Lifestyle

'ข้าวไม่พอขาย' ประสบการณ์จากผู้ผลิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ข้าวไม่พอขาย' ประสบการณ์จากผู้ผลิต 'ข้าวหอมนิลอินทรีย์' : คอลัมน์คุยนอกกรอบ : โดย...สินีพร มฤคพิทักษ์ [email protected]

                      ขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีปัญหาข้าวค้างโกดังนับสิบล้านตัน ขาดทุนเป็นเงินกว่าแสนล้านบาทจากโครงการรับจำนำข้าว และมีการทบทวนว่าฤดูกาลผลิตหน้าจะรับจำนำในราคา 1.2 หมื่นบาท/ตัน ซึ่งเกษตรกรไม่เห็นด้วยโดยระบุว่าต้นทุนของพวกเขาอยู่ที่ 9,000-9,500 บาท/ตัน ราคารับจำนำใหม่พวกเขาอยู่ไม่ได้   

                     ในฟากผู้บริโภคเองเริ่มกังวลว่าข้าวถุงที่วางจำหน่ายในท้องตลาดอาจไม่ปลอดภัย หลังจากที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคแถลงข่าวว่าข้าวถุงบางยี่ห้อมีสารรมควันกันมอดและแมลงตกค้างเกินมาตรฐาน

                     ทว่า มีผู้ปลูกข้าวบางรายกลับบอกว่า “ข้าวไม่พอขาย” และปลอดภัยแน่นอนเพราะปลูกด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ ผลผลิตได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จาก มกท. ACT-IFOAM Accredited, ACT-EU Equivalent, ACT-Canada หรือ COR (U.S.-NOP Equivalent) ซึ่งตรารับรองสองอันหลังเป็นมาตรฐานของยุโรป สหรัฐอเมริกา และแคนาดา

                     ดังนั้น ผลผลิตทั้งสองรอบที่ผ่านมา และรอบที่แล้วซึ่งผลิตได้ 20 ตันข้าวเปลือกส่งออกต่างประเทศเกือบทั้งหมด     

                     ทัศนีย์ เศรษฐ์บุญสร้าง กรรมการและผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธินวชีวัน ซึ่งทำนาโยน “ข้าวหอมนิล” ที่ จ.เพชรบูรณ์ เล่าว่า มีเกษตรกรหุ้นส่วน 4 คน เป็นญาติธรรมของสันติอโศกที่ช่วยดูแลด้านการผลิต เดิมที่ดินผืนนี้ทำเกษตรเคมี สมาชิกใช้เวลาปรับปรุงดินไม่ถึงปีก็สามารถผลิตข้าวได้ หลักเกณฑ์ในการทำคือเลือกพืชพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพพื้นที่

                     ประการสำคัญคือ ควรเป็นสิ่งที่มีมูลค่าและมีตลาดเฉพาะ

                     “จะทำอะไรต้องเป็นพรีเมียม ลงแรงทั้งทีแล้วไม่ควรทำเหมือนๆ ตลาด ซึ่งตอนนี้มีปัญหาขายข้าวหอมมะลิไม่ได้ ถ้าเราทำต้องไม่เหมือนคนอื่น ข้าวที่ผลิตได้ขายหมดตลอด มีบริษัทมากว้านซื้อส่งไปขายยุโรป เจ้าที่มารับซื้อเอาเข้าเยอรมัน ตอนนี้ฝรั่งเริ่มกินข้าวมากขึ้น รู้ว่ากินแป้งสาลี กินขนมปังเยอะๆ ไม่ดี และพวกฝรั่งเขาศึกษาว่ากินตัวไหนดีต่อสุขภาพ สั่งซื้อข้าวกล้อง”

                     ขณะนี้ยังมีความต้องการอีก 200 กิโลกรัม แต่มูลนิธิมีข้าวในสต็อกเพียงเท่านั้น ซึ่เก็บไว้กินเองในหมู่สมาชิก รวมทั้งสำรองสำหรับขายปลีกในโครงการ Post e-Mart    

                     “ปีแรกที่ทำ นาของเราเป็นแกะดำที่แมลงไม่ลงมากิน เนื่องจากเราปลูกข้าวนิล คนอื่นปลูกข้าวขาว มันอาจเป็นคนละอย่างกัน...นี่คือวิธีการเผยแพร่ของศูนย์เรียนรู้ เราใช้วิธีนี้ดึงเขาเข้ามาช่วย ถ้าไม่ทำให้ดูชาวบ้านไม่เชื่อ พอเป็นอย่างนี้ปุ๊บเพื่อนบ้านเริ่มมา เราให้ชาวบ้านเข้ามาลงแขกกัน มีค่าตอบแทนให้บ้าง เป็นวิธีการเรียนรู้ เวลาชาวบ้านลงนาของตัวเอง คนของเราก็ไปช่วย ส่วนชาวบ้านเอาการทำนาโยนไปทำ ซึ่งลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต แต่เขาทำข้าวขาว ทำให้เขาขายข้าวได้เยอะขึ้น”

                     “เราใช้วิธีการทำให้ชาวบ้านเห็น เกษตรกรแถวเพชรบูรณ์ฐานะปานกลางค่อนข้างดีเทียบกับเกษตรกรด้วยกัน เขาใช้ปุ๋ยเคมี มีเครื่องจักร สิบปีก่อนหน้านี้เริ่มไม่ได้ ชาวบ้านไม่เชื่อว่าทำได้ พอทีมเราเข้าไปทำจึงเห็นตัวอย่าง เราเจอที่ดินหลุดแบงก์ซื้อ และเริ่มปรับที่ดิน นาเราปรับจากเคมี เป็นอินทรีย์”

                     เหตุผลที่ต้นทุนลดลงเพราะเดิมชาวบ้านทำนาหว่านน้ำตม ซึ่งใช้เมล็ดพันธุ์มากกว่านาโยน และต้องเสียค่าแรงดำนา ตอนถอนกล้าเพื่อไปดำนา ทำให้รากเสียหาย ข้าวโตไม่เต็มที่ แต่การทำนาโยนเพาะกล้าในถาด เวลาดึงต้นกล้าออกจากถาด รากยังอยู่ครบสมบูรณ์ และทำงานต่อได้ทันที ต้นข้าวจากนาโยนแข็งแรงกว่านาหว่าน

                     “ชาวบ้านที่เปลี่ยนมาทำนาโยนปลดหนี้ได้ในปีเดียว ก็เลยบอกกันปากต่อปาก พวกที่เข้ามายังไม่กล้าเลิกใช้ปุ๋ย แต่เริ่มเห็นว่าทำได้ และค่อยๆ ลดสารเคมี แต่ยังไม่กล้าทำอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์”

                     นั่นนับว่าบรรลุเป้าหมายระดับหนึ่งแล้ว เพราะวัตถุประสงค์หนึ่งของมูลนิธิคือ ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นแบบยั่งยืน โดยการทำเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ การใช้พลังงานสะอาด ตลอดจนการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

                     มูลนิธิก่อตั้งในปี 2553 มีกิจกรรม อบรมการทำเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ อบรมการทำนาโยน มีผลิตภัณฑ์คือ ข้าวเจ้าหอมนิลอินทรีย์ และผักอินทรีย์ และมีศูนย์การเรียนรู้วิถีเศรษฐกิจพอเพียงนวชีวันด้วย

                     เว็บไซต์ของมูลนิธิกล่าวถึงแนวคิดการทำไร่นวชีวันว่า เกิดขึ้นเมื่อปี 2542 เริ่มต้นเป็นงานอดิเรก เพราะมีงานประจำต้องทำในกรุงเทพฯ ต่อมาได้เรียนรู้วิธีการและเทคนิคการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรธรรมชาติในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะวิธีการที่ใช้หลักวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิธีการทำเกษตรแบบดั้งเดิมในที่สุดจึงได้ประมวลความรู้เหล่านี้เข้าเป็นระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ ทำให้เกิดเป็นระบบทำการเกษตรแบบองค์รวมที่ให้ผลมากกว่าเกษตรอินทรีย์ทั่วไป ซึ่งมีหัวใจอยู่ที่การบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกให้เหมือนระบบนิเวศของป่าธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์และโครงสร้างของดินด้วยกระบวนการธรรมชาติ

                      ต้นปี 2553 ซื้อที่นาเพิ่ม และเริ่มปลูกข้าวหอมนิลอินทรีย์ด้วยวิธีนาโยนควบคู่กับการประยุกต์วิธีการทำนาระบบน้ำน้อย ภายใต้หลักการระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ ซึ่งได้ผลผลิตรอบแรกเป็นที่น่าพอใจ

                      ปี 2554 ศูนย์การเรียนรู้วิถีเศรษฐกิจพอเพียงนวชีวัน มูลนิธินวชีวัน ได้เข้าร่วมในเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ทางไกลเศรษฐกิจพอเพียง โดยสำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) จัดการเรียนรู้ทางไกล หลักสูตร “การดำรงชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง”

                     ทัศนีย์เล่าว่าตอนแรกคิดอยากทำผลผลิตมีคุณภาพให้คนไทยได้กิน แต่ทำตลาดในประเทศไม่เป็น และระบบลอจิสติกส์ยุ่งยากมาก เมื่อมีบริษัทส่งออกต่างประเทศมาขอซื้อจึงขายให้

                      “คนมาซื้อต้องการไปยุโรป เราก็ไปตรวจ จริงๆ มันเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างหนึ่ง แม้จะมีใบรับรองแล้ว ยังเอาข้าวไปเข้าแล็บตรวจอีกที เราต้องการทำมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ตอนแรกขี้เกียจขอ เพราะแค่กรอกใบสมัครเนื้อหาที่เขาต้องการมันยุ่งมาก เรายังแปลกใจว่าเกษตรกรจะกรอกได้ไง...คือมาตรฐานต่างประเทศเป็นแบบนี้ ไหนๆ เป็นอินทรีย์ทั้งทีก็ทำให้ดีไปเลย เป็นระดับนานาชาติ ขอไอโฟมเสร็จ มีลูกค้ายุโรปมา เราก็ต้องขอทางยุโรปด้วย และทางแคนาดากับอเมริกาเขาจับมือกันขอใครก็ได้ เราก็เลยขอแคนาดาอีก คือขอแต่ละอันต้องเสียตังค์ และจ่ายทุกปี เป็นค่าตรวจและออกตรารับรอง”

                      ต้องบอกว่าการปลูกข้าวของทีมทัศนีย์ ทั้งหมดผ่านการวิเคราะห์และวางแผน ทั้งในแง่การผลิตและตลาด

                     โดยทีมงานสี่คนซึ่งเป็นญาติธรรมสันติอโศก ทำหน้าที่ดูแลการผลิตในแปลงนา (ไม่ใช่ทำนาโดยใช้ “มือถือ” คือโทรศัพท์สั่งการอย่างเดียว) เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ต้องใส่ใจในทุกรายละเอียด เป็นการทำเกษตรแบบประณีต แต่ไม่ต้องใช้แรงมาก

                     ส่วนทัศนีย์ซึ่งอยู่กรุงเทพฯ ดูแลด้านการตลาด และให้ความรู้ในกลุ่มคนที่สนใจ เพราะอยากดึงคนรุ่นใหม่มาร่วมสานฝัน ดังที่เธอบอกว่า    
 
                     “เราดูแล้วเกษตรตันแน่ถ้ายังทำเกษตรเคมี วิธีทำเกษตรแบบนี้ทำลายหน้าดิน ดินที่สามารถเพาะปลูกได้ ถ้ายังถางกันแบบนี้ใช้ได้อีกไม่เกิน 40 ปีเพราะหน้าดินเสียไปเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่ไม่ทำเกษตรเพราะมองว่าทำแล้วเหนื่อย จน ลำบาก มันต้องหาวิธีการทำง่ายๆ อย่างในที่ดินของเรา ปลูกผักที่ไม่ต้องใช้แรงงานเยอะ การทำนาไม่ต้องใช้แรงเยอะ นี้คือคอนเซ็ปต์หาเทคโนโลยีง่ายๆ ให้

                      ระหว่างการพูดคุย ทัศนีย์ เปิดเอกสารปึกใหญ่ประกอบการอธิบาย เป็นต้นว่า เกษตรกรไทยเฉลี่ยอายุ 50 ปี และคนรุ่นใหม่ไม่ทำเกษตร, ธาตุอาหารในผักและผลไม้ที่ลดลงในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา, คุณค่าทางโภชนาการของข้าวกล้องหอมนิล เป็นต้น มีแผ่นพับซึ่งพิมพ์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ

                     “สำหรับผู้บริโภค ถ้าไม่ตระหนักเรื่องการบริโภค ปัญหาค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น จากสถิติผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และตัวนี้มาเร็ว ตายทรมาน นี่เป็นข้อมูลปี 2552 เมืองไทยไม่เก็บตัวเลข แต่เมืองนอก ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา เขาเอาผักไปตรวจดูว่ามีสารอาหารเท่าไร ปรากฏว่าช่ววง 50 ปีที่ผ่านมา สารอาหารต่างๆ ลดลง บางตัวหายไปร้อยเปอร์เซ็นต์ เฉลี่ย 70 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าที่คุณกินผักให้อาหารเป็นยา แต่ผักเหล่านั้นปลูกแบบเคมี ก็ไม่ได้สารอาหารตามที่อ้างไว้ และได้ของแถมเพราะมีสารเคมีปนเปื้อน” และว่า

                     การที่ชาวนาส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน เพราะการขายในกลไกตลาดไม่สามารถอยู่ได้นั้น ทัศนีย์มีความเห็นว่า 1.เพราะชาวนาปลูกข้าวตามตลาดแบบที่ใครๆ ก็ปลูก ชาวนาต้องหาสิ่งที่ไม่เหมือนคนอื่น (unique) หากอยากอยู่รอด ต้องรู้ว่าที่ดินของเราควรปลูกอะไร และดูตลาดบ้าง 2.สารเคมีเป็นผลพลอยได้จากการผลิตปิโตรเลียม ถ้าราคาน้ำมันแพง สารเคมีก็แพงตาม ถ้าปลูกข้าวโดยพึ่งสารเคมีต้นทุนแพงขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทางรอด ต้องทำเกษตรอินทรีย์

                     กรณีที่มีการพูดกันว่า การจะปรับดินเพื่อทำเกษตรอินทรีย์ต้องรอถึงสามปี โดยระหว่างนั้นเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยมาก ซึ่งทัศนีย์บอกว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด โดยยกตัวอย่างจากที่ดินของมูลนิธิ

                     “ที่ดินของเราเป็นเคมี ปีแรกก็เปลี่ยนเลย นาของเรายังมีข้าวของเกษตรกรอยู่ เขาขอเก็บให้เสร็จก่อน ที่เราสดๆ จากเคมีเป็นอินทรีย์ ปีแรกยังทำได้เลย วิธีทำคือไถกลบตอซัง เอาน้ำหมักไปฉีด ฟางไปลง ปลูกปอเทือง ไถกลบอีก และเริ่มปลูกข้าว ทั้งหมดมีขั้นตอน วิธีการ ไม่ใช่รอสามปีแล้วปลูก ปีแรกในการปรับเปลี่ยน ผลผลิตใม่ใช่อินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ค่อยๆ ปรับไป จนปีสามถึงได้รับการรับรองว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ ถ้าจะทำเพื่อลดค่าใช้จ่าย เมื่อไรก็ทำได้ ผลผลิตไม่น้อย มีถ่านชีวภาพเช่นถ่านไบโอชา เป็นเทคโนโลยีง่ายๆ ภูมิปัญญาโบราณ เทคโนโลยี เป็นความเข้าใจคุณภาพของดิน ปรับปรุงบำรงดินให้ดี ปีแรกผลผลิตเท่าเดิม และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีที่สอง ปีที่สาม ผลผลิตได้สูงกว่าเคมี แต่ต้องบริหารจัดการระบบให้ถูก เติมองค์ความรู้เข้าไปด้วย ต้องมีความรู้ด้วย”

                     อธิบายมาถึงขั้นนี้ คนที่รู้แบ็กกราวนด์ของทัศนีย์ คงไม่แปลกใจ เพราะเธอเรียนจบปริญญาตรีด้านบัญชีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทอีกสองใบ ด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ และการจัดการและวางแผนนโยบายสาธารณะ โดยตำแหน่งล่าสุดก่อนเออร์ลี่รีไทร์จากงานประจำเมื่อสิบกว่าปีก่อนคือ ผู้จัดการฝ่ายรีเสิร์ชแอนด์อินฟอร์เมชั่น ในบริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และการจัดการ ต่อมาลาออกและทำธุรกิจขายปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งขณะนั้นตลาดยังไม่ตอบรับ     

                     จากปัญหาว่าผู้บริโภคไม่มั่นใจว่าผลผลิตที่ติดป้ายว่าเป็นอินทรีย์นั้นเชื่อถือได้หรือไม่ จึงเพิ่มช่องทางให้สินค้าจากผู้ผลิตส่งถึงมือผู้บริโภคโดยตรง

                     โดยสามารถสั่งซื้อข้าวผ่าน Post e-Mart พร้อมบริการส่งถึงบ้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพิ่มศักยภาพชุมชนด้านเกษตรปลอดภัยผ่านไอซีที ดำเนินการโดยศูนย์จัดการทรัพยากรเพื่อท้องถิ่น มสธ. ด้วยความสนับสนุนจาก สสส. และความร่วมมือขององค์กรภาคีทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน กว่า 50 แห่ง ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับ ขั้นตอนการผลิตจากแปลงนาจนได้ข้าวมาบรรจุลงถุงแต่ละถุง ด้วยโทรศัพท์มือถือ smart phone ผ่านระบบ CAT e-Smart Farm

                     ใครที่อยากชิมรสข้าวหอมนิลอินทรีย์ ติดต่อได้ที่ไปรษณีย์ทุกสาขา ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป หรือสอบถามที่มูลนิธิ โทร.09-1670-0302

........................................................

('ข้าวไม่พอขาย' ประสบการณ์จากผู้ผลิต 'ข้าวหอมนิลอินทรีย์'  : คอลัมน์คุยนอกกรอบ : โดย...สินีพร มฤคพิทักษ์ [email protected])
    
   

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ