Lifestyle

ซีอีโอ'รถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์'คนแรก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ซีอีโอ'รถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์'คนแรก ตั้ง 3 ยุทธศาสตร์พัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ : คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษ

 
                         พีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ รถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ (Airport Rail Link) คนแรก เปิดใจ ขอที่ใช้ความเป็น "คนหนุ่มไฟแรง" ผลักดันให้ "รถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์" เดินหน้าสู่ความเป็นเลิศในอนาคต สอดคล้องกับพันธกิจของบริษัทที่ว่า "ให้บริการด้วยความปลอดภัย เชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพ และความคุ้มค่า"
 
                         "พีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา" เคยดำรงตำแหน่งกรรมการของกระทรวงคมนาคม และเคยเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น "ซีอีโอ คนแรก" ของรถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ โดยเริ่มปฏิบัติงานครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 
 
                         ซีอีโอ พีรกันต์ เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะมาสมัครเข้าเป็นผู้บริหารของรถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ เคยเห็นเอกสารร้องเรียน และเคยได้ยินการบอกเล่าเชิงลบของรถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ มาก่อน ทั้งเรื่องประตูปิดเสียงดัง ทางเข้า-ออกไม่ปลอดภัย ลิฟต์ใช้การไม่ได้ บันไดเลื่อนเสีย 3 เดือน รถไฟเสียบ่อย รถไฟเข้าสถานีไม่ตรงเวลา ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายอยากให้เข้ามาแก้ไขอย่างยิ่ง เมื่อได้รับเลือกเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ ก็ลงมือทำงานเชิงรุกทันที ทำให้รู้ว่า บริษัทนี้ตั้งขึ้นมาด้วยความไม่พร้อมเท่าที่ควร เช่น เรื่องระเบียบการปฏิบัติงาน เงินทุนบริษัท กลไกในการบริหารจัดการ เป็นต้น
 
                         "แม้รถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ จะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็ตาม แต่ไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร มีปัญหามากมายที่ต้องการคนเข้ามาช่วยแก้ไข ผมจึงอาสามาช่วยแก้ไข ด้วยความที่ผมยังเป็นคนหนุ่ม ยังมีไฟในการทำงานอีกมากมาย อีกทั้งรถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ ก็เพิ่งเกิดมาได้แค่ 3 ปี ผมพร้อมที่จะเริ่มต้นพัฒนาองค์กรนี้ไปพร้อมๆ กัน ผมจำได้ว่า วันแรกที่ผมมาทำงาน มีพนักงานเข้ามาต้อนรับอย่างอบอุ่น พวกเขาคงดีใจที่มีผู้บริหารมาดูแลสวัสดิการความเป็นอยู่ของพวกเขา ผมได้รับทราบปัญหาของพนักงาน ทั้งเรื่องสัญญาว่าจ้าง เรื่องค่าล่วงเวลา เงินสวัสดิการต่างๆ ที่ล่าช้าข้ามปี ผมเข้าไปคุยกับ ร.ฟ.ท. จนสามารถจัดการเรื่องสัญญาว่าจ้างพนักงานให้ถูกต้องตามกฎหมายได้สำเร็จ เป็นสัญญาว่าจ้างแบบปีต่อปี แต่ผมมองว่า ระยะเวลาในการจ้างสั้นเกินไป จึงได้เสนอขอเป็นสัญญาว่าจ้างระยะเวลา 10 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงและขวัญกำลังใจให้แก่พนักงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ร.ฟ.ท."
 
                         พีรกันต์ บอกถึงความตั้งใจในการบริหาร รถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ ในช่วงระยะเวลา 4 ปี ที่รับตำแหน่งว่า ตั้งเป้าไว้ 3 ยุทธศาสตร์ เริ่มที่ยุทธศาสตร์แรก คือ ความจริงใจในการให้บริการ เป็นภาพลักษณ์แรกที่ต้องเร่งดำเนินการให้ชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะคนภายนอกอาจมองว่า พนักงานไม่เก่ง ระบบไม่ดี จึงต้องสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจ ซึ่งพนักงานของบริษัทส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ อายุโดยเฉลี่ยประมาณ 30 ปี ซึ่งสามารถร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าอย่างมั่นคงได้ไม่ยาก เมื่อมีปัญหาก็สามารถที่จะแก้ไขได้ทันท่วงที ไม่มีการเมืองภายใน ไม่มีการเล่นพรรคเล่นพวก
 
                         ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ เรื่องการเงิน ที่กำลังทำอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะเรื่องเงินทุนในบริษัท ที่ขณะนี้มีเพิ่มขึ้นพอสมควร จากที่เมื่อก่อนไม่มีเลย ทุกอย่างต้องวิ่งไปเบิกกับ ร.ฟ.ท. ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย เป็นการเสียเวลาอย่างมาก นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องความยั่งยืนของบริษัท สัญญาว่าจ้างพนักงาน สวัสดิการพนักงาน ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นการดูแลขั้นพื้นฐานที่พนักงานควรได้รับ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงาน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังจากเข้าตำแหน่ง สามารถทำเรื่องสัญญาว่าจ้างแบบปีต่อปีให้พนักงานได้สำเร็จ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ดีกับพนักงานทั้งสิ้น
 
                         "ถ้ารถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ มีพนักงาน 500 คน เป็นวิศวกร 300 คน เป็นพนักงานทั่วไปอีก 100 กว่าคน ซึ่งในจำนวน 300 คนนี้ ใช้เทคโนโลยีระบบไฮ สปีด วิ่งด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่ไช่รถไฟฟ้าธรรมดา การสร้างคนของเราด้วยขาของเราเอง จึงมีมูลค่ามหาศาล เมื่อก่อนชุดแรกๆ ต้องจ้างฝรั่งมาติดตั้งระบบ เสียค่าใช้จ่ายเดือนละเป็นล้านบาท แต่ผมจ้างพนักงานที่มีความรู้เท่ากับฝรั่งแค่หลักหมื่นเท่านั้น ซึ่งในอนาคตถ้าจะมีรถไฟสายอื่นๆ ต้องการเดินทางความเร็วแบบกึ่งไฮ สปีด รถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ พร้อมที่จะดำเนินการให้ เพราะวิศวกรของเรามีศักยภาพ มีประสบการณ์ที่จะทำได้ ไม่ต้องจ้างฝรั่ง ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อระบบจากฝรั่งเป็น 10 -20 ล้านอีกแล้ว เราทำเองได้แล้ว"
 
                         เรื่องสำคัญเช่นเรื่องการวางแผนการเดินรถ ที่ทำได้โดยคนไทย พยายามจัดการวางแผนให้ดี เพื่อไม่ให้รถไฟชนกัน รถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ เดินรถมาเป็นเวลา 3 ปี เป็นเบอร์หนึ่งของประเทศไทย และที่สำคัญ รถไฟแอร์พอร์ต เรลลิงค์ เป็นรัฐวิสาหกิจองค์กรเดียวที่ทั้งเดินรถและซ่อมบำรุงเอง โดยไม่ต้องจ้างฝรั่ง ดังนั้นจึงต้องพยายามสร้างคนเก่งให้มากๆ และพัฒนาบุคลากรใหม่ๆ เข้ามาเพิ่ม เพื่อพัฒนาองค์กรให้เป็นเลิศ 
 
                         พีรกันต์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์ที่ 3 ว่าจะเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ๆ พัฒนาบุคลากรและระบบไปพร้อมๆ กัน ทำงานแบบสากล แต่รับเงินเดือนแบบไทยๆ เตรียมพร้อมรองรับทำงานร่วมกับรถไฟระบบใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย และขอย้ำว่า จะผลักดันให้ยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ที่ตั้งใจไว้บรรลุผลสำเร็จให้ได้ภายในอายุสัญญาการทำงาน 4 ปี ซึ่งขณะนี้ทำสำเร็จไปแล้ว 1 ยุทธศาสตร์ คือ เรื่องสัญญาว่าจ้างของพนักงาน จากนี้ไปก็จะเดินหน้าทำงานที่ตั้งใจไว้ให้ประสบความสำเร็จทั้งหมด
 
                         ส่วนการบริการต่างๆ โดยรอบสถานี รถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ พีรกันต์ กล่าวว่า มีการเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขณะนี้ บันไดเลื่อนตามสถานีต่างๆ ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมจนสามารถใช้งานได้ตามปกติแล้ว และทำสัญญากับบริษัทดูแลบันไดเลื่อนว่า ถ้าบันไดเลื่อนเสีย ต้องมีพนักงานมาซ่อมแซมภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนทางเข้า-ออกสถานี ได้สั่งการให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ ตัดหญ้าที่ขึ้นสูง เพิ่มไฟส่องสว่าง ปรับภูมิทัศน์ให้เป็นระเบียบสวยงาม ขอความร่วมมือจาก ร.ฟ.ท. ขอติดตั้งกล้องวงจนปิดดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสาร 
 
                         "นอกจากนี้ ร.ฟ.ท. ได้อนุมัติทำทางเดินเชื่อม หรือสกาย วอล์ก ระหว่างสถานีมักกะสัน ไปยังรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที สถานีเพชรบุรี เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ มีลิฟต์และบันไดเลื่อน อำนวยความสะดวก อยากให้ประชาชน หรือผู้ใช้บริการรถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ ทราบว่า พนักงานรถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ ทุกคน พร้อมที่จะให้บริการอย่างเต็มความสามารถ และในฐานะที่ผมเป็นผู้บริหาร ผมก็พร้อมที่จะพัฒนาทุกอย่างของรถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ ให้ดียิ่งขึ้นด้วย"
 
                         ที่ผ่านมา รถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ มีผู้ใช้บริการในแต่ละวันประมาณ 5 หมื่นคน แต่ปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการมากขึ้นเป็น 7 หมื่นกว่าคน ด้วยความที่มีซีอีโอ คนแรก เป็นคนหนุ่มไฟแรง พร้อมที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยมีการตั้งสมมุติฐาน คิดล่วงหน้า และหาทางแก้ปัญหา ถ้ารถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ มีการบริการที่ดีขึ้น รับรองว่าต้องมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน มีผู้ที่พร้อมจะใช้บริการตามเส้นทางวิ่งของรถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ จำนวนมาก ถ้าบริการดีใครบ้างจะไม่อยากใช้บริการ นี่คือความตั้งใจของซีอีโอ คนแรกของรถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์
 
                         "รายได้จากรถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ เข้า ร.ฟ.ท. ผมได้แต่ผลงาน แต่เป็นความภูมิใจอย่างที่สุดของผมด้วย จาก 100 คะแนน ได้สัก 60-70 คะแนน ผมก็ดีใจแล้ว แต่สิ่งที่ยังแก้ไม่ได้ คือ เรื่องประตูเปิด-ปิดเสียงดัง ที่กำลังหาทางแก้ไขอยู่ รถไฟยี่ห้อซีเมนต์ รุ่นที่ให้บริการอยู่ขณะนี้มีใช้อยู่แค่ 2 ที่ คือที่ประเทศไทย และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งบริษัท ซีเมนต์ กำลังแก้ปัญหาอยู่ และสัญญาว่ารถไฟรุ่นใหม่จะไม่ดังแบบนี้อีก น่าจะอีกประมาณ 2 ปี คนไทยจึงจะได้ใช้ เพื่อรองรับปริมาณของผู้ใช้บริการทีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน"
 
 
 
....................................
 
(ซีอีโอ'รถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์'คนแรก ตั้ง 3 ยุทธศาสตร์พัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ : คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษ : พีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ รถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ (Airport Rail Link))
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ