Lifestyle

เสียงสวดมนต์ที่ดังขึ้นมาอีกคร้ัง  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย   -    พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

        “หวังว่าชุมชนแห่งนี้จะกลับมาเป็นชุมชนที่มีชีวิตอีกครั้ง”  

        ท่านพระครูโฆษิตสุตาภรณ์  เจ้าอาวาสวัดบูรพาราม จ.ปัตตานี  ประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสา ๕  จังหวัดชายแดนภาคใต้ พูดให้ฟังขณะที่ได้นำคณะพระธรรมทูตอาสาลงพื้นที่เยี่ยมพระ พบปะโยม ในชุมชนบ้านท่าด่าน ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

         พระอาจารย์สะท้อนวิถีชีวิตให้ฟังว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับย้อนหลังไปไม่ถึง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ชุมชนที่เคยมีความอบอุ่น มีความสามัคคี มีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระหว่างสองศาสนา พี่น้องชาวพุทธ พี่น้องชาวมุสลิม ต่างไปมาหาสู่กัน พี่น้องชาวพุทธมีมะพร้าว พี่น้องชาวมุสลิมมีปลา ต่างก็นำมาแลกกันเป็นภาพปกติชินตา แต่ภาพเหล่านี้ไม่มีให้เห็นกันแล้วในปัจจุบัน คงเหลือไว้แต่คำเล่าขานจากคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่เท่านั้น

         กำแพงของความหวาดระแวงเริ่มก่อตัวขึ้นจากเหตุการณ์ที่มีการทำร้ายผู้บริสุทธิ์จนถึงเอาชีวิตนับครั้งแล้วครั้งเล่า การข่มขู่ให้ออกจากพื้นที่ ถือว่าเป็นปกติ จนถึงที่สุดมีการฆ่าบ่อยขึ้น นำมาซึ่งความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จำเป็นต้องเลือกที่จะทิ้งบ้านเรือน ทิ้งชุมชนอันเป็นที่รักไป จากชุมชนที่มีประมาณ ๓๐ ครอบครัว จนในที่สุดก็กลายเป็นชุมชนร้าง เหลือเพียง ๒ ครอบครัว

         คณะของเราก็ได้เข้าไปที่บ้านหลังที่ ๑ เพื่อให้กำลังใจ พูดคุยถามความเป็นอยู่ พร้อมทั้งมอบถุงยังชีพเป็นกำลังใจในการดำรงชีวิต สวดมนต์ให้พร ทีมงานของคณะผู้นำทางได้พูดให้ฟังว่า ครอบครัวนี้มีคนแก่อายุ ๙๐ กว่าปี และก็มีลูกๆ หลานอยู่รวมกันอยู่เป็นหนึ่งครอบครัว เหตุที่ไม่ย้ายออกก็เพราะไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ตั้งแต่ปูย่าตายายมาก็อยู่ที่บ้านหลังนี้ อีกอย่างเพราะมีความรักมีความผูกพันในพื้นที่ คนในพื้นที่ซึ่งเป็นคนที่เคารพนับถือกันมาแต่รุ่นบรรพบุรุษบอกว่า “อยู่ได้ อยู่นี่แหละ ปลอดภัย ไม่มีใครทำอะไรหรอก” 

         เป็นวาจาศักดิ์สิทธิ์ดุจคำของเทพเจ้า ผู้เขียนก็ไม่กล้าถามว่า ใครรับรองให้ ครอบครัวยายถึงได้กล้าอยู่เอาชีวิตฝากไว้กับความไม่แน่นอน

         หลังจากนั้นคณะของเราก็เดินทางไปเยี่ยมอีกครอบครัวหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างกันพอสมควร ครอบครัวนี้มีทั้งคนแก่ มีคนป่วย อยู่รวมกัน ผู้เขียนถามผู้นำทางที่นำคณะของเราไปเยี่ยมว่า ทำไมครอบครัวนี้ถึงไม่ย้ายออกจากพื้นที่เหมือนครอบครัวอื่น คนนำทางตอบว่า ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ถามว่า “กลัวไหม” ตอบแทนได้เลยว่า “กลัวมาก” 

         ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใหม่ๆ ก่อนที่จะเป็นชุมชนร้าง ก็มีการข่มขู่ด้วยการยิงปืนขึ้นฟ้ารอบๆ บ้านอยู่หลายครั้ง 

         ในระหว่างที่พูดคุยกัน ผู้หญิงคนหนึ่งในครอบครัวเปิดใจให้ฟังว่า “ทุกวันนี้อยู่ด้วยความกลัวหวาดระแวง ไม่รู้ความตายจะมาถึงวันไหน แต่ถึงอย่างไรไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าจะตายก็จะขอตายในที่นี่ แผ่นดินเกิด” การเป็นอยู่มีความลำบากเป็นอย่างมาก ไม่ได้ออกไปติดต่อกับโลกภายนอกเหมือนอย่างแต่ก่อน มีไปบ้างเท่าที่มีความจำเป็น เนื่องจากเส้นทางไกลและมีความเสี่ยงมากพอสมควร ข้าวปลาอาหารก็อยู่อย่างพอเพียง มีอะไรก็กินกัน ก่อนหน้านี้มีญาติที่เป็นตำรวจตระเวนชายแดนที่อยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง จะนำข้าวปลาอาหารมาส่งให้ตลอด แต่ก็โชคร้ายมาโดนยิงเสียชีวิตไป ทุกวันนี้ก็จำเป็นต้องช่วยเหลือตัวเองเท่าที่ทำได้

         ผู้เขียนถามว่า มีใครมาเยี่ยมบ้างไหม ได้รับคำตอบว่า ก็จะมีในส่วนของหน่วยงานฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่ในการรักษาความสงบ หรือบางครั้งก็จะเป็นหน่วยของทหารได้เดินทางผ่านไปผ่านมาบ่อยๆ เพื่อรักษาความปลอดภัย บางครั้งก็มีกลุ่มแม่บ้านและเครือข่ายพุทธธรรมนำสันติสุขนำของมามอบให้มาเยี่ยมพูดคุยให้กำลังใจ

         วันนี้อาจจะเป็นพิเศษกว่าทุกครั้ง เพราะคณะพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนร่วม ๓๐ รูป ได้มาให้กำลังใจทั้งสองครอบครัว เสียงสวดมนต์ที่เคยเงียบหายไปไม่รู้นานเท่าไร  วันนี้เสียงสวดมนต์ดังขึ้นอีกครั้ง ไม่เพียงแค่น้ำตาของยายเท่านั้นที่ไหลซึมออกมาอย่างปลื้มใจ น้ำตาของผู้เขียนก็ไหลซึมออกมาอย่างบอกไม่ถูกไม่เหมือนกัน พื้นที่เคยมีเสียงสวดมนต์ของพระสงฆ์สามเณรแล้วหายไป วันหนึ่งกลับมีเสียงสวดมนต์ดังขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นเหมือนเสียงแห่งความหวัง เสียงแห่งแสงสว่างที่หาอะไรมาเปรียบก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นมงคลอย่างนี้อีกแล้ว

         พระครูโฆษิตสุตาภรณ์   เล่าให้ฟังในฐานะที่เป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกๆ ที่ได้เข้ามาในชุมชนแห่งนี้พร้อมกับชาวบ้านแล้วได้เห็นสองครอบครัวนี้อยู่ได้  แต่ครอบครัวอื่นอพยพย้ายหนีไปอยู่ที่อื่นจนใกล้จะเป็นชุมชนร้างไปแล้ว ทำให้เกิดความคิดขึ้นว่า ทำอย่างไรจะทำให้ชุมชนแห่งนี้จะกลับมาเป็นชุมชนที่มีชีวิตอีกครั้ง  จึงพยายามสอบถามถึงเจ้าของที่ดินว่า ไปอยู่ที่ไหน มีการสอบถามความสมัครใจว่า อยากจะกลับมาอยู่บ้านของตัวเองไหม หลายครอบครัวสมัครใจประสงค์จะมาอยู่ ที่ผ่านมาบางครอบครัวก็ยังมาดูที่ดินของตนเอง มาดูสวนมะพร้าว หลายครอบครัวยังมีความผูกพัน แต่ไม่กล้ามาอยู่ เพราะกลัวความไม่ปลอดภัย ทีมงานจึงรวบรวมคนพูดคุยกัน ทำเรื่องต่อทางราชการแจ้งความประสงค์ว่าอยากจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่บ้านเดิมของตนเอง จนเกิดเป็นโครงการนำชาวไทยกลับบ้าน 

         ท่านเล่าให้ฟังถึงความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการว่า  มีการดำเนินการมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทางราชการในการสร้างบ้านให้แก่ ๘ ครอบครัวแรกที่จะพร้อมจะย้ายเข้ามาอยู่ และเมื่อไม่นานมานี้ในนามเครือข่ายพุทธธรรมนำสันติสุข โดยมีพระครูอุดมธรรมาทร เจ้าคณะอำเภอยะหริ่ง เป็นประธาน  ได้เข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ทหารกรมทหารพรานที่ ๔๒ และนายอำเภอยะหริ่ง ปลัดอำเภอ รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านใน อ.ยะหริ่ง ชุมชนบ้านท่าด่าน เรื่องความก้าวหน้าในการสร้างบ้านให้แก่ชาวบ้านท่าด่าน จำนวนทั้ง ๘ หลัง และศาลารวมใจ จำนวน ๑ หลัง

ขณะที่ผู้เขียนมองทอดสายดูกองเหล็ก อิฐ หิน ดิน ทรายที่เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นเสาของบ้านที่ตั้งสง่า เป็นกำแพงที่พร้อมจะฉาบให้มีความมั่นคง ก่อเป็นรูปร่างของบ้าน ทำให้มีความหวังขึ้นมาอีกครั้งว่า ชุมชนแห่งนี้จะมีชีวิตเหมือนเช่นเคย รอการกลับมาของเจ้าของบ้านเป็นบ้านที่มีชีวิตอีกครั้ง จึงขออนุโมทนาสาธุการกับทุกฝ่ายที่ได้ร่วมกันสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นจริงที่ชุมชนบ้านท่าด่าน คงเป็นชุมชนแรกที่ร้างแล้วกับเป็นชุมชนที่มีชีวิตอีกครั้งในภาคใต้ 

ขอความสุข ความสงบจงกลับคืนมาสู่พื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยเทอญ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ