Lifestyle

ปุจฉา-วิสัชนา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บายไลน์ พระไพศาล วิสาโล

หยุดกังวลใจไม่ได้ ควรทำอย่างไร

  ปุจฉา  : กราบนมัสการพระอาจารย์ ขอสอบถามว่า ถ้ากังวลเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่แก้เองไม่ได้ โดยไม่สามารถหยุดกังวลเกี่ยวกับเรื่องนั้นได้จริงๆ จังๆ จะมีวิธีแก้ไขความกังวลนี้อย่างไรครับ

  วิสัชนา : คุณควรยอมรับความจริง เพราะหากไม่ยอมรับความจริง จะยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้น อันที่จริงสิ่งที่คุณกังวลอยู่นั้นอาจยังไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่คุณปรุงแต่งไปล่วงหน้าแล้ว จึงทำให้เกิดความวิตกกังวล พึงตระหนักว่าอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน สิ่งที่คุณกังวลอาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ จะดีกว่าหากคุณพาใจมาอยู่กับปัจจุบัน

หากจะนึกถึงอนาคต ก็ควรมองในแง่ของการเตรียมตัวรับมือเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งเตรียมใจไว้ด้วย การจมจ่อมอยู่กับภาพปรุงแต่งไปในทางเลวร้ายไม่เป็นประโยชน์กับคุณเลย นอกจากไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว ยังทำให้คุณเป็นทุกข์ และปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปโดยไร้ประโยชน์

อายที่แม่เป็นอัลไซเมอร์ตักอาหารเยอะ

  ปุจฉา : คุณแม่ของดิฉันเป็นคนไข้อัลไซเมอร์มาได้ ๕ ปีแล้ว ทันทีที่ทราบว่าคุณแม่เป็นโรคนี้ ดิฉันพยายามให้ท่านได้ทำบุญอย่างสม่ำเสมอด้วยการพาไปปฏิบัติธรรมวัดเดียวกับพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่ต่างจังหวัดเดือนละครั้งมิได้ขาด แต่อาการป่วยของคุณแม่ทำให้ท่านมีปัญหากับการรับประทานอาหาร คือคุณแม่จะตักอาหารเยอะเกินกว่าจะทานได้หมด จนเป็นที่สังเกตของผู้ร่วมบุญท่านอื่นๆ

ดิฉันได้พยายามทัดทานตักเตือนทุกครั้ง แต่คุณแม่ก็ดื้อ และยังตักอาหารไม่ยอมหยุด จนดิฉันรู้สึกอายคนอื่นอย่างมาก แต่ก็ยังพาคุณแม่ไปปฏิบัติธรรมทุุุกเดือนเช่นเดิม เพราะท่านพระอาจารย์ที่นั่นเคยบอกดิฉันไว้ว่าโรคนี้รักษาไม่ได้ และให้กำลังใจดิฉันในการดูแลปรนนิบัติท่าน พร้อมทั้งแนะนำให้พาคุณแม่มาทำบุญอย่างสม่ำเสมอ ดิฉันก็พยายามปล่อยวางกับปัญหาเรื่องตักอาหารของคุณแม่ แต่ก็ยังอายคนอื่นอยู่ดี ไม่ทราบว่าดิฉันควรจะทำอย่างไรคะ..

วิสัชนา : คุณแม่ของคุณกำลังป่วย จึงต้องการความเข้าใจ และความเห็นใจจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะลูกๆ การที่ท่านมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมนั้น เป็นธรรมดาของผู้ป่วยที่คุณควรยอมรับ หากคุณไม่ยอมรับ จะเกิดความทุกข์ทั้งแก่ตัวคุณและคุณแม่ ความอับอายในพฤติกรรมของท่าน อาจทำให้คุณรังเกียจ หรือโกรธเกลียดท่าน ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งแก่ตัวคุณและท่านเลย

อย่าให้ความอับอายเป็นตัวปิดกั้นความรักที่คุณมีต่อท่าน ใครจะคิดอย่างไรกับท่านไม่สำคัญเท่ากับคุณคิดและรู้สึกกับท่านอย่างไร พยายามยอมรับท่านอย่างที่ท่านเป็น และรักท่านอย่างไม่มีเงื่อนไข

อย่างไรก็ตาม หากคุณยังทำใจไม่ได้ที่ท่านตักอาหารเอง วิธีหนึ่งที่น่าจะช่วยได้คือ คุณตักอาหารให้ท่าน บอกท่านว่า ท่านอยากกินอะไร ขอให้บอก คุณจะจัดการให้

ล้อมกรอบ

สายด่วนให้คำปรึกษาทางใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย โทร.๐๘-๖๐๐๒-๒๓๐๒

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ