Lifestyle

คัดกรองมะเร็งปอดด้วย Low-Dose CT รู้ทัน รักษาได้ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดูแลสุขภาพ : มะเร็งปอด รู้ทัน รักษาได้

 


               มะเร็งปอดเป็นโรคที่พบมากในประเทศไทยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของทั้งเพศชายและเพศหญิง สาเหตุหลักของมะเร็งปอด คือ การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10-30 เท่า เนื่องจากสารในบุหรี่สามารถทำลายเซลล์ปอด ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ เมื่อสูดควันบุหรี่เข้าปอดแล้ว ปอดจะไม่สามารถขับอนุภาคขนาดเล็กของควันบุหรี่นั้นออกมาได้ จึงมีการสะสมอยู่ภายในเยื่อบุปอดไปตลอดชีวิต และมีโอกาสกระตุ้นการเกิดเซลล์มะเร็งได้ง่าย นอกจากบุหรี่ ยังมีปัจจัยอย่างอื่นที่อาจเพิ่มความเสี่ยง เช่น
               1.อายุ โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่ก็สามารถพบได้ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี
               2.ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอด มีความเสี่ยงต่อการเป็นแม้จะไม่ได้สูบบุหรี่
               3.การได้รับสารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ แอสเบสตอส (asbestos) ก๊าซเรดอน (radon) สารหนู รังสี และสารเคมีอื่นๆ รวมถึงฝุ่นและไอระเหยจากนิกเกิล โครเมียม และโลหะอื่นๆ
               นพ.ประธาน วาทีสาธกกิจ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า มะเร็งปอดสามารถแบ่งได้เป็นเซลล์มะเร็งตัวใหญ่และเซลล์มะเร็งตัวเล็ก ซึ่งเซลล์มะเร็งตัวเล็กจะมีการแบ่งตัวเร็วและรุกลามเร็วกว่าเซลล์มะเร็งตัวใหญ่ นอกจากนี้เซลล์มะเร็งปอดยังมีขนาดที่เล็กมากและมักซ่อนตัวอยู่ทำให้มองไม่เห็น บางรายกว่าจะเห็นก็เป็นขั้นรุนแรงแล้ว แต่ปัจจุบันสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะต้น ด้วยนวัตกรรมของเครื่อง Low-Dose CT เป็นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (low-dose computerized tomography) โดยใช้วิธีถ่ายภาพสามมิติซึ่งให้ความละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา จึงช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้มากกว่า นอกจากนี้ปริมาณรังสีที่ใช้ในการตรวจยังน้อยกว่าการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั่วไป (Regular CT scan)
               ประโยชน์ของการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้รังสีต่ำ

               1.ช่วยให้แพทย์ตรวจพบจุดหรือก้อนเนื้อที่อยู่ในปอดได้ เนื่องจากบางครั้งจุดในปอดอาจเล็กเกินกว่าที่จะมองเห็นด้วยการเอกซเรย์ธรรมดา
               2.ช่วยให้ตรวจพบมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะเริ่มแรกได้ถึงร้อยละ 70 ซึ่งจะช่วยให้รักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่มะเร็งจะกระจายไปทั่วร่างกาย
               3.ลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดได้ร้อยละ 15-20
               4.ป้องกันอันตรายที่จะได้รับจากรังสี เนื่องจากเป็นการตรวจที่ใช้ปริมาณรังสีต่ำ
 
นพ.ประธาน ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงกลุ่มเสี่ยงที่ควรคัดกรองมะเร็งปอด
               1.ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไปจนถึง 80 ปี
               2.ผู้ที่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่มาไม่น้อยกว่า 15 ปี
               3.มีประวัติสูบบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่สูบมากกว่า 30 pack-years

               การคำนวณ pack-years = (จำนวนบุหรี่ที่สูบใน 1 วัน/20) x จำนวนปีที่สูบ เช่น ถ้าผู้ป่วยสูบบุหรี่ 1 ซองต่อวัน (1ซอง = 20 มวน) เป็นเวลา 10 ปี เท่ากับสูบบุหรี่ 10 pack-years
               ส่วนการเลิกบุหรี่เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งปอดที่ได้ผลมากที่สุดคือการใช้ยา Varenicline (champix) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ทดแทนสารนิโคตินในบุหรี่ ช่วยให้ผู้ที่เสพติดบุหรี่เลิกสำเร็จ 35% ระยะเวลาในการทาน 3 เดือน ควบคู่ไปกับความอดทนและความพร้อม ทั้งนี้จะได้ผลก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมด้วย เช่น สังคม ครอบครัว

นพ.ประธาน วาทีสาธกกิจ

อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ