Lifestyle

พระองค์โสมฯชมงานศิลป์ไอเดียเด็กรุ่นใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศิลปวัฒนธรรม : พระองค์โสมฯ ชมงานศิลป์ไอเดียเด็กรุ่นใหม่

 
        เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้ความสามารถในงานศิลปะได้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานตามแนวความคิด จินตนาการตามความถนัดมานานกว่า 3 ทศวรรษ จนกระทั่งศิลปินที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ “จิตรกรรมบัวหลวง” ของมูลนิธิบัวหลวง ได้การยอมรับนับถือในหมู่วงการศิลปะอย่างกว้างขวาง และเพื่อเผยแพร่ผลงานทรงคุณค่าให้แก่ผู้สนใจ มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง จึงจัดนิทรรศการ “จิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 37” โดยนำผลงานของผู้ได้รับรางวัลจำนวน 9 ชิ้น และผลงานที่ได้รับการคัดเลือกปีก 43 ชิ้น รวม 52 ชิ้น มาจัดแสดง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจร่วมสัมผัสแนวคิดของผลงานระดับคุณภาพ
 
 
พระองค์โสมฯชมงานศิลป์ไอเดียเด็กรุ่นใหม่
 
 
        ในการนี้ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จมาทรงเปิดงาน พร้อมประทานรางวัลแก่ศิลปินที่ชนะการประกวด โดยมี ม.จ.มงคลเฉลิม ยุคล กรรมการธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการมูลนิธิบัวหลวง นำพนักงานและเหล่าศิลปินเฝ้ารับเสด็จ หลังทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการแล้ว พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการ พร้อมทรงซักถามอย่างสนพระทัย ทั้งยังมีพระดำรัสถึงผลงานที่นำมาจัดแสดงว่า “ชื่นชมภาพเขียนของแต่ละคน มางานทุกปี แต่ละปีผลงานแตกต่างกันออกไป”
 
 
พระองค์โสมฯชมงานศิลป์ไอเดียเด็กรุ่นใหม่
 
 
        สำหรับการประกวดแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี จิตรกรรมไทยแนวประเพณี และจิตรกรรมร่วมสมัย ปีนี้มีศิลปิน 144 คน ส่งผลงานเข้าประกวดรวมทั้งสิ้น 205 ภาพ ซึ่งหลังจากคณะกรรมการร่วมกันพิจารณาตัดสิน มีมติให้รางวัลแก่ผู้มีผลงานยอดเยี่ยมดังนี้ ประเภทจิิตรกรรมไทยแบบประเพณี เป็นงานจิตรกรรมทีี่มีแบบอย่าง กระบวนการสร้างสรรค์แนวความคิด กลวิธี และเรื่องราวเนื้อหาสาระ ที่ดำรงภาพลักษณ์แบบไทยประเพณี รางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง ได้แก่ผลงานชื่อ “พระพุทธเจ้า” ผลงานของ จิรวัฒน์ ทรัพย์อร่าม, รางวัลที่ 2 เหรียญเงินบัวหลวง ได้แก่ ผลงานชื่อ “เพลงปลาตะเพียน 2” ผลงานของ นิโรจน์ จรุงจิตวิทวัส ส่วนรางวัลที่ 3 เหรียญทองแดงบัวหลวง ผลงานที่ได้รับรางวัลคือ “สัญลักษณ์แห่งมงคลชีวิต” ของ อัจฉราภรณ์ กล่ำเกลื่อน
 
 
พระองค์โสมฯชมงานศิลป์ไอเดียเด็กรุ่นใหม่
 
 
        ประเภทจิตรกรรมไทยแนวประเพณี เป็นงานจิตรกรรมไทยแนวประเพณี เป็นงานจิตรกรรมที่มีกระบวนการสร้างสรรค์แนวความคิด กลวิธี และเรื่องราวเนื้อหาสาระ ที่ดำรงภาพลักษณ์แบบไทยประเพณี มาพัฒนาสร้างสรรค์ให้เข้ากับสมัยนิยม รางวัลที่ 1 ผลงาน “ภาพสะท้อนความรู้สึก” ของ สิทธิพนธ์ เลาะไชยสงค์, รางวัลที่ 2 ผลงานชื่อ “เกิด-ดับ” ของ อนุชา ตามูลเรือง และรางวัลที่ 3 “ซากความอุดมสมบูรณ์” โดย ศุภวัฒน์ วิบุลศิลป์
 
        ประเภทสุดท้ายจิตรกรรมร่วมสมัยเป็นงานจิตรกรรมที่มีกระบวนการสร้างสรรค์แนวความคิด กลวิธี และเรื่องราวเนื้อหาสาระที่มีการแสดงออกอย่างอิสรเสรี รางวัลที่ 1 ผลงานชื่อ “โลกของสตรีมุสลิม 2” ผลงานของ ยามีล๊ะ หะยี, รางวัลที่ 2 “นรกภูมิ 1 (มหาโรรุวมหานรก)” โดย กิตติศักดิ์ เทพเกาะ และรางวัลที่ 3 ผลงานชื่อ “บรรพบุรุษรำลึก” ผลงานโดย ธิติพรหม อ่อนเปี่ยม
 
 
พระองค์โสมฯชมงานศิลป์ไอเดียเด็กรุ่นใหม่
 
 
        หลังรับประทานรางวัล จิรวัฒน์ ทรัพย์อร่าม ศิลปินอิสระ เจ้าของผลงาน “พระพุทธเจ้า” เปิดเผยว่า ภาพนี้ใช้เทคนิคสีฝุ่นปิดทองคำเปลวปักติดปีกแมลงทับ โดยได้แรงบันดาลใจจากศิลปะไทยซึ่งเป็นศิลปะประจำชาติที่พบเห็นได้ทั่วไปตามวัดวาอาราม ในภาพเป็นฉากในพุทธประวัติตอนที่ลงมาโปรดท้าวมหาชมพู ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่คิดว่าตัวเองมีบารมี เลอเลิศที่สุด พระพุทธเจ้าจึงทรงเนรมิตกายเป็นกษัตริย์ทรงเครื่องให้ดูอลังการกว่าเท้ามหาชมพู เพื่อให้ท้าวมหาชมพูรู้ว่ายังมีคนอื่นที่เหนือกว่าตน
 
        “ส่งผลงานเข้าประกวดเป็นครั้งแรก ยอมรับว่ารู้สึกกดดัน เพราะมีคนส่งผลงานร่วมประกวดมาก แต่ก็พยายามทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ใช้เวลากว่า 5 เดือน เมื่อพอรู้ว่าได้รางวัลรู้สึกตื่นเต้นและตื้นตันมาก ไม่คิดว่าจะได้รางวัลชนะเลิศ เพราะที่ผ่านมาผลงานแนวนี้ไม่ได้รางวัลมานานร่วม 20 ปีแล้ว ทั้งยังมีโอกาสได้เดินทางไปดูงานที่ประเทศอิตาลีด้วย เป็นงานที่ใหญ่มากได้ชมงานศิลปะจากศิลปินดังๆ มากมาย ทั้งยังได้สัมผัสศิลปะแบบเรเนซองส์ ซึ่งเป็นยุคที่ศิลปะเฟื่องฟูที่สุด และสามารถนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานต่อไปด้วย” จิรวัฒน์ เผย
 
 
พระองค์โสมฯชมงานศิลป์ไอเดียเด็กรุ่นใหม่
 
 
        ด้าน สิทธิพนธ์ เลาะไชยสงค์ นักศึกษาปริญญาโท ม.ศิลปากร เจ้าของผลงาน “ภาพสะท้อนความรู้สึก” ด้วยเทคนิกสีฝุ่นอะคริลิก บอกว่า สร้างสรรค์ผลงานศิลปะขึ้นเพื่อการแสดงออกที่สะท้อนถึงความซับซ้อนของจิตความนึกคิดต่างๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาในใจ ทั้งที่เป็นสาระและไม่ใช่สาระ บ้างก็แสดงตรงๆ บ้างก็แสดงออกอย่างซับซ้อน ซึ่งตัวเองเฝ้าดูและสังเกตถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ของความคิดและความรู้สึก เพื่อการเรียนรู้ตนเองอย่างเข้าใจ และนำไปปรับปรุงแก้ไขดีชั่วที่อยู่ในใจ พัฒนาหรือยกระดับจิตใจให้ดีขึ้น โดยอาศัยการแสดงออกทางศิลปะในการพิจารณาตัวเอง
 
        ขณะที่ ยามีล๊ะ หะยี นักศึกษาปริญญาโท ม.ศิลปากร เจ้าของผลงาน “โลกของสตรีมุสลิม 2” เปิดเผยว่า ผลงานนี้สร้างสรรค์ขึ้นด้วยเทคนิคเย็บปักผ้า เป็นการนำเรื่องราวของสตรีมุลลิมทั้งหลักปฏิบัติและความศรัทธาซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว มาเป็นแรงบันดาลใจในการถ่ายทอดผลงาน โดยมีเป้าหมายคือการเป็นสตรีที่ดีของสังคม ผลงานนี้ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ความยากอยู่ที่การทับซ้อนเพื่อให้เกิดพื้นผิว ให้เกิดบรรยากาศและเรื่องราวที่สอดคล้องกัน
 
 
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ