Lifestyle

พระไพศาล ส่อง“อภิมหาสำนัก”ถึง“อาณาจักรธรรมกาย”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ มองกรณีวัดพระธรรมกายและสานุศิษย์

ผ่านโครงสร้างของคณะสงฆ์ไทยและบริบทของพระพุทธศาสนาไทยไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือ “พุทธศาสนาไทยในอนาคต : แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ” ตอนหนึ่งว่า พุทธศาสนาแบบปัจเจกบุคคลแม้เป็นแนวโน้มหลัก แต่ก็จะไม่ใช่แนวโน้มเดียว ปรากฏการณ์ด้านตรงกันข้ามจะเกิดเป็นปฏิกิริยาตอบโต้

“นั่นคือพุทธศาสนาแบบมหาชน หรือพุทธศาสนาแบบที่ดึงผู้คนจำนวนมากเข้ามาเกาะกลุ่ม หรืออยู่ในร่มเงาเดียวกัน ยิ่งมีการนับถือศาสนาแบบเฉพาะตัว หรือนับถือในใจ ต่างคนต่างปฏิบัติ ไม่เกี่ยวข้องกันมากเท่าไหร่ คนเป็นอันมากก็ยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยวเกิดความโหยหา ต้องการเพื่อนหรือหมู่คณะ คนเหล่านี้เองที่จะถูกดึงดูดให้เข้าหาสำนักที่สามารถสนองความรู้สึกส่วนนี้ได้ ด้วยเหตุนี้จะมีบางสำนัก บางลัทธินิกายที่เติบใหญ่อย่างรวดเร็วในด้านจำนวนผู้นับถือ"

จึงไม่น่าแปลกใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับกรณีที่พระลูกวัดพระธรรมกายรูปหนึ่งประกาศหลังจากที่พระธัมมชโยถูกถอดสมณศักดิ์ว่า ท่านไม่ได้ใส่ใจในส่วนตรงนั้นเนื่องจากคณะพระสงฆ์และศิษยานุศิษย์เคารพหลวงพ่อธัมมชโยที่ตัวบุคคล ไม่ได้เคารพที่สมณศักดิ์แต่อย่างใด และยังคงเป็นที่เคารพของชาววัดพระธรรมกายเช่นเดิม

พระไพศาลวิเคราะห์สถานการณ์ความศรัทธาในศาสนาอันเป็นที่พึ่งทางใจของผู้คนในยุคใหม่ ในหนังสือเล่มดังกล่าว ต่อมาว่า ปรากฏการณ์สองขั้วตรงข้ามของความเชื่อ เป็นสิ่งที่เห็นได้ไม่ยาก

“ขณะที่คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยถือว่าศาสนาเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับคนอื่น ไม่เข้าโบสถ์ (หรือถึงเข้าก็ไม่ได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับใคร) ก็จะมีโบสถ์อีกมากมายที่สามารถดึงดูดสมาชิกได้เป็นแสนเป็นล้าน อย่างที่เรียกว่า “อภิมหาสำนัก” หรือ magachurch โบสถ์ดังกล่าวมีสถานีโทรทัศน์เป็นของตัวเอง

“ในญี่ปุ่น นิกายหรือศาสนาองค์กรใหม่ๆ เช่น ริชโชโกเซไก โสกักกาไก ประสบความสำเร็จในการหาสมาชิกได้หลายล้านคนเพราะการสร้างความรู้สึกร่วมลงไปถึงระดับท้องถิ่น หรือละแวกบ้าน”

ท่านอธิบายว่า ปรากฏการณ์นี้มิได้เกิดแก่ประเทศอุตสาหกรรมเท่านั้น ในฟิลิปปินส์

“เอลแชดได (El Shaddai) ซึ่งจัดว่าเป็นโบสถ์อย่างใหม่ของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก สามารถดึงคนนับแสนมาร่วมพิธีทางศาสนาทุกคืนวันเสาร์กลางกรุงมะนิลา ส่วนวินเนอร์สเชิร์ช ( Winner’s church) ในไนจีเรีย มีสมาชิกมาร่วมฟังเทศน์คราวละไม่ต่ำกว่า 50,000 คน

“ในเมืองไทย วัดพระธรรมกายเป็นตัวอย่างหนึ่งที่กำลังไปสู่จุดนั้น (หากไม่สะดุดขาตัวเองเสียก่อน) นอกจากจะให้ความสำคัญกับการจัดพิธีกรรมที่ดึงดูดคนมาร่วมงานได้หลายแสนคนพร้อมกัน โดยมีสถานที่และปัจจัยรองรับอย่างพร้อมมูลแล้ว ยังมีกลไกและเครือข่ายคือ “ศูนย์กัลยาณมิตรประจำจังหวัด” ทั่วประเทศ เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างวัดพระธรรมกายกับสมาชิก ซึ่งนอกจากจะชักชวนคนมาทำบุญและหาทุนให้วัดแล้ว ยังช่วยเหลือเกื้อกูลในเรื่องส่วนตัว ทั้งในด้านการเงินและการแกไขปัญหาชีวิต ขณะเดียวกันสำนักนี้ยังมีสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ จดหมายข่าวตลอดปี ยังไม่นับบุคลากร ทั้งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครอีกนับพันคน เพราะพระภิกษุในวัดก็มีจำนวนมากที่สุดของประเทศทั้งในและนอกพรรษา (เกือบ 600 รูป) "

ในที่สุดธรรมกายก็สะดุดขาตัวเอง เมื่อนำการตีความใหม่ของเจ้าลัทธิเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสร้างฐานอำนาจในการเมือง มหาเถรสมาคม แผ่อิทธิพลไปยังวัดทั่วประเทศ และยังเข้าไปมีอิทธิพลในใจของบรรดาสานุศิษย์ที่สามารถสั่งให้หันซ้ายขวาได้ตามที่ต้องการ

ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนผ่านฐานขั้วอำนาจทางการเมือง ประกอบกับความร่วมมือของผู้ที่เคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนาเถรวาทอย่างสุดจิตสุดใจ ที่ทนไม่ได้ที่จะเห็นผู้คนจมอยู่ในความงมงายมายาวนานราว 30 ปี

หลังจากกรณีสหกรณ์คลองจั่นถูกตรวจสอบ และเปิดเผยถึงการโยกย้ายเงินเพื่อเข้าสู่วัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นเหมือนหินก้อนใหญ่ที่สะดุดขาธรรมกายอย่างแรงจนล้มลงเป็นระลอกจนมาถึงวันนี้ ที่ถึงเวลาสุดท้ายแล้วที่มหาเถรสมาคมจะนำพระธัมมชโยขึ้นศาลสงฆ์เพื่อตัดสินความตามเหตุผลของพระธรรมวินัย ที่จะขจัดผู้ที่ไม่ใช่ออกไปจากสังฆมณฑล แล้วจัดหาเจ้าอาวาสใหม่ไปแทนที่? ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาชนิดบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นได้ในที่สุด หรือจะเป็นการสร้างความรักในตัวพระธัมมชโยยิ่งขึ้นของบรรดาสานุศิษย์ก็อาจเป็นไปได้

พระอาจารย์ไพศาล เชื่อมโยงให้เห็นอีกลัทธิหนึ่งที่ถูกมหาเถรสมาคมตัดออกจากความเป็นสงฆ์เถรวาทเมื่อสามสิบปีก่อน ก็คือ สันติอโศก

“สันติอโศก หากจะคล้ายกับวัดพระธรรมกายก็ตรงที่สามารถสร้างความรู้สึกเป็นกลุ่มก้อน ตอบสนองความต้องการ มีหมู่คณะหรือสังกัด แม้จะมีสมาชิกไม่มากเท่าวัดพระธรรมกาย แต่ก็เป็นสำนักที่ใหญ่ มีเครือข่ายอยู่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในรูปพุทธสถาน และหน่วยงานสมาชิก เช่น ชมรมมังสวิรัติ ร้านบุญนิยม กองทัพธรรมมูลนิธิ เป็นต้น"

เมื่อมองผ่านสันติอโศก กับวัดพระธรรมกาย ที่สุดโต่งไปทั้งสองทาง พระอาจารย์ไพศาลมองถึงพระพุทธศาสนาไทยในอนาคตว่าอย่างไรก็ตาม เมื่อมองสถานการณ์วันนี้ พุทธศาสนากำลัง “ถูกปลดปล่อย” ให้เป็นอิสระจากรัฐ (และมหาเถรสมาคม) ซึ่งมีนัยต่อมาว่า พุทธศาสนากำลังถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากความเป็นไทยด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ