Lifestyle

ลำพูต้นสุดท้ายตายแล้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศิลป์แห่งแผ่นดิน : ลำพูต้นสุดท้ายตายแล้ว : โดย...ศักดิ์สิริ มีสมสืบ

          ผมได้พบท่านอาจารย์สมปอง ดวงไสว ครั้งล่าสุด ก็เมื่อได้ร่วมเป็นวิทยากร ที่วิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี ในหัวข้อเกี่ยวกับ “อาเซียน” ซึ่งคุณธีรภาพ โลหิตกุล ได้ชวนผมและอาจารย์สมปองไปร่วมให้ “ความรู้” และ “ความรู้สึก” ให้ความรู้เป็นหน้าที่ของทั้ง 2 ท่าน ส่วนผมไป “ร้องเพลงอาเซียน” ที่ผมแต่งไว้ (หลายเพลงแล้ว)

 

          อาจารย์สมปองคุยกับผมหลายเรื่อง มีเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องเศร้าสำหรับท่าน แต่สำหรับคนอื่นๆ ทั่วไปคงเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่น่าใส่ใจ

          ผมก็มีเรื่องเศร้า เกิดขึ้นไม่กี่ปีมานี้ ที่บ้านวัยเยาว์ ที่ผมรัก ผูกพันอยู่มาตั้งแต่เด็กจนโต อำเภอที่ผมอยู่สมัยนั้น ยังไม่ได้ตั้งเป็นอำเภอ เป็นตำบลชื่อ “โคกเดื่อ” 

          “โคกเดื่อ” ของผมมีตำนานหลายเรื่อง นับตั้งแต่นามตำบลจนถึงเรื่อง “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ตำนานหลวงพ่อโอน และช้างคู่บารมีของท่านชื่อ “คูน” ซึ่งท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเดิมพระภิกษุ เกจิอาจารย์ที่ผู้คนนับถือเสมือนเทพ อีกเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่คือ “สระน้ำทำมือ” 

          สมัยที่ยังไม่มีเครื่องจักรกล ยังไม่มีรถ “แบ็กโฮ” หลวงพ่อผู้เป็นที่เคารพศรัทธา คือศูนย์รวมกำลังและพลัง นำชาวบ้านขุดสระน้ำขนาดใหญ่ ใหญ่ขนาดไหนเหลือจินตนาการได้ไม่ใหญ่ขนาดบึงบอระเพ็ด หรือทะเลสาบสงขลาหรอก แต่เด็กๆ อย่างผมรู้สึกว่ามันกว้างใหญ่เสียจนเวิ้งว้าง เนื้อที่จริงคือ 11 ไร่ กว้างยาวแค่ไหนลองเอาสนามฟุตบอล 3 สนามต่อเรียงกันดู ความลึกเท่ากับบ้านสักสองหลังต่อกัน ที่เล่ามานั้น พระนำชาวบ้านขุดมันด้วยมือครับ ขุดด้วยมือ ด้วยใจ ด้วยศรัทธา เมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว นี่ไม่ใช่แค่สระน้ำนะครับ แต่คือความรัก ความศรัทธา คือประวัติศาสตร์ คือตำนาน คือจิตวิญญาณของชุมชนท้องถิ่น น่าเสียดายที่คนรุ่นหลังกลบฝังมันไปเสียสิ้น บรรพบุรุษช่วยกันขุด ร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมศรัทธา ขุดมันขึ้นมาด้วยมือ แต่ลูกหลานกลับกลบฝังมันด้วย “เครื่องมือ” อันไร้ชีวิตบอกแล้วว่าเป็นเรื่องเศร้า ที่น่าเศร้าคือ เป็นความเศร้าที่ไม่มีใครเห็น ใครคงหัวเราะเยาะผมว่านี่น่ะหรือเรื่องเศร้าของเอ็ง

          สระใหญ่แห่งนี้ ปัจจุบันถูกถมทำ “ตลาดนัด” ครับ 

          ก่อนนั้น คือ แหล่งน้ำสำคัญของชุมชน ในสระมีบัวสาย บัวหลวง มีเต่า มีปลา ฤดูแล้งน้ำแห้งขอด เคยแล้งจัดถึงขนาดต้องขุดบ่อกันที่ก้นสระเพื่อตามหาน้ำ เมื่อเจอน้ำก็ใช้กันอย่างอดออม บางบ่อถึงกับต้องปิดปากบ่อใส่กุญแจกันเลยทีเดียว รอจนฤดูฝน น้ำไหลบ่ามาจากภูเขา ชาวบ้านช่วยกันขุดลอกเหมืองรับน้ำ ก่อนจะใช้ “ระหัดรางไม้” สูบ(วิด) น้ำเข้าสระ ปัจจุบันนี้ เจ้าระหัดรางไม้ที่ว่าถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เท่ไปเลย ใครไม่เคยเห็นก็ไปดูเอา ระหัดรางไม้เอย โม่หิน กระต่ายขูดมะพร้าว โต๊ะ ตู้ ตั่ง เตียง เครื่องมือทำมาหากินของบรรพชนเราเข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์กันหมดแล้ว ให้คนรุ่นก่อนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ดู ได้เห็นเพื่อย้อนรำลึกวันเวลา ส่วนคนรุ่นใหม่ไม่นำพาอดีต มีแต่จะห้อตะบึงไปข้างหน้า ก็ขอให้โชคดี.. นี่แหละเรื่องเศร้าที่น่าสมเพชของผม

          ส่วนเรื่องเศร้าของอาจารย์สมปอง ดวงไสว ดูจะน่าสังเวชกว่า เพราะท่านผูกพันกับวัดสังเวชฯ และท่านยิ่งน่าสมเพชเมื่อไปผูกพัน เอากับ “ต้นลำพู”

          เรื่องเศร้าของท่านคือ ต้นลำพูต้นสุดท้ายของบางลำพูตายแล้ว เมื่อคราวมหาอุทกภัย ปีที่ผ่านมานั่นเอง 

          “สมปอง ดวงไสว” คือครูคนหนึ่ง เคยสอนอยู่วัดสังเวช เป็นครูธรรมดาๆ เป็นนักเขียนสารคดี เขียนบทกวี เป็นคนมีความรัก รักผู้คน รักชุมชน รักการเรียนรู้ รักดิน น้ำ ฟ้า รักปู ปลา กุ้ง หอย รักกุ้งฝอย รักยิบ รักย่อย ยันกรวดหินดินทราย มีหรือจะไม่ใจหาย เมื่อต้นไม้ต้นหนึ่งที่รัก และผูกพัน มีอันล้มหายตายจากพรากบางลำพูไป เขาสืบเสาะหาความหมายของความรัก มาจนพบลำพูต้นนี้ อยู่ที่นั่น ตรงนั้น อยู่ติดชายฝั่ง ริมเจ้าพระยา ระหว่างสะพานพระปิ่นเกล้า ไปจนจรดวัดสามพระยา ช่วงดังกล่าวนี้ มีต้นลำพูอยู่ต้นเดียว คือต้นนี้อายุกว่า 100 ปี แน่นอน ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน คือตำนานแห่งนาม “บางลำพู”

          แน่นอนว่า “สมปอง ดวงไสว” เคยโอบเคยกอด เคยพูดคุยไถ่ถามสารทุกข์ เคยสนทนาปราศรัย เคยชิดใกล้ เคยเฝ้ามองเฝ้าดู เคยเยี่ยมเยือน และเคยคิดถึงเมื่อต้องห่าง จนรู้สึกผูกพัน จากนั้นเที่ยวชักชวนให้ใครมาดูมาพบ มารู้จักไม่นานนัก ลำพูต้นนี้ก็เป็นที่กล่าวขวัญถึง

          รอบโคน 15 ฟุต 1 นิ้ว หรือ 425.5 เซนติเมตร 

          มีรากอากาศช่วยหยัดพยุงกายา และช่วยหายใจ เมื่อมหาอุทกภัยท่วมรากอากาศนานติดต่อกันหลายวัน ลำพูต้นสุดท้ายจึงถึงกาลจากพราก ซึ่งความตายเป็นเรื่อง “ธรรมดา” ใครๆ ก็เข้าใจ

          ที่ว่าเป็นเรื่องเศร้า ก็เพราะการตายของต้นไม้ต้นหนึ่ง ไม่มีใครร่วมเสียใจ มีเพียงใครบางคนเท่านั้น ไม่มีใครเห็นต้นลำพูเป็นญาติ เป็นบรรพชน ไม่มีใครยินยลเสียงแห่งอดีต ไม่มีใครเห็นความหมายของคำว่าราก ไม่ว่ารากแก้ว รากแขนง หรือรากอากาศ

          อาจารย์สมปองเล่าว่า เจ้าหน้าที่ได้ตัดต้นลำพูต้นนี้ แล้วนำไปทิ้งยังแหล่งทิ้งขยะ เช่นเดียวกับขยะทั้งหลายทั้งสิ้น ที่ถือเป็นสิ่งปฏิกูล น่าเศร้าตรงที่ใครบางคนที่ผูกพันกับลำพูต้นนี้ ไม่ได้เห็นแม้แต่ซากศพ และไม่มีโอกาสได้เก็บเถ้ากระดูกไว้รำลึกบูชา

          เท่าที่ผมเขียนมาหากเป็นเรื่องน่า “สังเวช” แต่มีใครกี่คนที่รู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “สังเวช” หากแหงนมองฟ้ายามราตรี ดวงดาวที่เห็นระยิบระยับอยู่กลางฟ้านั้น จำนวนหนึ่งเป็นหิ่งห้อยที่เคยอาศัยอยู่ที่ต้นลำพู ต้นสุดท้ายแห่งบางลำพูต้นนี้ครับ

 

 

--------------------

(ศิลป์แห่งแผ่นดิน : ลำพูต้นสุดท้ายตายแล้ว : โดย ... ศักดิ์สิริ มีสมสืบ)

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ