Lifestyle

การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อุบัติเหตุจราจรทำลายชีวิตและทรัพย์สิน ยังก่อให้เกิดความสูญเสียต่อครอบครัว การบาดเจ็บที่รุนแรงจนนำไปสู่ความพิการและเสียชีวิต ได้แก่ การบาดเจ็บที่ศีรษะ ลำคอ ช่องอก และช่องท้อง ด้วยเหตุนี้การลดจำนวนอุบัติเหตุจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 จากอุบัติเหตุจราจรแต่ละครั้งขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งขนาด ความเร็ว จำนวน รวมถึงการใช้อุปกรณ์ป้องกัน โดยทันทีที่วัตถุสองอย่างชนกัน พลังงานที่สะสมจะถูกถ่ายทอดออกมาทำให้เกิดการบาดเจ็บแก่ฝ่ายที่รับพลังงานนี้ กลไกการบาดเจ็บจึงเป็นกุญแจสำคัญสำหรับแพทย์ในการช่วยวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของการบาดเจ็บของผู้ประสบอุบัติเหตุ นำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว ช่วยลดอัตราการตายและความพิการลงได้ อย่างไรก็ตามไม่ควรเสียเวลาซักถามประวัตินานเกินไป ควรให้การรักษาภาวะเร่งด่วนของผู้ป่วยก่อน

รูปแบบกลไกการบาดเจ็บแบ่งเป็น
 1.การกระแทกหรือการชน (Blunt)
 2.การแทงทะลุ (Penetrating)
 3.การระเบิด (Blast) และ
 4.ความร้อน (Thermal)
 กลไกที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดเมื่อเกิดอุบัติเหตุจราจรคือการกระแทกหรือการชน นอกจากนี้ยังแบ่งกลุ่มผู้ประสบอุบัติเหตุออกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มผู้ขับขี่และผู้โดยสารภายในรถยนต์ (Occupants) กลุ่มผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานและมอเตอร์ไซค์ (Cyclists and motorcyclists) และกลุ่มผู้ที่เดินบนทางเท้า (Pedestrian)

1.กลุ่มผู้ขับขี่และผู้โดยสารภายในรถยนต์ (Occupants)
 หลังจากที่รถชน นอกจากจะมีแรงปะทะโดยตรงแล้วยังมีแรงจากการที่รถลดความเร็วลงอย่างรวดเร็ว พลังงานที่สะสมจะกระจายไปทั่วตัวรถรวมถึงผู้ขับขี่และผู้โดยสารภายในรถด้วย พลังงานจะยิ่งรุนแรงขึ้นในกรณีที่รถมีขนาดใหญ่และเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว หากรถถูกหยุดทันทีแรงนี้จะทำลายเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ของผู้โดยสารได้ ชนิดของการบาดเจ็บจำแนกได้เป็นการบาดเจ็บเมื่อผู้โดยสารถูกกระแทกโดยตรง และการบาดเจ็บเมื่ออวัยวะภายในถูกกระแทกหรือเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม 

2.กลุ่มผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานและมอเตอร์ไซค์ (Cyclists and motorcyclists)
 อุบัติเหตุทางจราจรสำหรับผู้ใช้รถจักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ก็มีโอกาสบาดเจ็บชนิดรุนแรงได้ เนื่องจากแรงกระแทกมาจากทุกทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นแรงกระชากไปข้างหน้า แรงที่เกิดจากการลดความเร็วอย่างกะทันหัน แรงกดทับ แรงตัด (shearing) ทั้งนี้ความรุนแรงจะมากหรือน้อยขึ้นกับการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุและความเร็วขณะขับขี่ สาเหตุการตายส่วนมากของผู้ใช้รถจักรยานหรือมอเตอร์ไซค์คือการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ดังนั้นการสวมหมวกกันน็อกจึงเป็นสิ่งที่ช่วยลดการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ดีถึงร้อยละ 85
 กรณีที่ถูกชนจากด้านหน้า รถที่ถูกชนจะหยุด ในขณะที่ผู้ขับขี่จะถูกแรงผลักไปกระแทกกับแฮนเดิลรถ ทำให้บาดเจ็บที่ช่องอกและช่องท้อง หากกระเด็นออกจากรถอาจทำให้กระดูกท่อนขาส่วนบนหัก และเมื่อตกถึงพื้นก็มีโอกาสบาดเจ็บที่ศีรษะและกระดูกต้นคอ 
 กรณีที่ถูกชนจากด้านข้าง ทำให้บาดเจ็บโดยตรงที่กระดูกขา เช่นกระดูกแตกเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีแผลเปิด หรือกระดูกแตกและมีแผลเปิดรอบกระดูก ซึ่งลักษณะหลังนี้มีโอกาสที่จะสูญเสียขาข้างนั้นอย่างถาวร

3.กลุ่มผู้ที่เดินบนทางเท้า (Pedestrian)
 เป็นกลุ่มใหญ่ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร มักเกิดกับเด็ก และสถานที่เกิดเหตุมักเป็นถนนในชนบท อวัยวะส่วนใหญ่ที่ได้รับบาดเจ็บคือ ศีรษะ ช่องอก และขา กลไกการบาดเจ็บของกลุ่มผู้ที่เดินบนทางเท้าแบ่งเป็น 3 ระยะได้แก่
 ระยะที่ 1 เมื่อรถกระแทกโดยตรงกับผู้ที่เดินอยู่บนทางเท้า จุดกระแทกขึ้นกับความสูงของรถและความสูงของผู้ถูกชน ชนิดของรถถ้าเป็นรถกะบะหรือรถเก๋งจุดกระแทกมักจะต่ำ แต่ถ้าเป็นรถขนาดใหญ่เช่นรถทัวร์ รถสิบล้อ ผู้ถูกชนอาจกระเด็นออกไปหรือถูกลากไปอยู่ใต้ท้องรถ
 ระยะที่ 2 หลังจากกระแทกโดยตรง ผู้ถูกชนจะถูกแรงเหวี่ยงลอยไปกระแทกที่ฝากระโปรงรถ กระจกหน้ารถ หรือหลังคารถ ทำให้บาดเจ็บที่ศีรษะ ช่องอก หรือช่องท้อง
 ระยะที่ 3 เมื่อผู้ถูกชนตกกระแทกลงพื้น ทำให้ศีรษะและกระดูกต้นคอบาดเจ็บรุนแรง นอกจากนี้หากมีรถคันอื่นวิ่งทับซ้ำ หรือถูกลากไปกับพื้นถนน จะทำให้เสียชีวิตได้
 การให้ข้อมูลแก่ทีมแพทย์หรือทีมกู้ชีพที่จะออกไปช่วยเหลือ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะออกไปรับผู้ประสบเหตุ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อใช้ประเมินความรุนแรงของอุบัติเหตุ เช่น ผู้ประสบเหตุอยู่ในกลุ่มใด (กลุ่มผู้ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือผู้ที่เดินอยู่บนทางเท้า) มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุหรือไม่ ผู้ประสบเหตุกระเด็นออกนอกตัวรถหรือไม่ สภาพรถเป็นอย่างไร รถพลิกคว่ำหรือห้องโดยสารยุบผิดรูปไปมากน้อยเพียงใด ผู้ประสบเหตุติดอยู่ในรถนานกว่า 20 นาทีหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อทีมแพทย์และทีมกู้ชีพในการเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่จำเป็น
โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ