Lifestyle

สากลสัญลักษณ์แห่ง...พุทธ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา มีหลายอย่าง ได้แก่ พระพุทธรูป รอยพระพุทธบาท ใบโพธิ์ ต้นโพธิ์ ธงธรรมจักร ธงฉัพพรรณรังสี และ รูปธรรมจักร สัญลักษณ์ที่ได้รับการรับรองให้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาระหว่างชาติ คือ รูปธรรมจักร วงล้อแห่งชีวิต หรือ ธรรมจักร (Dharmach

  ๑.รูปทรงวงกลม (จักร) แทนความสมบูรณ์ แบบของพระธรรม ๒.แกนกลาง แทนคำสอน ซึ่งเป็นแก่นของการฝึกเพื่อนิพพาน และ ๓.ขอบที่เชื่อมซี่ของธรรมจักรไว้ จะหมายถึงความสมถะ มั่นคงยึดถือทุกสิ่งไว้ด้วยกัน

 สำหรับลักษณะของธรรมจักรดั้งเดิม มี ๒ รูปแบบ คือ มี  ๖ ซี่ หรือบางครั้ง ๕ ซี่ และรูปแบบที่กำเนิดในพุทธศาสนา คือ ๘ ซี่

 ในธรรมจักรนั้น ประกอบด้วยซี่ล้อ ๘ ซี่ หมายถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ
 ๑.สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ ๒.สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ๓.สัมมาวาจา การเจรจาชอบ ๔.สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ ๕.สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ ๖.สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ ๗.สัมมาสติ ความระลึกชอบ และ ๘.สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ

 ในประเทศไทย ใช้ธงธรรมจักร ธงธรรมจักรของไทยที่มีพื้นธงเป็นสีเหลือง และมีสัญลักษณ์เป็นรูปกงจักรสีแดง อยู่ตรงกลาง มีซี่ล้อกงจักรอยู่ ๑๒ ซี่ด้วยกัน เป็นธงที่ใช้ประดับในพิธี หรือวันสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ตราสัญลักษณ์พระธรรมจักรนี้ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก หรือที่เรียกโดยย่อว่า พ.ส.ล. ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศทางพุทธศาสนา ได้รับไว้เป็นตราประจำขององค์การแล้ว

 ธงธรรมจักรนี้ คณะสงฆ์ไทยได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ ภายหลังงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ซึ่งในขณะนั้นมีซี่ล้อกงจักรอยู่เพียง ๘ ซี่เท่านั้น รูปพระธรรมจักร ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาทั่วโลกในเวลาต่อมา และได้เพิ่มซี่ล้อกงจักรขึ้นอีก ๔ ซี่ ในปัจจุบันนี้ได้เพิ่มซี่ล้อกงจักรเข้าไปอีก ๔ ซี่

 อันหมายถึง ศาสนาที่สำคัญๆ ของโลกอีกสี่ศาสนา คือ ๑.ศาสนาพุทธ ๒.ศาสนาคริสต์ ๓.ศาสนาอิสลาม และ ๔.ศาสนาฮินดู 

 ความหมายของธงธรรมจักรนี้ นอกจากจะใช้เป็นธงสำหรับประดับแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอันคอยเตือนใจพุทธศาสนิกชน และศาสนาต่างๆ ที่รวมเข้าไว้ด้วยนี้ เพื่อให้ประพฤติ ปฏิบัติ ในสิ่งที่ชอบที่ดีงามอีกด้วย

 ส่วน ธงฉัพพรรณรังสี เป็นธงแห่งพระพุทธศาสนาระหว่างชาติ
 คำว่า "ฉัพพรรณรังสี" แปลว่า รัศมี ๖ สี (พระรัศมี ๖   สี) ซึ่งแผ่ออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว สีแสด และสีเหลื่อมประภัสสร (คือ สีทั้ง ๕ รวมกัน เหลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก) แสดงถึงความที่พระพุทธศาสนิกชนยกย่อง

 ทั้งนี้ พ.ส.ล.ได้ประกาศใช้เป็นธงสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ในการประชุมเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ นั้น มี ๖ สี  เรียงตามแนวนอนดังนี้ คือ น้ำเงิน เหลือง แดง ขาว ส้ม   และสีซึ่งเรียกตามภาษาบาลีว่า "ประภัสสร"

 ธง ๖ สีนี้ เดิม พันเอกเฮนรี เอส ออลคอท พุทธศาสนิกชนชาวอเมริกัน เป็นผู้ออกแบบ และชาวพุทธศรีลังกาได้ใช้ต่อมา

 อย่างไรก็ตาม ธงนี้เริ่มมีผู้นิยมใช้มากขึ้น เมื่อได้ใช้เป็นธงทางการขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ใน พ.ศ.๒๔๙๓

 การออกแบบธงนี้ ได้อาศัยความเชื่อว่า ไม่ว่าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จ ณ แห่งใด พระองค์จะเปล่งพระรัศมี ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น แสงแห่งปัญญา และ สันติสุข ไปสู่มวลมนุษย์ทั้ง ๖ ทิศ คือ ตะวันออก ตะวันตก เหนือ ใต้ เบื้องบน และเบื้องล่าง

 อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนิกชนชาวไทยยังคงใช้ธงธรรมจักร ซึ่งมีรูปพระธรรมจักรบนพื้นสีเหลืองกันโดยทั่วไป  ซึ่งคณะสงฆ์ไทยเป็นผู้ประกาศใช้เป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นต้นมา

 อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาแรกเริ่มนั้น คือ ใบโพธิ์ ด้วยเหตุที่ว่า พระองค์ได้ตรัสรู้ที่ภายใต้ต้นไม้ชื่อว่า อัสสัตถะ ต่อมาก็เรียกว่า ต้นโพธิ์

 คำว่า โพธิ แปลว่า ตรัสรู้ เพราะพระพุทธเจ้าไปประทับนั่งใต้ไม้นั้นตรัสรู้ จึงได้เรียกว่า ต้นไม้ตรัสรู้ เรียกเป็นศัพท์ว่า โพธิพฤกษ์

 แต่ชื่อของต้นไม้ชนิดนี้ว่า อัสสัตถะ ที่ตรัสรู้นั้น อยู่ใกล้ฝั่ง แม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลอุรุเวลา ในมคธรัฐ

 ต่อมาก็มีการสร้าง รอยพระพุทธบาท สัญลักษณ์ที่แสดงถึงการเจริญรอยตามบาทของพระศาสดา สมัยโบราณ เป็นการสร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า สำหรับไว้ให้คนได้บูชากัน

 เพราะสมัยนั้น ยังไม่มีคติการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา  รอยพระพุทธบาท จะหมายถึงตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวช บางทีก็ทำเป็นรูปม้าผูกเครื่อง แต่ไม่มีผู้ขี่ ส่วนตอนตรัสรู้ก็ทำเป็นรูปแท่นที่ประทับ ตอนประทานปฐมเทศนาก็ทำเป็นธรรมจักร มีกวางหมอบอยู่ เพื่อสื่อถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

 รอยพระพุทธบาท นั้น เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันที่จริง มีมาก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูปไว้แทนพระพุทธองค์มาตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณ และยังคงสืบเนื่องเรื่อยมาจนปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีการสร้างพระพุทธรูปแล้วก็ตาม ทว่าความหมายแห่งการบูชา ได้เปลี่ยนไปจากเดิม ที่เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ ก่อนการสร้างพระพุทธรูป ในภายหลัง ที่ปรากฏพระพุทธรูปแล้วรอยพระพุทธบาทได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ เพื่อแสดงถึงว่า เป็นดินแดนที่พระพุทธองค์ได้ดำเนินไปถึง เป็นสิริมงคล

 ซึ่งตามตำนานอ้างไว้ว่า รอยพระพุทธบาท ซึ่งพระพุทธองค์ได้เสด็จประทับไว้ ๕ แห่ง ได้แก่ เขาสุวรรณมาลิก, เขาสุวรรณบรรพต, เขาสุมนกูฏ, เมืองโยนกบุรี และ หาดทราย ในลำน้ำนัมมทานที

 ในขณะที่การสร้าง พระพุทธรูป หมายถึง รูปที่สร้างขึ้นแทนองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อกราบไหว้บูชา อาจใช้การแกะสลักจากวัสดุต่างๆ เช่น ศิลา งา ไม้ หรือวัสดุอื่นๆ นอกจากนี้ ยังอาจใช้การปั้น หรือหล่อด้วยโลหะก็ได้

 โดยทั่วไป คำว่า พระพุทธรูป มักจะหมายถึง รูปขนาดใหญ่พอที่จะวางบูชาได้ สำหรับรูปขนาดเล็กมักจะเรียกว่า พระเครื่อง

 อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแบบสามารถเรียกว่า พระพุทธรูป ได้เช่นกัน
 พระพุทธรูปรูปแรก จึงเกิดขึ้นในสมัยของ พระเจ้ามิลินท์ หรือ เมนันเดอร์ ที่ ๑ ชาวกรีกที่มาครอบครองแคว้นคันธารราษฎร์ เมื่อประมาณ พ.ศ.๕๐๐-๕๕๐ หรือ ๒,๐๐๐ ปีที่แล้ว นั่นเอง

 พระพุทธรูปที่เกิดขึ้นครั้งแรก จึงเรียกรูปแบบของพระพุทธรูปนี้ว่า แบบคันธารราษฎร์ โดยถ่ายแบบอย่างเทวรูปที่พวกชาวกรีกนับถือกันในยุโรปมาสร้าง

 พระพุทธรูปแบบคันธารราษฎร์ จึงมีใบหน้าเหมือนฝรั่งชาวกรีก จีวรก็เป็นริ้วเหมือนเครื่องนุ่งห่มของเทวรูปกรีก

 และต่อมาในภายหลัง ราวพุทธศตวรรษที่ ๔-๑๒ มีคตินิยมสร้างพระพุทธรูปเป็นขนาดเล็กๆ (พระเครื่อง) บรรจุไว้ในพุทธเจดีย์

เรื่อง... "ไตรเทพ ไกรงู"
"ภาพ... "ประเสริฐ เทพศรี"

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ