Lifestyle

โลก (ของเก่า) ของยุค ศรีอาริยะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โลก (ของเก่า) ของ ยุค ศรีอาริยะ : คอลัมน์คุยนอกกรอบ : โดย...สินีพร มฤคพิทักษ์

                ปกติเวลานัดสัมภาษณ์ หรือรับเชิญไปวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ หรือ “ยุค ศรีอาริยะ” นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีระบบโลก จะให้คำตอบได้ภายในหนึ่งวัน ทว่า เมื่อ “คม ชัด ลึก” ขอคุยเรื่องการสะสมของเก่า ดร.เทียนชัย บอกว่าขอเวลา 1 สัปดาห์ สำหรับการเรียบเรียงความคิด !

                ดร.เทียนชัยเล่าว่า เข้ามาเกี่ยวข้องกับของเก่าตั้งแต่เป็นนักศึกษา เนื่องจากเป็นนักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน ทำให้ถูกมองว่าเป็น “ฝ่ายซ้าย” และถูกสันติบาลคอยติดตามเรื่อยๆ ตอนหลังต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ตนเองให้เบาลง จึงพาสันติบาลไปดูพระ (เครื่อง)

               “ผมเคลื่อนไหวเรื่องแรงงานตั้งแต่เป็นนักศึกษา ตอนเรียนปริญญาโทจบแล้ว ก็ยังเคลื่อนไหวอยู่ประมาณ 6 ปี ตอนนั้นยังไม่ได้ไปเรียนต่อที่อเมริกา ทำเพื่อให้ภาพลดโทนว่าเราไม่ใช่เป็นฝ่ายซ้ายแบบที่คนเข้าใจกัน จริงๆ ผมไม่ได้เป็นฝ่ายซ้ายสุดๆ แบบที่เข้าใจกัน สมัยนั้นผมสนใจปรัชญา ศาสนา สนใจงานของกฤษณะมูรติ แนวคิดเซ็น แนวคิดท่านพุทธทาส สนใจแนวคิดมาร์กซิสต์ และลิเบอร์รัล คือมันเป็นระบบคิด”

                ดร.เทียนชัย เริ่มสนใจศิลปะ เมื่อครั้งไปปริญญาเอกเกี่ยวกับระบบโลกที่สหรัฐอเมริกา และอาจารย์เฟอร์นานด์ โบรเดล (Fernand Braudel) ซึ่งเป็นนักทฤษฎีระบบโลกมีความเชื่อว่า การจะเข้าใจความเป็นปัจจุบันได้ ต้องเข้าใจอดีตอย่างชัดเจน

                อาจารย์อีกท่านคือฮอบกินส์ (Terrence Hopkins) เชื่อว่าคำอธิบายที่ผ่านมาถูกครอบงำโดย westernization คือการเรียนรู้ทั้งหมดของเราอยู่ในกรอบการอธิบาย โดยนำวัฒนธรรมตะวันตกหรือประวัติศาสตร์ตะวันตกมาเป็นศูนย์กลาง และโยนทิ้งประวัติศาสตร์ตะวันออก ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีรัฐศาสตร์จากอริสโตเติล โสเครติส ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มาจากแนวคิดของอดัม สมิธ ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ของชาร์ลส์ ดาวิน

                “การคิดและเชื่อว่าสายอื่น เช่น สายตะวันออกล้าหลัง หรือโบราณกว่า เมื่อล้าหลังเราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ หรือรู้แบบคร่าวๆ ก็พอ...อาจารย์ฮอบกินส์มีอิทธิพลทางความคิดของผมมาก แต่แกก็บอกว่ามีความจำกัดเพราะไม่ได้เรียนเรื่องตะวันออก คือคนตะวันตกเองก็เข้าไม่ถึงความเป็นตะวันออก”

                แล้วทฤษฎีระบบโลกเกี่ยวข้องกับการสะสมของเก่าอย่างไร?

               “ผมคิดว่าจะเข้าใจระบบโลกตามที่อาจารย์โบรเดลคิด ผมจำเป็นต้องเปิดวิธีคิดใหม่ เรียนระบบโลกโดยพื้นฐานความเข้าใจโลกตะวันออก ผมหันมาศึกษาปรัชญา ประวัติศาสตร์ ตอนต้นก็มึนมากเหมือนกัน คือการเข้าใจประวัติศาสตร์ต้องแยกแยะได้ด้วยว่า ยุคสมัยมีการผันแปรพลิกผันอย่างไร ผมเริ่มใช้ปรัชญาเต๋าซึ่งเป็นศาสตร์ตะวันออก มาแยกแยะความแตกต่างของวัฒนธรรมสองสาย”

                สายแรก-ตะวันออกเติบโตจากสายลุ่มน้ำ เช่น อียิปต์โบราณ เปอร์เซีย (อิหร่าน) สยาม ขอม สายที่สอง- ตะวันตกมาจากวัฒนธรรมสายชนเผ่า วัฒนธรรมหยางเขตหนาว แต่ยังแยกแยะพัฒนาการไม่ออก

               เผอิญไปเจองานเก่าชิ้นหนึ่งของ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ) ท่านโยงใยให้เห็นความพลิกผันของประวัติศาสตร์ โดยใช้ศาสตร์ตะวันออก ใช้ศาสนากับศิลปะ ท่านพยายามชี้ให้เห็นว่า แต่ละยุคในอดีตสามารถใช้ศาสนาและศิลปะแยกจังหวะการเปลี่ยนผ่านได้  รวมทั้งแยกแยะช่วงจังหวะการเชื่อมโยงระหว่างอินเดียและสยาม

                “นี่เป็นงานชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่งซึ่งน่าสนใจมาก ผมเริ่มหันมาสนใจการใช้ศิลปะในการแยกแยะประวัติศาสตร์ตะวันออก เช่น เรามองศิลปะสมัยสุโขทัยเป็นแบบหนึ่ง ความเชื่อศาสนาเป็นเถรวาท ถ้ามองศิลปะขอมเป็นอีกแบบหนึ่ง หน้าตาบุคลิกแตกต่างไป”

                หมายความว่าเราสามารถใช้ศาสนา ศิลปะ มาเยอะแยะให้เห็นความแตกต่างได้ เขาจึงหันมาสนใจศิลปะโบราณ 

               “ผมโชคดีอยู่อย่าง เนื่องจากตระกูลผมเป็นสายวัดจึงมีของโบราณเยอะ แม่เกิดอยู่กับวัด พ่อก็อยู่สายวัดโสธร มีความผูกพันกับศาสนา ที่บ้านมีพระเยอะมาก เป็นบ้านคนไทยโบราณเก่าๆ ที่ผูกพันกับความเชื่อเหล่านี้

                “ผมได้มรดกเป็นพระมาจำนวนหนึ่ง เริ่มหันมาสนใจว่าศิลปะที่มีอยู่ มีประโยชน์ยังไงต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ หันไปดูรูปศิลปะ และสะสมศิลปะโบราณ มันก็ได้มุมมองอะไรหลายอย่างซึ่งคิดไม่ถึงเหมือนกัน และหันมาเป็นคล้ายๆ เป็นพวกนักสะสมของเก่า และชอบมากๆ”

                อย่างไรก็ดี ดร.เทียนชัย ออกตัวแต่แรกว่าวิธีการดูของเขา ไม่เหมือนกับคนอื่น กล่าวคือเน้นที่ศิลปะเป็นหลัก ไม่ได้สนใจของเก่าในตลาดที่ผู้คนนิยมเล่นกัน

                “ผมไม่ได้คิดเรื่องราคา ไม่สนใจว่าเขาใช้มาตรฐานอะไร เช่น ตลาดใช้มาตรฐานคนสนใจแค่ไหน ผมใช้มาตรฐานศิลปะและความเก่าเท่านั้นในการแยกแยะว่างดงามหรือเป็นอย่างไร ด้วยวิธีการเช่นนี้ ผมสามารถหาของเก่าในราคาถูกได้ ถ้าเล่นของเก่าตามตลาดมันเป็นของเก่าที่ถูกปั่นราคาให้สูงเกินจริง เราไม่มีสิทธิ์สะสม แต่มีของเก่ามากมายที่คนไม่สนใจ ตลาดยังไม่ถูกปั่นราคา ผมจะเก็บงานลักษณะนี้ ตั้งแต่สมัยทวารวดี หรือก่อนหน้านั้น เช่น เหรียญเก่า เงินเก่า ผมก็พยายามศึกษาว่ามีวิธีการดูยังไง ของเก่ากับของปัจจุบันมีวิธีแยกแยะอย่างไร”

               ถามว่าเรียนรู้วิธีการดูของเก่าจากที่ไหน? เขาตอบว่าศึกษาเอง และเรียนจากความผิดพลาดด้วย โดยขยายความว่าใช้มาตรฐาน (ส่วนตัว) มองว่างามหรือไม่งาม เป็นรสนิยมส่วนตัว หากเจอของใหม่ และเห็นว่าสวยเขาก็ซื้อและว่า

                โดยทั่วไปคนเล่นของเก่าไม่ค่อยสนใจศิลปะ ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ ถ้าสนใจต้องอ่านประวัติศาสตร์ศิลปะว่าแต่ละรุ่นเป็นอย่างไร

                “ต้องเข้าใจเรื่องความงามนิดหนึ่ง คือวัฒนธรรมคนปัจจุบันเป็นสี่เหลี่ยมแข็งๆ ความงามเป็นมิติของความแข็ง เช่น สร้างบ้านก็เป็นทรงสี่เหลี่ยม แต่ความงามในอดีตเป็นเรื่องธรรมชาติ เรื่องของความอ่อนงาม ไม่มีเส้นตรง กลมกลืน ไม่เป็นเส้นตรง มันมีเคิร์ฟ เหมือนกับคนวาดภาพ เป็นภาพที่ดูเป็นสิ่งที่มีชีวิต ทำให้งานศิลป์แต่ละชิ้นมีชีวิต ของเก่ามีเสน่ห์ที่ความหดเหี่ยวของวัตถุเพราะมันเก่า”

                “สุดยอดของศิลปะยุคโบราณ เกี่ยวเนื่องกับศาสนา การทำแต่ละชิ้นมีความพิถีพิถัน นี่คือความยิ่งใหญ่ของการสร้างงานในอดีต ไม่ใช่การทำก้อนวัตถุ เหมือนเราเห็นพระบางองค์จะมีมิติของชีวิต เดือนตุลาคมที่ผ่านมาไปอินเดียใต้ เห็นพระพุทธรูปนั่งองค์หนึ่ง ใบหน้าท่านยิ้ม มีความสุข มิติสมาธิที่เรียกว่าสงบสุข เป็นศิลปะอันหนึ่งที่ทำให้คนเข้าใจเรื่องความสงบเย็นได้ นี่คือมิติศิลปะในอดีต ศิลปะแต่ละอย่างมันสะท้อนความเข้าใจ ให้กับคนที่ดู เห็นแล้วเกิดความเข้าใจอะไรบางอย่าง เช่น พระนั่งสมาธิมีความสงบสุข”

                สรุปว่าเกณฑ์ในการเลือกสะสมของเก่า คือดูความสวย เส้นสาย งดงาม? เขาตอบว่า “ต้องหดเหี่ยว”

               “เป็นศัพท์ที่ฟังง่ายสุด ของอายุเป็นร้อยเป็นพันปีไม่หดได้ไง ถ้าแข็ง ดูเต่งตึง ไม่ใช่ของเก่า ของเก่าเหมือนคนแก่ ดูพระเก่าก็ดูว่ามีร่องรอยชำรุด มีความงามของมันอยู่

                เมื่อไม่ดูจากของที่มีในตลาด แล้วจะเทียบได้อย่างไรว่าของชิ้นนั้นเก่าจริงหรือไม่ เขาตอบว่า ดูแค่สวย ไม่สวย ไม่กังวลเป็นของเก่าจริงหรือไม่ 

                นอกจากพระเครื่อง เหรียญ ลูกปัด ที่นำมาให้ดูเป็นตัวอย่าง เขาบอกว่าสะสมทุกอย่างที่เป็นของเก่า เพียงแต่ไม่เก็บชิ้นใหญ่ หรือของที่มีราคาแพง 

                “ผมไม่สนใจของที่ราคาแพงมาก เพราะสามารถหาของเก่าราคาไม่แพง ราคา 1-2 พันบาท หรือห้าร้อยบาท หาง่ายมากๆ ด้วย มีของเก่าจำนวนหนึ่งเหมือนตลาดมองไม่เห็นคุณค่า ของบางอย่างอาจมีคนเล่นน้อยมาก เช่น เหรียญเก่า ปัจจุบันอาจมีคนเล่นมากขึ้นเพราะเห็นในคุณค่า”

               สำหรับ “ของเก่า” ที่ ดร.เทียนชัย นำมาให้ชมคราวนี้ ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ทว่ามี องค์หนึ่งที่แปลกตา คือมีลักษณะเป็นแผ่นแบนๆ รูปทรงสูงขนาดฝ่ามือ เขาอธิบายว่า

               “เข้าใจว่าเป็นของที่สมัยโบราณเรียกว่าพระสาม สังเกตได้ว่าในนี้มีพระสามองค์ มีการตีความว่าอาจจะหมายถึง พระพุทธเจ้า พระอวโลกิเตศวร และนางปรัชญาปารมิตาอีกองค์หนึ่ง นี่คือการตีความทั่วไป วัฒนธรรมไทยโบราณจะมีการเคารพพระสามองค์ค่อนข้างมาก อิทธิพลเชื่อมต่อกับการสร้างพระปรางค์สามยอด นี่คืออิทธิพลพระสาม...”

                “หากดูจากศิลปะทั้งหมดค่อนไปมหายานเยอะมากจนนึกไม่ถึง หากเดินดูตามพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจะเห็นว่าอิทธิพลเถรวาทเข้ามาน้อยมาก ผมเอาความรู้ชุดนี้ไปเขียนเป็นหนังสือชื่อ ‘พุทธชยันตี’ ใช้ความรู้ทางศิลปะวัฒนธรรมมาตีความพุทธศาสนาใหม่หมด ใช้ภาพเขียนส่วนหนึ่ง ในช่วงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เป็นการใช้ศิลปะเข้ามาอธิบาย ผมพยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่าการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมลุ่มน้ำ ผ่านภาพเขียนช่วงการตรัสรู้” 

                ตัวอย่างเช่น ในโบสถ์จะมีภาพพระพุทธเจ้าก่อนวันตรัสรู้ มีรูปแม่พระธรณีบีบมวยผมมาช่วยพระองค์ ปราบมารที่มาผจญ ภาพนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงคนลุ่มน้ำในอินเดียที่นับถือผู้หญิง มันเชื่อมสายวัฒนธรรมผู้หญิงกับการตรัสรู้

               ประการต่อมา พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้แสงจันทร์เป็นวันเพ็ญ คือใช้วันเพ็ญแสดงความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมลุ่มน้ำๆ ซึ่งนับถือพระจันทร์

               “เดือนตุลาคมที่ผ่านมาผมไปอินเดียใต้ พบว่ามีสายวัฒนธรรมสองสายคือ 1) สายอารยันนับถือพระอาทิตย์ 2) สายลุ่มน้ำ-นับถือพระจันทร์ ฉะนั้น สัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้ากับพระจันทร์ถูกเชื่อมกันตลอดเวลา”

                ผลจากการเก็บของเก่า เป็นร่องรอยในการสืบค้นประวัติศาสตร์อีกด้วย เหตุผลคือศิลปะเป็นวัตถุทางประวัติศาสตร์

                “นักประวัติศาสตร์ทั่วไปสนใจวัตถุทางประวัติศาสตร์ในแง่จารึกว่า เขียนว่าอะไร ไม่มีใครสนใจภาพเขียนหรือศิลปะมากนัก ยกเว้นพวกที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ เช่น นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งมีจำนวนไม่มากนักในประเทศไทย พวกนี้ใช้ศิลปะโบราณ ใช้ศิลปะในการแยกแยะ เอาเป็นเครื่องมือในการตีความ ช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัยได้ดีขึ้น อาจช่วยให้เข้าใจวัฒนธรรมแต่ละสายดีขึ้น”

               แล้วระบบโลกเกี่ยวอะไรกับการสะสมของเก่า?

               “เกี่ยวสิ ถ้าจะสร้างระบบโลกในมิติความเป็นตะวันออก เราต้องเข้าใจวัฒนธรรม เข้าใจศิลปะ เพราะวัฒนธรรมตะวันออกเติบโตด้วยศาสนาและศิลปะ นี่คือฐานของวัฒนธรรมตะวันออก ส่วนวัฒนธรรมตะวันตกเติบโตจากการแย่งชิงวัตถุ ทำสงคราม มันเป็นวัฒนธรรมสองชุดที่ไม่เหมือนกัน”

               ดร.เทียนชัย อธิบายถึงศิลปะของพระพุทธรูปยุคสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน นั่นหมายความว่า ศิลปะไม่ได้ถูกสร้างมาลอยๆ หากแต่ถูกผลิตเพื่อรับใช้ระบบการปกครองด้วย และว่า

                “เราต้องเข้าใจว่าการเรียนรู้ทุกอย่าง ต้องเรียนรู้ให้ถึงราก ถ้าเรียนรู้ไม่ถึงราก จะไม่ได้ประโยชน์อะไร ถ้าเรียนรู้ถึงราก มีประโยชน์มหาศาล แต่ละอย่างให้คำตอบ”

                หนังสือ “พุทธชยันตรี ศาสนธรรม...อภิวัฒน์โลก” ก็เป็นผลจากการเรียนรู้ศิลปะและของเก่า ซึ่งเขาต้องการชี้ให้เห็นว่า ระบบสังคมโลกเคลื่อนตัวเป็นแบบวัฏจักร ส่งผลให้ความเชื่อทางศาสนาสามารถพลิกกลับมามีอิทธิพลต่อผู้คนในยุคปัจจุบัน

                เพราะอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มิอาจแยกออกจากกัน...

 

.......................

(โลก (ของเก่า) ของ ยุค ศรีอาริยะ : คอลัมน์คุยนอกกรอบ : โดย...สินีพร มฤคพิทักษ์)

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ