Lifestyle

ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ของเรา(จบ)พ้นทุกข์ด้วยปัญญา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“เมื่อแสงสว่างเกิดขึ้นในกายใจ เห็นความจริงในกายใจแล้ว ความมืดคืออวิชชามันก็เกิดไม่ได้” โดย  -   พระอาจารย์วิชัย กัมมสุทโธ

มัชฌิมาปฏิปทาคือทางสายกลาง คำว่า สายกลางบัญญัติออกคืออะไร คือมรรคองค์ ๘ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี่ท่านแสดงออก บางพระสูตรในพระไตรปิฎกท่านกล่าวแค่มรรค ๕ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ 

ท่านทำไมถึงกล่าวแค่ ๕ ท่านกล่าว ๕ ก็คือ ๘ นั่นเอง เพราะกายกรรม วจีกรรม มาจากมโนกรรม เมื่อมโนกรรมคุมได้เป็นกุศล ด้วยสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ กายกรรมวจีกรรมก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้นพูด ๕ เท่ากับพูด ๘ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ นี้คือกายกรรมวจีกรรมนั่นเอง 

เพราะฉะนั้นการฝึกฝนอบรมจิตเมื่อได้แล้ว กรรมทั้ง ๓ คือกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมมันก็ถูกต้อง เหตุนั้นให้เราเข้าใจให้ถูก ท่านแสดงธรรมครั้งแรกสุดคือมัชฌิมาปฏิปทา ทีนี้ถ้าพูด ๘ อาจจำลำบากหน่อย อาตมาก็บอกพูดง่ายๆ พูดข้อเดียว มัชฌิมาปฏิปทาหมายความว่า เราประพฤติปฏิบัติให้ตรงต่อเหตุปัจจัยสภาวธรรม ณ ขณะนั้นนั่นเอง นั่นล่ะคือตัวมัชฌิมาปฏิปทา 

ถ้าอธิบายอีกนิดหนึ่ง การที่จะประพฤติปฏิบัติให้ตรงต่อเหตุปัจจัยพอดีต่อเหตุปัจจัยนั้น มันต้องอาศัยสัมมาทิฐิ คือความเห็นชอบคือตัวปัญญา เมื่อตัวปัญญาเกิด มันอ่านเหตุปัจจัยนั้นออก มันจึงดำริที่จะกระทำออกมาตรงใช่ไหม มันจึงพูด จึงกระทำได้ตรง เพราะฉะนั้นเมื่อเราทำตรงตามเหตุปัจจัย ตามสภาวธรรม นั่นล่ะคือมัชฌิมาปฏิปทานั่นเอง นี่ย่นง่ายๆ ๘ ข้อ ย่นลงเหลือ ๑ ต้องใช้สติปัญญาวิจัยอยู่ตรงนั้น พินิจพิจารณาอยู่ตรงนั้น 

การปฏิบัติธรรมเราฝึกสติเพื่อให้สตินั้นมาตั้งมั่นที่กายที่ใจ หรือที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ฝึกสมาธิเพื่อให้มันมาตั้งมั่นที่กายที่ใจ หรือที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจนั่นเอง เมื่อสติสมาธิตั้งมั่นที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจแล้ว สิ่งใดมากระทบ มีผัสสะเกิดขึ้นเมื่อไร เมื่อมันยังมีความหลง มันย่อมแสดงความทุกข์ออกมา จริงไหม เมื่อมันแสดงความทุกข์ออกมา สติสมาธิที่ฝึกไว้แล้ว สังเกตสังกาอยู่ มันย่อมเห็นตัวทุกข์ ย่อมสาวไปหาอะไรเป็นเหตุให้ทุกข์ มันก็ย้อนไปพินิจพิจารณา ย้อนพิจารณาอะไรเป็นเหตุ เมื่อมันย้อนพิจารณาหาเหตุหาผล มันเห็นเหตุแล้วความทุกข์มันก็ดับ นั้นล่ะเรียกว่าปัญญามันเกิด 

ปัญญาไม่ได้เกิดจากการนั่งสมาธิ ทำสมาธิแล้วให้มันเกิดเอง ปัญญาต้องพาออกก้าวเดิน ต้องสอน ต้องสังเกตสังกาพินิจพิจารณาสภาวธรรมในกายใจเรานี้เรื่อยๆ ไม่ใช่นั่งแล้วมันจะเกิด ถ้านั่งมุ่งต่อความสงบ ความมุ่งต่อความสงบมันก็สงบหน้าเดียว แต่มันไม่รู้ตัวมัน ไม่รู้จักตัวมัน มันสงบไม่มีกิเลสก็จริง แต่ความรู้แจ้งในสภาวธรรมนั้นยังไม่เกิด เมื่อไรที่มีสิ่งกระทบขึ้นมา มันคุมไม่ได้ มันก็เกิดขึ้นมาให้เห็นนั่นเอง 

เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวไว้ บริสุทธิ์ด้วยปัญญา หลุดพ้นด้วยปัญญา สมาธิสติเป็นแค่บาท เป็นแค่ฐานให้ปัญญาออกก้าวเดิน เมื่อปัญญาออกก้าวเดิน คลี่คลายพินิจพิจารณาสภาวธรรมทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ เห็นแจ่มแจ้งชัดแจ้งแล้วตามความเป็นจริงเมื่อไร ความหลงย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ความหลงตั้งอยู่ไม่ได้ความทุกข์ก็เกิดไม่ได้ ความทุกข์เกิดไม่ได้ ความไม่ทุกข์ก็ตามมาเป็นผลนั่นเอง 

เหตุนั้นการที่จะไม่ทุกข์ ก็ต้องอาศัยการเจริญสติสมาธิปัญญาตั้งแต่ฝึกเบื้องต้น จนมันละเอียดเข้าไปตามดูทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ถ้าฝึกมันมีกำลัง มันเป็นอินทรีย์มันเป็นพละเมื่อไร มันตามเองไม่ต้องบอกมัน มันตามทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ มันตามของมันอัตโนมัติ ท่านจึงกล่าวว่ามันเป็นอัตโนมัติ สติปัญญาอัตโนมัติ มันจะคลี่คลายมันจะตามของมันเอง มันเห็นตรงไหน เข้าใจตรงไหน ความหลงความยังไม่เข้าใจจุดนั้นก็ดับไป ไม่ต้องไปตามฆ่ากิเลส คลี่คลายหาความจริงในจุดนั้นให้เจอ ถ้าเจอเมื่อไร กิเลสมันหายเอง ไม่ต้องไปละ ไม่ต้องไปฆ่า 

เหมือนวันนี้มันมืดอยู่ ที่เราไม่ต้องไปทำลายความมืด เราจะเอาสวิงเอาถุงเอาอะไรมาใส่ความมืดไหม ที่เห็นกันอยู่นี้เพราะอะไร เพราะไฟเปิดใช่ไหม จริงไหม เหตุนั้นท่านตรัสไว้ ปัญญา โลกัสมิ ปัชโชโต ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก  เมื่อแสงสว่างเกิดขึ้นในกายใจ เห็นความจริงในกายใจแล้ว ความมืดคืออวิชชามันก็เกิดไม่ได้ มันหายเองไม่ต้องไปฆ่ามัน ไม่ต้องไปทำลายมัน ไม่ต้องไปละมัน 

เรามีหน้าอย่างเดียว เมื่อรู้เหตุรู้ผลว่าทำไมต้องปฏิบัติธรรม ดูเหตุผลว่ามันทุกข์หรือมันสุข เมื่อมันทุกข์มันสุข เราปรารถนามันไหม ถ้าไม่ปรารถนาจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรไม่ทุกข์ สังเกตสังกา พินิจพิจารณา แยกแยะวิเคราะห์วิจัยมันไปเรื่อยๆ ประพฤติปฏิบัติไปเรื่อยๆ ให้เห็นความจริงของมัน เมื่อเห็นตรงไหน ความมืดตรงนั้นก็อยู่ไม่ได้ เมื่อเห็นจุดไหน จุดที่มืดมันก็อยู่ไม่ได้ มันหายของมันเอง เมื่อหายแล้ว ความไม่ทุกข์นั้นเป็นผลตามมาตรงนั้นเอง 

เหตุนั้นศาสนธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ถ้าพูดโดยสมมติว่าคุณค่า เป็นสิ่งที่มีคุณค่า คุณค่าไม่ใช่ต่อวัตถุ แต่คุณค่านั้นต่อจิตใจของมนุษย์และเหล่าสัตว์ เงินทองร้อยแสนล้านไม่สามารถซื้อความทุกข์ใจให้หายได้ จริงไหม แต่การประพฤติปฏิบัติรู้แจ้งในกายใจเรา เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกข์นั้นดับได้ เราไม่ได้ทำ แต่ความรู้แจ้งในความจริงนั้นทำให้ความหลงมันตั้งอยู่ไม่ได้ ความหลงตั้งอยู่ไม่ได้ ความทุกข์มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้นั่นเอง มันเป็นผลตามกันมา 

พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านสั่งสมบารมีมา ๒๐ อสงไขยแสนกัป เพื่อมารู้แจ้งในใจท่านนั่นเอง เมื่อท่านรู้แจ้งในใจท่านแล้ว ท่านจึงนำศาสนธรรมคำสอนของท่าน บัญญัติออกมาเป็นภาษา มาสอนให้พวกเราได้รู้จักพินิจพิจารณา เดินตามรอยที่ท่านวางไว้ เข้าไปให้รู้แจ้งในกายใจของเรานั่นเอง เมื่อเรารู้แจ้งในกายใจเราแล้ว ความพ้นทุกข์ก็อยู่ตรงนั้น ขอให้นำไปขบคิดพิจารณาถ้าเห็นประโยชน์ก็เอาไปทำ ถ้าไม่เป็นประโยชน์มันก็ดับไปทุกคำพูดอยู่แล้ว ไม่ต้องเดือดร้อนใจ การปฏิบัติธรรมไม่ใช่การทำให้เดือดร้อนใจนะ ก็ขอยุติแต่เพียงเท่านี้ ขอเจริญในธรรมทุกตนทุกคนเทอญ

ล้อมกรอบ

ติดตามธรรมะ ข่าวสารการปฏิบัติธรรม ณ สถานปฏิบัติธรรมป่าวิเวกสิกขาราม อ.พล จ.ขอนแก่น ได้ที่ www.wiweksikkaram.org, www.facebook.com/wiweksikkaram, www.facebook.com/prawichaikammasudho

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ