Lifestyle

ตอกย้ำสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นิทรรศการ“โบราณวัตถุศิลปวัตถุไทย” เชื่อมสัมพันธ์ญี่ปุ่น 130 ปี

ตอกย้ำสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

พระพุทธรูปไสยาสน์ ศิลปะรัตนโกสินทร์

         ไทยและญี่ปุ่นมีการติดต่อกันมากว่า 600 ปี ตั้งแต่สมัยอยุธยา และเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อ 130 ปีมาแล้ว โดยทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในหลายด้าน ในโอกาสครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ จัดนิทรรศการพิเศษ “ไทยแลนด์:บิลเลียนแลนด์ ออฟ เดอะ บุดดา” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคิวชู ประเทศญี่ปุ่น

ตอกย้ำสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

วีระ โรจน์พจนรัตน์ เดินชมนิทรรศการ

          วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า นิทรรศการครั้งนี้กรมศิลปากร วธ. ประเทศไทยได้ให้ยืมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยมที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ทุกสมัยของประเทศไทย จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 17 แห่งและหอสมุดแห่งชาติจำนวน 116 รายการ 130 ชิ้น โดยบางชิ้นไม่เคยอนุญาตให้นำออกไปจัดแสดงนอกประเทศ โดยมีโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ชิ้นสำคัญที่นำไปจัดแสดง อาทิ บานประตูไม้แกะสลักพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นงานฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงจำหลักนำไว้เป็นปฐมรักษ์ แสดงความเป็นเอกของฝีมือไทย โดยบานประตูไม้แกะสลักได้รับทุนสนับสนุนด้านการอนุรักษ์จากมูลนิธิซูมิโตโม ประเทศญี่ปุ่น,พระพุทธรูปหินทราย ศิลปะอินเดีย แบบสารนาถ พุทธศตวรรษที่ 11 พบที่ อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี, พระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ สำริด ยุคสมัยอินเดีย พุทธศตวรรษที่ 14-16 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้มาจากเมืองนครราชสีมา พระโพธิสัตว์หิน ศิลปะศรีวิชัย พบที่ อ.เมืองไชยา จ.สุราษฎร์ธานี, ดาบอาญาสิทธิ์เงิน กะไหล่ทองโลหะผสม สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 พระราชทานแก่เจ้าบดินทรเดชา (สิงห์) ซึ่งเป็นต้นตระกูลสิงหเสนี รวมถึง เหรียญเงินตราธรรมจักร ยุคสมัยทวารดี พบที่ ต.พระประโทน จ.นครปฐม เป็นต้น

ตอกย้ำสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

บานประตูไม้แก้สลักพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม

          “นิทรรศการเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น รวมถึงแลกเปลี่ยนวิทยากรและวัฒนธรรมตามบันทึกความเข้าใจระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคิวชู กับกรมศิลปากร ส่งเสริมความร่วมมือด้านพิพิธภัณฑ์และการจัดแสดงนิทรรศการของทั้งสองประเทศ ที่สำคัญเพื่อให้ชาวญี่ปุ่นได้รับชมเอกลักษณ์และความงดงามของศิลปกรรมไทย และยังเป็นการสานความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้มั่นคง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว

ตอกย้ำสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

 ตู้พระธรรม สมัยรัตนโกสินทร์

          ด้าน บรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว กล่าวว่า คนญี่ปุ่นให้ความสนใจศิลปวัตถุ โบราณวัตถุอย่างมาก ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการแสดง ทุกๆ ปี จะมีนำศิลปวัฒนธรรมจากประเทศไทยมาเผยแพร่ และชาวญี่ปุ่นให้ความสนใจตลอด นิทรรศการครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน พิพิธภัณฑ์ญี่ปุ่นอยากได้ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุในศิลปะยุคต่างๆ อาทิ ศิลปะทวารวดี ศิลปะอินเดีย ศิลปะศรีวิชัย ศิลปะลพบุรี ศิลปะล้านนา ศิลปะสุโขทัย ศิลปะเชียงแสน ศิลปะอยุธยา ศิลปะรัตนโกสินทร์ เป็นต้น ซึ่งชาวญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวรวมถึงคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น จะได้มาเรียนรู้ ศึกษาศิลปวัตถุ โบราณวัตถุของไทยจากหลายๆ แหล่งที่น่าสนใจ ไว้ที่เดียวกัน เป็นการศึกษาถึงประวัติศาสตร์ เรื่องราวของประเทศไทย รวมถึงเผยแพร่วัฒนธรรมไทยผ่านศิลปวัตถุ โบราณวัตถุที่สำคัญปกตินักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจะเดินทางไปเที่ยวประเทศไทย ประมาณปีละ 1 ล้านกว่าคน และเชื่อว่าเมื่อได้มาชมนิทรรศการครั้งนี้ ได้พบความสวยงามของศิลปวัตถุ โบราณวัตถุต่างๆ จะทำให้เขาอยากมาเรียนรู้ มาเยือนประเทศไทยตามรอยศิลปวัตถุเหล่านี้

เรื่อง/ภาพ : ชุลีพร อร่ามเนตร

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ