Lifestyle

โลกทัศน์วิศวฯ จุฬาฯ'ประชัย เลี่ยวไพรัตน์'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โลกทัศน์วิศวฯ จุฬาฯ'ประชัย เลี่ยวไพรัตน์'แทนเงินด้วยกระแสไฟฟ้า ทุกอย่างก็แทนค่ากันได้หมด : คอลัมน์คอฟฟีเบรก

               1 มิถุนายน ที่ผ่านมา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน "100 ปี วิศวฯ จุฬาฯ 2556" ธีมของงานคือ 100 ปีวิศวฯ จุฬาฯ สร้างคนสร้างชาติ

               นิสิตวิศวฯ จุฬาฯ หนึ่งในนั้นคือ ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้บริหารบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ (ปัจจุบันคือ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)) อดีตหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย และอดีตเลขาธิการพรรคประชาราษฎร์

               แม้ประชัยจะไม่ได้เรียนจบปริญญาตรีจากที่นี่ เพราะได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่เขาก็เคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในฐานะน้องใหม่ และกลับมาเป็นอาจารย์ให้น้องๆ หลังจบปริญญาเอก

               ประชัย ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Lets TALK about ฉบับ 8 มิถุนายน 2556 ว่าตนไม่ใช่วิศวฯ จุฬาฯ แท้ๆ เพราะเรียนได้ครึ่งปีก็ได้ทุนโคลัมโบ ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรี นิวซีแลนด์ ทางวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาไฟกำลัง และจบปริญาโท วิศวกรรมไฟฟ้า สาขาระบบควบคุม จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา

               หลังเรียนจบจากต่างประเทศ มีโอกาสกลับมาสอนนิสิตรุ่นน้อง โดยเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อยู่ร่วมปี (สอนแทน ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ซึ่งไปทำงานให้องค์การนาซา) โดยสอนไฟฟ้ากำลังให้นิสิตปี 4 และปริญญาโท ก่อนต้องไปรับผิดชอบธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผ้ารายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีโรงงานทอผ้าไทยเกรียง ลัคกี้เท็กซ์ โรงงานทอกระสอบปอ และเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของประเทศ จนถึงธุรกิจค้าอาหารสัตว์ และขยายสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีพลาสติกและปูนซีเมนต์ 

               ด้วยพื้นฐานจากการเรียนวิศวฯ ทำให้คิดเป็นตรรกะเป็นเหตุเป็นผล ผนวกกับความกล้าตัดสินใจ กล้าเสี่ยง ทั้งยังมีความฝันจากนักประดิษฐ์ของโลก เป็นแรงบันดาลใจให้กระโจนเข้าทำธุรกิจปิโตรเคมี (TPI) อุตสาหกรรมดาวรุ่งในยุคนั้น ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีใครกล้าทำ

               "เรากล้าทำเพราะวิเคราะห์จากลอจิกแล้วว่าทำได้ เพียงแต่ต้องรู้ว่าจุดอ่อน จุดแข็งอยู่ตรงไหน เนื่องจากโครงสร้างปิโตรเคมีใหญ่มาก ใหญ่เกินความสามารถที่คนไทยยุคนั้นจะทำได้ ไม่มีใครกล้าทำ แม้แต่หน่วยงานของรัฐ..."

               แม้จะมีเสียงทักท้วงว่าทำได้หรือ เดี๋ยวก็เจ๊ง แต่เขาบอกว่า "ในใจผมไม่เคยกลัวอะไรทั้งนั้น เพราะลอจิกมันเป็นไปได้" และว่าพื้นฐานวิศวฯ ยังสามารถนำไปใช้ได้กับทุกระบบ โดยเฉพาะระบบการเงิน

               "กระแสการเงินเหมือนกระแสไฟฟ้า ถึงทำให้วิศวฯ ขึ้นมาครองประเทศ เพราะนั่นคือการควบคุมระบบ ระยะหลังพวกเอ็มบีเอต้องมาเรียนระบบการควบคุมแต่สำหรับด็กวิศวฯ อย่างเรา เรื่องพวกนี้ง่ายกว่าพลิกฝ่ามือ เพราะสูตรพวกนี้อยู่ในหัวสมองหมดแล้ว เราไปเรียนอย่างอื่นต่อก็แอพพลายได้ง่าย เพราะเป็นสูตรตายตัว แทนเงินด้วยกระแสไฟฟ้า ทุกอย่างก็แทนค่ากันได้หมด เพียงแต่คิดให้ออก ตัวไหนแทนด้วยตัวไหน เท่านี้ก็สามารถใช้ได้กับทุกระบบ"

               "ที่ผมได้ทุนไปเรียนต่อก็เพราะทุนคณะ แหล่งกำเนิดของเราจึงมาจากวิศวฯ ถ้าไม่มีวิศวฯ ผมก็ไม่มีสิทธิ์ไปเมืองนอก และอาจไม่ได้เป็นประชัยอย่างทุกวันนี้ อาจจะเป็นพ่อค้าคนหนึ่ง"

               เหตุใดวิศวฯ จึงออกมาเป็นผู้บริหารระดับประเทศ?

               "พวกนี้เป็นเด็กฉลาด พูดตรงๆ คือไอคิวสูง แต่เล่น ไม่ยอมเรียน" ก่อนทิ้งท้ายว่า

               "การเรียนวิศวฯ ต้องเรียนหลักเกณฑ์ให้เข้าใจ ควบคู่กับการมีคุณธรรมในใจ ประเทศจะไปได้ดี"

               ตั้งใจจะฝากความถึงใครหรือเปล่า มิทราบได้ !

 

.....................................................

(โลกทัศน์วิศวฯ จุฬาฯ'ประชัย เลี่ยวไพรัตน์'แทนเงินด้วยกระแสไฟฟ้า ทุกอย่างก็แทนค่ากันได้หมด : คอลัมน์คอฟฟีเบรก )

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ