Lifestyle

เครื่องเบญจศิลาดลบางช้างแห่งเดียวผลงานศิลปะที่ทรงคุณค่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เครื่องเบญจศิลาดลบางช้าง

           เครื่องเบญจรงค์เป็นงานศิลปะภูมิปัญญาของคนไทยที่มีความเป็นมายาวนาน นับวันยิ่งมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากหลงเหลือผู้สืบทอดเพียงไม่กี่ราย ปัจจุบันที่ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้มีการสืบทอดศิลปะนี้มานานกว่า 10 ปี ต่อยอดเบญจศิลาดลแห่งเดียวในจังหวัด จึงนับได้ว่าเป็นผลงานศิลปะที่ทรงคุณค่าและควรค่าแก่การอนุรักษ์อย่างยิ่ง

        ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สืบทอดการทำเบญจรงค์ไม่มากนัก แต่ในจังหวัดสมุทรสงคราม ยังมีกลุ่มคนที่ได้อนุรักษ์ไว้ในพื้นที่หมู่ 9 ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา คือนายธนวรรธน์ ชยุทวาณิชกุล อายุ 36 ปี บอกว่าได้ก่อตั้งกลุ่มบ้านเบญจรงค์บางช้างเครื่องเคลือบศิลาดลขึ้นมา เพราะมีความผูกพันกับการทำเบญจรงค์ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เนื่องจากญาติพี่น้องทำกิจการดังกล่าว จึงฝึกเขียนลายเบญจรงค์เพื่อหารายได้หลังเลิกเรียน กระทั่งเรียนจบวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงครามก็ได้ไปเรียนต่อที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาไทยวิจิตรศิลป์เชียงใหม่สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ จึงมีโอกาสเห็นการทำเครื่องเคลือบศิลาดลหรือเครื่องเคลือบสีเขียวที่แตกลายงา มีความงดงามแตกต่างจากเครื่องเคลือบสีขาวในภาคกลาง จึงได้ขอเข้าไปศึกษาที่โรงปั้นในจังหวัดสุโขทัย เมื่อเรียนจบช่วงปี 2540 เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตกหางานทำไม่ได้จึงนำความรู้เรื่องเครื่องเคลือบศิลาดลมาต่อยอดกิจการเบญจรงค์ที่บ้าน และได้เริ่มก่อตั้งกลุ่มเพื่อเข้าคัดสรรสินค้าโอทอปเมื่อปี 2545 ปัจจุบันมีช่างฝีมือท้องถิ่นเข้ามาทำงานด้วยกัน 8 คน การันตีมาตรฐานสินค้าโดยได้รับการคัดสรรสินค้าโอทอปประเภทของใช้ของตกแต่ง ระดับ 5 ดาวปี 2559 โดยกรมการพัฒนาชุมชน

           นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ทางกลุ่มมีการผลิตเครื่องเคลือบเบญจรงค์สีขาวเขียนลายและเครื่องเคลือบศิลาดลแบบเขียนลาย และไม่เขียนลายในรูปแบบต่างๆ เช่น แจกัน,จาน และชุดสำรับอาหารเบญจรงค์ เป็นต้น ส่วนราคามีตั้งแต่ชิ้นเล็กๆ 50 บาทจนถึงงานใหญ่ 50,000 บาท มียอดการผลิตเดือนละประมาณ 300 ชิ้น เนื่องจากผลงานแต่ละชิ้นจะต้องใช้ความประณีตใช้ช่างถึง 3 คนในการทำงาน 1 ชิ้น คือช่างเขียน ช่างลงสี และช่างเก็บรายละเอียด ใช้เวลาตั้งแต่ 2 ชั่วโมงขึ้นไปจนถึงหลายเดือนตามขนาดและความยากง่ายของผลิตภัณฑ์ ส่วนเรื่องการเขียนลวดลายนั้นสมัยก่อนจะมีการลงสีจากธรรมชาติ แต่ปัจจุบันได้นำสีสังเคราะห์มาปรับใช้คือ สีเซรามิคตกแต่งบนเคลือบสำหรับทำเบญจรงค์ มีทั้งลวดลายแบบดั้งเดิมเช่น ลายเครือเถา ตั้งตา จักรี ดอกลอย กระจังตาอ้อย ดอกไม้ และลวดลายที่ออกแบบใหม่เช่น หยดน้ำ ดอกลอย 2 ชั้น พันธุ์พฤกษา และพุ่มอารีย์ เป็นต้น ขณะที่ลายน้ำทอง และลายเครือเถา ซึ่งเป็นลายโบราณร่วมสมัยที่ให้ความคลาสิคดีไซน์ก็ยังได้รับความนิยมอยู่

         ส่วนผลงานเด่นของกลุ่มคือ การผลิตเครื่องเคลือบศิลาดลแบบครบวงจรตั้งแต่การปั้นจนถึงการเผาแบบเสร็จสมบูรณ์ถือเป็นแห่งเดียวในจังหวัดสมุทรสงคราม เนื่องจากเครื่องเคลือบศิลาดลมีกรรมวิธีหลายขั้นตอนและต้องใช้ความประณีตอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การเตรียมดินที่ต้องใช้ดินหน้านาหรือดินท้องนาที่มีฟางปนและไม้รกฟ้าที่ต้องนำไปเผาแล้วเอาขี้เถ้ามาใช้ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ต้องสั่งซื้อจากภาคเหนือเท่านั้น นอกจากนี้ดินดังกล่าวจะต้องมีคุณภาพสูง มีสนิมเหล็กต่ำและมีความชื้น 20 เปอร์เซ็นต์เพื่อให้การลงแม่พิมพ์จะได้คงรูปสวยงาม จากนั้นจึงนำเข้าเตาเผาที่อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส ตรวจสอบรอยร้าว ตกแต่งเขียนลาย ชุบน้ำเคลือบแล้วนำไปเผาที่อุณหภูมิ 1,250 องศาเซลเซียส 10 ถึง 12 ชั่วโมงอีกครั้งเพื่อให้ลายเส้นติดทนนานไม่หลุดลอกง่าย

        ปัจจุบันการทำเครื่องเบญจรงค์ลดน้อยลงมากเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่เฟื่องฟูเหมือนแต่ก่อน ประชาชนจึงซื้อเครื่องเบญจรงค์น้อยลง เว้นแต่จะซื้อเป็นของขวัญให้ผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซื้อเป็นของที่ระลึก และบริษัทต่างๆซื้อไปตกแต่งโรงแรม รีสอร์ท แต่ทั้งนี้ตนมองว่าศาสตร์ศิลปะแขนงนี้ยังทรงคุณค่าแก่การสืบทอดจึงเปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้การทำเบญจรงค์แก่เยาวชนและผู้สนใจโดยไม่คิดค่าสอนแต่อย่างใด

++++++++++++++++++++

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ