้ในความทรงจำดีๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนกลับเยาวชนอาสาล้วงไปในกระเป่ากางเกงแล้วหยิบเงินใบยี่สิบสองใบยื่นให้กำนัน กำนันรับเงินเยาวชนถามว่า “รู้จักไหมเงิน รู้ไหมว่ากี่บาท จ่ายเป็นไหม กำนันพยักหน้า เยาวชนบอกอีกว่าเก็บไว้ชื้อนมให้ลูกนะ” นี่คือคำถามด้วยความบริสุทธิ์ของเยาวชนและมีจิตอาสาให้โดยไม่หวังผลตอบแทนแล้วกำนันก็ส่งเงินให้ผู้หญิงที่กำลังอุ้มลูกน้อย 

จากนั้นคณะเดินกลับ กำนันยกมือไหว้หนึ่งครั้ง แล้วนั่งลงมองคณะเดินทางกลับจนสุดสายตาถึงแม้จะไม่มีอะไรเลย แต่กำลังใจจากคนรักและครอบครัวจะช่วยให้เราฝ่าฟันอุปสรรคทุกอย่าง ขอเป็นกำลังใจให้คนที่กำลังท้อแท้หมดหวังในชีวิตขอให้ยืนหยัดสู้ต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ