Lifestyle

‘บำรุงราษฎร์’ติดปีกเทคโนโลยี CardioInsight (1)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘บำรุงราษฎร์’ติดปีกเทคโนโลยี CardioInsight (1) : คอลัมน์ ดูแลสุขภาพ

 

          ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) เป็นอาการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ อาจเต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตันเพิ่มมากขึ้น

          ทั้งนี้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีปัจจัยจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มชา กาแฟ ความเครียด เป็นโรคที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือแม้แต่ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังหัวใจหนาผิดปกติ รวมทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเหล่านี้ ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหา และมักตรวจพบจากการตรวจสุขภาพหรือป่วยด้วยโรคอื่นแล้วมาพบแพทย์ หรือในผู้ป่วยบางอาจมีอาการให้สังเกตได้ เช่น วิงเวียน หน้ามืด ตาลายใจสั่นบริเวณหน้าอก หายใจขัด เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก เป็นลม หมดสติ ซึ่งแพทย์จะรักษาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายไป เช่น การใช้ยาควบคุมจังหวะของหัวใจ การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ การใช้สายสวนเพื่อจี้กล้ามเนื้อหัวใจที่นำไฟฟ้าผิดปกติและการฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น

          เทคโนโลยีใหม่ตรวจจับหัวใจเต้นผิดจังหวะ
          การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น แพทย์จำเป็นต้องวินิจฉัยให้ได้เสียก่อนว่าเป็นความผิดปกติชนิดใด เป็นการเต้นแบบสั่นพลิ้ว เต้นผิดจังหวะ เต้นเร็ว หรือเต้นเร็วชนิดลัดวงจร และหาตำแหน่งกำเนิดความผิดปกติเกิดขึ้นว่าเป็น ณ จุดใด หัวใจห้องบนหรือห้องล่าง เป็นต้น

          นพ.กุลวี เนตรมณี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจแปซิฟิก ริม ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา และอายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลว่า โดยปกติในการวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดปกติจะใช้วิธีการ 2-3 วิธี เบื้องต้นคือจับชีพจรของคนไข้แล้วนับว่าเต้นเร็วเต้นช้าเท่าไหร่ เต้นปกติหรือไม่ปกติ วิธีการนี้จะสามารถรู้ได้ว่าคนไข้มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติหรือหรือไม่ แต่ก็บอกไม่ได้ว่าเป็นการเต้นผิดปกติแบบชนิดใด

          ขณะที่ในช่วง 70-80 ปีมานี้ มีการพัฒนาเครื่องมือ Electrocardiogram (EKG หรือ ECG) ซึ่งปัจจุบันนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกแทบทุกโรงพยาบาล ทุกคลินิก โดยเครื่องมือนี้จะตรวจวัดและสร้างกราฟคลื่นหัวใจ และจะให้ข้อมูลมากกว่าการจับชีพจรอย่างเดียว เช่น สามารถบอกอัตราการเต้นของหัวใจ เต้นเร็วจากหัวใจห้องบนหรือห้องล่าง และรูปแบบการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอนั้น มากน้อยแค่ไหน
  
          แต่กระนั้นเครื่องมือ EKG ก็ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าอาการผิดปกติของหัวใจเกิดในจุดใด เพียงแต่บอกได้คร่าวๆ เพียงว่ามาจากหัวใจห้องบนหรือห้องล่าง และมีอันตรายมากน้อยขนาดไหน

          อย่างไรก็ดี ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้ขณะนี้ได้มีการพัฒนาเครื่องมือชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า CardioInsight เข้ามาช่วยในการตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งเครื่องมือชนิดนี้สามารถตรวจจับบริเวณของกล้ามเนื้อหัวใจที่เกิดความผิดปกติได้แม่นยำและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น หากเทียบกับเครื่อง EKG ที่บอกว่ามีความผิดปกติ ณ หัวใจห้องบน เครื่องมือ CardioInsight จะชี้เฉพาะได้ละเอียดขึ้นว่าผิดปกติที่จุดใดของหัวใจห้องบนหรือห้องล่าง หรือเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ คือแทนที่จะบอกว่าผู้ร้ายอยู่จังหวัดไหน ก็สามารถบอกได้เลยว่าอยู่ในซอยไหน

          ๐ รู้จัก CardioInsight
          CardioInsight หรือที่เรียกเต็มๆ ว่า CardioInsight Mapping Solution ถูกพัฒนาขึ้นโดย ศาสตราจารย์ Yorum Rudy ซึ่งมีลักษณะเป็นเสื้อกั๊กที่ฝังอิเล็กโทรดตรวจจับคลื่นไฟฟ้าหัวใจจำนวน 252 ตำแหน่งบนเสื้อ ครอบคลุมทั่วพื้นที่ผนังทรวงอกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เมื่อได้ข้อมูลจากอิเล็กโทรดและประมวลผลด้วยซอฟต์แวร์ก็จะช่วยให้สามารถตรวจจับทิศทางสัญญาณไฟฟ้าจากหัวใจได้ทั่วทั้งดวง

          นพ.กุลวี กล่าวอีกว่า หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เซลทุกเซลของหัวใจเหมือนแบตเตอรี่ และการทำงานของหัวใจจะมี 2 องค์ประกอบคือ กล้ามเนื้อสำหรับการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย และ มีคลื่นไฟฟ้าเพื่อส่งสัญญาณให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานเป็นจังหวะที่เหมาะสม

          “การเต้นของหัวใจผิดจังหวะมักจะพบว่ามีความบกพร่องในแบตเตอรี่คือต้นกำเนิดไฟฟ้าหัวใจหรือเส้นทางของกระแสไฟฟ้าที่กระตุ้นเซลกล้ามเนื้อหัวใจ เหมือนสายไฟที่ส่งไฟฟ้าไปทั่วบ้าน เพราะฉะนั้นเมื่อมีการลัดวงจรหรือทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ ตัวอิเล็กโทรดที่ครอบคลุมทั่วทรวงอกจะสามารถตรวจจับได้ว่ามาจากตรงไหน” นพ.กุลวี กล่าว
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ