Lifestyle

ความสามัคคีคือรากฐานที่สำคัญของโลกทางสังคม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บายไลน์ นพพร เทพสิทธา เรื่อง อนันต์ จันทรสูตร์ ภาพ 

เมื่อวันอังคารที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายสักการะ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พร้อมกับคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งนำโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานคณะกรรมาธิการฯ

สมเด็จพระสังฆราช ประทานพร ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ และมีพระโอวาทธรรมแก่คณะผู้เข้าถวายสักการะด้วยพระเมตตาอย่างยิ่ง จึงขอสรุปพระดำรัสของพระองค์ไว้เป็นข้อระลึกปฏิบัติ และเผยแพร่ให้พุทธศาสนิกชนได้มีส่วนในธรรมนี้ด้วย

สมเด็จพระสังฆราช ทรงเล่าว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในปีพุทธศักราช ๒๔๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๒ ที่เหนือซุ้มประตูกลางภายในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประดิษฐานไว้ด้วยตราแผ่นดินประจำพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุคแรก ซึ่งด้านล่างมีแถบผ้าแพรเขียนกำกับไว้ด้วยพระคาถา

“สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา”

“ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้เป็นหมู่แล้วทั้งหลายทั้งปวง ยังความเจริญให้สำเร็จ”

พระคาถาบทนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ทรงนิพนธ์ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕ ความเจริญจากชาติตะวันตกที่เหนือกว่าถาโถมเข้ามาครอบงำประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ ตามมาด้วยลัทธิการล่าอาณานิคม พระองค์มีพระราชดำริว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัว เรียนรู้เทคโนโลยีและวัฒนธรรมของชาติตะวันตก และต้องสร้างความสามัคคีของชนทุกกลุ่มในชาติ ในที่สุด ด้วยพระปรีชาสามารถอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ และความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ประเทศไทยจึงรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือชาติใดๆ แม้จะต้องเสียดินแดนบางส่วนไป

ดังนั้น พวกเราในยุคนี้ ทุกหมู่เหล่า จึงควรหันหน้าเข้าหากัน และมีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จึงจะแก้ไขปัญหาของชาติในปัจจุบันและอนาคตได้

สมเด็จพระสังฆราชทรงเน้นย้ำธรรมที่สำคัญที่สุดสำหรับชาติไทยในเวลานี้ คือ สามัคคีธรรม ดังจะเห็นได้จาก พระดำรัสในพระปฐมโอวาท เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ที่ทรงขอให้ทุกคนรักษาจิตใจในพระรัตนตรัยให้คงที่ไว้ ยึดหลักธรรม ศีล สมาธิ ปัญญา ในทุกวัน ก็จะมีความสุขใจ และขอให้นำพระคาถาเรื่องความสามัคคีไปปฏิบัติ ก็จะทำให้ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ คงอยู่ต่อไปได้อย่างสถาพร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชาธิบายว่าด้วยเรื่องความสามัคคี ตามความในพระคาถา ดังนี้

“คาถานี้ เป็นคาถาซึ่งจารึกไว้ในอาร์มแผ่นดิน(ตราแผ่นดิน)เป็นคาถาที่ว่า ทั่วไปในหมู่ทั้งปวงไม่ว่าชาติในภาษาใดหมู่ใดที่ทำการอย่างใด แต่เมื่อจะว่าให้เฉพาะกรุงสยาม ว่าเป็นตามกาลซึ่งเป็นเวลาในบัดนี้ และไม่ว่าถึงคนทั้งปวงซึ่งเป็นหมู่ใหญ่ทั่วไป ยกเอาพวกที่เป็นผู้รับราชการ เป็นผู้ปกครองรักษาและเป็นผู้ทำนุบำรุงบ้านเมือง จะประพฤติอย่างไร จึงจะเป็นการสมควรถูกต้องด้วยคาถาสุภาษิตนี้ และจะได้รับความเจริญตามคาถาสุภาษิตนี้”

เมื่อโยโสมนสิการในพระโอวาทธรรมของสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันแห่งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงสร้างวัดแห่งนี้ เป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์แล้ว จึงได้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า

ความสามัคคี คือ ธรรมสำคัญที่อยู่คู่มนุษยชาติมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ทุกยุคทุกสมัย จนถึงปัจจุบัน ทำให้มนุษย์สามารถรักษาเผ่าพันธุ์ สร้างสังคม และ ดำรงความเป็นชาติไว้ได้อย่างยั่งยืน เมื่อใดที่ขาดสามัคคีธรรม ก็จะก่อให้เกิดหายนะจนถึงขั้นสูญชาติสิ้นเผ่าพันธุ์ได้ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างเหตุการณ์ครั้งสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์ที่เป็นอุทาหรณ์เตือนใจให้พวกเราอนุชนคนรุ่นหลังต้องเรียนรู้ และใช้สติปัญญาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

แม้ในโลกอนาคต ไม่ว่าจะเป็นยุค ๔.๐ หรือ ๕.๐ หรือ ยุคใดๆ ก็ตาม ไม่ว่ามนุษย์จะสร้างโลกขึ้นมาใหม่มากมายเพียงใด ทั้งโลกทางกายภาพและโลกไซเบอร์ แต่โลกทางสังคมที่เชื่อมโยงมนุษย์กับมนุษย์เข้าด้วยกัน เป็นเผ่าพันธุ์ ชุมชน สังคม และชาติ ก็ยังคงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวดเสมอ เมื่อใดที่โลกทางสังคมถูกละเลย ครอบงำด้วยอำนาจ และเบี่ยงเบนไปจากธรรมชาติ เมื่อนั้นก็ถึงยุควิกฤติและล่มสลายในที่สุด

ความสามัคคี คือ รากฐานที่สำคัญที่สุดของโลกทางสังคม ไม่ว่าเราจะแบ่งแยกออกไปเป็นกี่พวกกี่หมู่เหล่า ตามบทบาทหน้าที่ ตามคุณค่า ตามรสนิยมความชอบส่วนบุคคล ฯลฯ แต่เราต้องระลึกไว้เสมอว่า นั่นเป็นเพียงการจัดกลุ่มเพียงเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ทุกคนไม่ได้แบ่งแยกเด็ดขาด ยังคงเชื่อมโยงกันอยู่เสมอด้วยสามัคคีธรรม

ผู้ใดขาดสามัคคีธรรม ก็เท่ากับกำลังแยกตัวออกจากโลกทางสังคม สร้างความไม่สมดุลของการเชื่อมโยงกับโลกทั้งสี่ให้แก่ตนเอง คือ โลกทางกายภาพ โลกไซเบอร์ โลกทางสังคม และโลกทางความคิดหรือโลกภายใน และกำลังสร้างความวิบัติให้แก่ตนเองอย่างไม่รู้ตัว

ผู้ดำรงรักษาไว้ซึ่งสามัคคีธรรม ก็คือ ผู้ที่เข้าใจพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และดำรงชีวิตอยู่ด้วยสติปัญญา ไม่ประมาท และเชื่อมโยงอยู่ในโลกทั้งสี่อย่างสมดุล นำมาซึ่งความสำเร็จ ความเจริญ และความสุขอย่างแท้จริงให้แก่ตนเอง คนที่ตนรัก สังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ