Lifestyle

ปลุกห้องสมุดมีชีวิตในยุคดิจิทัล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชนยุดิจิทัล ต้องการเห็นห้องสมุดยุคใหม่

       ท่ามกลางสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลก ความนิยมสื่อสิ่งพิมพ์ลดลงสวนกระแสการเติบโตของสื่อออนไลน์ หลายหน่วยงานจึงมีการปรับตัวพัฒนาแหล่งเรียนรู้ หนังสือและห้องสมุดเอาไว้ เช่น สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้บูรณาการเชื่อมโยงทรัพยากรหนังสือภายใน “ห้องสมุดศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ ล่าสุดมีการจัดกิจกรรมการเสวนาเชิงวิชาการเรื่อง “จากแรงบันดาลใจสู่การสร้างสรรค์ชุดประจำชาติ และการต่อยอดทางศิลปวัฒนธรรม” โดยมี อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์ เจ้าของห้องเสื้อเซอเฟซ, หิรัญกฤษฏิ์ ภัทรบริบูรณ์กุล ผู้ออกแบบชุดแต่งกายประจำชาติ “จีเวล ออฟ ไทยแลนด์”, พลัฏฐ์ จิรพุฒินันท์ นักออกแบบเครื่องประดับ และ อนุศักดิ์ แก้วกระจ่าง นักออกแบบเครื่องประดับผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการแสดง เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ มาสาธิตการออกแบบเครื่องประดับ พร้อมด้วย “น้ำตาล” ชลิตา ส่วนเสน่ห์ มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2016 มาร่วมพูดคุย เมื่อวันก่อน

       โต้โผหลัก ​ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการ สศร. เล่าถึงการจัดตั้ง “ห้องสมุดศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย” ภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้และพัฒนาหนังสือไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เป็นต้นมา ว่า เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมหนังสือ สูจิบัตร ประวัติ รวมถึงผลงานของศิลปินและบุคคลสำคัญ ที่สร้างคุณูปการให้แก่ประเทศชาติ และเป็นแหล่งเรียนรู้สืบค้นข้อมูลทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ภายในประกอบด้วย หนังสือศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย 9 สาขา ได้แก่ สาขาทัศนศิลป์ สาขาวรรณศิลป์ สาขาดนตรี สาขาศิลปะการแสดง สาขาภาพยนตร์ สาขาสถาปัตยกรรม สาขามัณฑนศิลป์ สาขาเรขศิลป์ และสาขาการออกแบบ/หนังสือที่จัดพิมพ์โดยหน่วยงานในกระทรวงวัฒนธรรม/หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนและหนังสือเบ็ดเตล็ดต่างๆ

ปลุกห้องสมุดมีชีวิตในยุคดิจิทัล

ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ

       “เคล็ดลับในการทำให้ตัวหนังสือมีชีวิตเกิดจากการขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เชื่อมโยงองค์ความรู้และศาสตร์แขนงต่างๆ จากหนังสือให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายในหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เชื่อมโยงการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ, องค์ความรู้ในเชิงสร้างสรรค์, กิจกรรมการเสวนาเชิงปฏิบัติการ กระบวนสร้างสรรค์จากผู้คนในสาขาวิชาชีพต่างๆ ตลอดจนศิลปิน ผู้เชี่ยวชาญ คนดัง เซเลบริตี้ ที่ประสบความสำเร็จมาเป็นแบบอย่างในการถ่ายทอดประสบการณ์ที่ดี เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปทั้งในด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรมและนำไปสู่การต่อยอดทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคต” ผู้อำนวยการ สศร. กล่าว

        ในงาน “น้ำตาล” ชลิตา เล่าถึงแรงบันดาลใจ พร้อมทั้งแนวคิด รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายสำหรับตัวแทนประเทศไทยในการประกวดนางงามจักรวาล ปี 2559 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ รวมทั้งชุดแต่งกายประจำชาติ “จีเวล ออฟ ไทยแลนด์” ซึ่งผู้ออกแบบชุดได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือเรื่อง “งามสมบรมราชินีนาถ” และมีภาพประทับใจจากต้นแบบมาจากชุดไทยพระราชนิยมลำดับที่ 8 ชุดไทยศิวาลัย ซึ่งเป็นมรดกชิ้นสำคัญของชาวไทย อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นำมาประยุกต์เข้ากับเครื่องประดับแบบไทยร่วมสมัย สะท้อนความเป็นสากล จนกระทั่งได้ไปสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในระดับโลกผ่านเวทีการประกวดนางงามจักรวาล เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา

ปลุกห้องสมุดมีชีวิตในยุคดิจิทัล

ชลิตา ส่วนเสน่ห์ พร้อมด้วยเชี่ยวชาญด้านต่างๆ

        กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนและผู้ที่สนใจสามารถนำไปต่อยอดในแวดวงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยหลากหลายสาขาแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านและการเขียนหนังสือให้แพร่หลายอย่างกว้างขวางต่อไปในสังคมไทย  ผู้ที่สนใจติดตามรายละเอียดหนังสือและกิจกรรมของห้องสมุดศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้ที่ @OCAClibrary และ www.ocac.go.th ​

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ