Lifestyle

เคยทำสมาธิได้ดี ทำไมตอนนี้ทำไม่ได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บายไลน์ พระไพศาล วิสาโล

เรือน้อย รักในหลวง ปุจฉา : ๑. เพิ่งฝึกนั่งสมาธิ โดยใช้เวลาก่อนนอนสามสิบนาที และบางครั้งเดินจงกรมก่อนนั่งสมาธิ สามสิบนาที ฝึกมาได้เดือนกว่าทุกวัน (ยกเว้นวันที่ติดภารกิจจริงๆ) แต่แปดสิบเปอร์เซ็นต์ จะนั่งทุกวันค่ะ มีอยู่วันหนึ่ง นั่งสมาธิ รู้สึกขนลุก เบา มีความสุข จนนาฬิกาบอกเวลาหมดเวลา สามสิบนาที แต่ดูเหมือนเพิ่งนั่งได้ห้านาที ขาก็ไม่เจ็บปวดตอนลุกจากสมาธิ เป็นความรู้สึกครั้งแรก แล้วติดใจ วันต่อมาเลยนั่งอีก พยายามจะนั่งให้ได้แบบนั้น แต่นั่งอย่างไรก็ไม่ได้ และนั่งมาตลอดทุกวัน แต่ก็ยังไม่ได้รับรู้ถึงความรู้สึกแบบนั้นอีกค่ะ เป็นเพราะอะไรคะ

๒. เคยฟังมาว่า การนั่งสมาธิ ดูลมหายใจ จนสามารถแยกกายออกจากจิตได้ คือ รับรู้ได้ว่ากายนี้ไม่ใช่ของเรา จะต้องปฏิบัติมากแค่ไหนคะ ถึงจะสามารถแยกได้อย่างนั้น การนั่งสมาธิ แค่วันละสามสิบนาที เพียงพอไหมคะ

วิสัชนา : การที่คุณไม่มีประสบการณ์อย่างวันนั้นอีก ก็เพราะใจคุณไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน แต่คอยถวิลหาถึงความรู้สึกในวันนั้นซึ่งเป็นอดีตไปแล้ว เป็นการปฏิบัติที่เจือด้วยตัณหา มิได้ทำด้วยใจที่ปล่อยวางอย่างแท้จริง จิตใจจึงไม่โปร่งโล่ง อาตมาอยากแนะนำให้คุณปล่อยวางเหตุการณ์วันนั้นเสีย และน้อมใจมาอยู่กับปัจจุบัน ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นด้วยความรู้สึกเป็นกลาง ไม่ไขว่คว้าหรือผลักไสสิ่งใดที่เกิดขึ้น ไม่ว่ากับกายหรือใจ

กายและจิตนั้นแยกกันอยู่แล้ว คือเป็นคนละอันกัน แต่เป็นเพราะความหลง จิตจึงไปยึดกายว่าเป็นของกู ปรุงตัวกูขึ้นมาเป็นเจ้าของกายนี้ การเพิกถอนความหลง เพื่อเห็นความจริงดังกล่าว สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือสติ สติช่วยให้เห็นกายและจิตตามความเป็นจริง คือเห็นกายว่าเป็นกาย ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เห็นจิตว่าเป็นจิต ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา

หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ สอนว่า “เห็น อย่าเข้าไปเป็น” เช่น เห็นความปวด อย่าเป็นผู้ปวด ซึ่งช่วยให้ปวดแต่กาย ใจไม่ปวด กายเป็นอะไร ใจก็ไม่ทุกข์ จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องมีสติ

ดังนั้นคุณจึงควรฝึกสติอยู่เนือง ๆ ซึ่งทำได้หลายวิธี จะนั่งตามลมหายใจก็ได้ เดินจงกรม หรือยกมือเคลื่อนไหวแบบหลวงพ่อเทียนก็ได้ ไม่ว่าทำวิธีไหน ขอให้มีความรู้สึกตัวขณะที่ทำ (ไม่ใช่พยายามบังคับจิต ให้หยุดคิดเพราะหวังความสงบ) หากคุณนั่งวันละ ๓๐ นาที ถ้าวางใจถูก มีสติรู้กายและใจอย่างต่อเนื่อง ไม่ช้าไม่นานก็จะเห็นผล หรือเข้าใจความจริงดังกล่าวได้ไม่มากก็น้อย

ให้ทานอย่างไร จึงไม่เมาบุญ

ปุจฉา : ผมกำลังรู้สึกว่าแม่ผมกำลัง “เมาบุญ”แม่ต้องการเงินจำนวนหนึ่ง บอกว่าจะเอาไปทำบุญกฐิน แต่ฐานะเราก็ไม่ได้ร่ำรวยพอที่จะทำได้ขนาดนั้นเป็นเงินที่ไม่เยอะไม่น้อย ๓,๐๐๐ บาท ก่อนหน้านั้นแม่ขอหนึ่งหมื่น แต่ผมตอบไปว่า ใจเย็นๆ แม่จะเอาไปทำอะไรเยอะขนาดนั้น แม่บอกว่าจะเอาไปทำบุญกฐินหายายที่เสียไปครับ แกบอกว่ายายจะได้ขึ้นสวรรค์

ผมบอกกับแม่ไปว่าบุญมันทำได้หลายวิธีนะ แม่ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินอย่างเดียว และมันก็อยู่ที่เจตนาเราด้วยว่าเจตนาเราคืออะไร จำนวนเงินกับบุญมันต่างกันที่เจตนาด้วย แม่ผมมักจะชอบคิดว่าการทำบุญโดยที่ให้จำนวนเยอะๆ จะได้บุญเยอะด้วย ผมไม่ได้ห้ามแม่ทำบุญนะครับแต่ผมอยากให้แม่ผมรู้และเข้าใจว่าบุญมันได้หลายทาง

นอกจากเรื่องทานแล้ว มันมีอีกตั้งหลายวิธี โปรด พระอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยครับ ซึ่งผมเป็นกำลังหลัก(คนเดียว) ต้องหาเงินส่งแม่และกลัวว่าแม่จะไปกันใหญ่ในเรื่องการทำบุญ ผมควรจะมีวิธีบอกกับแม่อย่างไรดีครับ

วิสัชนา : คุณเข้าใจถูกต้องแล้ว บุญทำได้หลายวิธี ทานเป็นแค่ ๑ ใน ๑๐ วิธีที่พุทธศาสนาสรรเสริญ วิธีอื่นได้แก่ การรักษาศีล การทำสมาธิภาวนา การฟังธรรม การขวนขวายช่วยเหลือ การทำความเห็นให้ตรง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามคนจำนวนมากชอบทำบุญด้วยการให้ทาน เพราะเป็นรูปธรรม เห็นผลชัดเจน อีกทั้งถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เล็กจนโต ดังนั้นเป็นธรรมดาที่คุณแม่ของคุณอยากทำบุญด้วยการให้ทาน หากไม่ได้ทำก็จะรู้สึกไม่สบายใจ เหมือนว่าไม่ได้ตอบแทนบุพการีเท่าที่ควร

ในเมื่อคุณแม่อยากทำบุญด้วยการให้ทาน คุณควรแนะนำท่านว่า การให้ทานที่มีอานิสงส์มาก คือ การให้ทานอย่างสัตบุรุษ (สัปปุริสทาน) ซึ่งมีองค์ประกอบ ๘ ประการคือ ให้ของสะอาด ให้ของประณีต ให้ของถูกเวลา ให้ของที่เหมาะสมกับผู้รับ ให้ด้วยวิจารณญาณ ให้เนืองนิตย์ เมื่อให้ทำจิตผ่องใส ให้แล้วเบิกบานใจ

  เห็นได้ว่าอานิสงส์ของทานนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินหรือของราคาแพง แม้เป็นเงินจำนวนน้อย หรือของราคาไม่แพง ก็มีอานิสงส์มาก หากเป็นของสะอาด ของประณีต ของถูกเวลา และของที่เหมาะสมกับผู้รับ ที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษคือ ๒ ข้อหลัง คือ เมื่อให้ จิตผ่องใส ให้แล้ว เบิกบานใจ ชี้ให้เห็นว่า อานิสงส์ของบุญนั้นอยู่ที่คุณภาพของใจเป็นสำคัญ หากถวายเงินจำนวนมาก แต่จิตใจเศร้าหมอง วิตกกังวล ย่อมได้บุญน้อยกว่าคนที่ถวายเงินไม่มาก แต่จิตผ่องใสเบิกบานเพราะให้ด้วยศรัทธา

อายที่แม่เป็นอัลไซเมอร์ตักอาหารเยอะ

  ปุจฉา : คุณแม่ของดิฉันเป็นคนไข้อัลไซเมอร์มาได้ ๕ ปีแล้ว ทันทีที่ทราบว่าคุณแม่เป็นโรคนี้ ดิฉันพยายามให้ท่านได้ทำบุญอย่างสม่ำเสมอด้วยการพาไปปฏิบัติธรรมวันเดียวกับพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่ต่างจังหวัดเดือนละครั้งมิได้ขาด แต่อาการป่วยของคุณแม่ทำให้ท่านมีปัญหากับการรับประทานอาหาร คือคุณแม่จะตักอาหารเยอะเกินกว่าจะทานได้หมดจนเป็นที่สังเกตของผู้ร่วมบุญท่านอื่นๆ

ดิฉันได้พยายามทัดทานตักเตือนทุกครั้งแต่คุณแม่ก็ดื้อและยังตักอาหารไม่ยอมหยุดจนดิฉันรู้สึกอายคนอื่นอย่างมาก แต่ก็ยังพาคุณแม่ไปปฏิบัติธรรมทุุุกเดือนเช่นเดิม เพราะท่านพระอาจารย์ที่นั่นเคยบอกดิฉันไว้ว่าโรคนี้รักษาไม่ได้ และให้กำลังใจดิฉันในการดูแลปรนนิบัติท่าน พร้อมทั้งแนะนำให้พาคุณแม่มาทำบุญอย่างสม่ำเสมอ ดิฉันก็พยายามปล่อยวางกับปัญหาเรื่องตักอาหารของคุณแม่ แต่ก็ยังอายคนอื่นอยู่ดี ไม่ทราบว่าดิฉันควรจะทำอย่างไรคะ..

วิสัชนา : คุณแม่ของคุณกำลังป่วย จึงต้องการความเข้าใจ และความเห็นใจจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะลูก ๆ การที่ท่านมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมนั้น เป็นธรรมดาของผู้ป่วยที่คุณควรยอมรับ หากคุณไม่ยอมรับ จะเกิดความทุกข์ทั้งแก่ตัวคุณและคุณแม่ ความอับอายในพฤติกรรมของท่าน อาจทำให้คุณรังเกียจ หรือโกรธเกลียดท่าน ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งแก่ตัวคุณและท่านเลย

อย่าให้ความอับอายเป็นตัวปิดกั้นความรักที่คุณมีต่อท่าน ใครจะคิดอย่างไรกับท่านไม่สำคัญเท่ากับคุณคิดและรู้สึกกับท่านอย่างไร พยายามยอมรับท่านอย่างที่ท่านเป็น และรักท่านอย่างไม่มีเงื่อนไข

อย่างไรก็ตาม หากคุณยังทำใจไม่ได้ที่ท่านตักอาหารเอง วิธีหนึ่งที่น่าจะช่วยได้คือ คุณตักอาหารให้ท่าน บอกท่านว่า ท่านอยากกินอะไร ขอให้บอก คุณจะจัดการให้

ล้อมกรอบ

สายด่วนให้คำปรึกษาทางใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย โทร ๐๘-๖๐๐๒-๒๓๐๒

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ