Program Online

นักวิชาการเชื่อรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ แต่ฉลุย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิชาการเชื่อรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ แต่ฉลุย

หลังเข้าพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนแล้ว ก็จะถือว่าคณะรัฐมนตีรของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ ขณะเดียวกันคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่เข้าควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินมากว่า 5 ปี ก็จะสิ้นสุดลง

หลังจากนี้รัฐบาลก็จะต้องทำงานร่วมกับสภา ซึ่งก็คือฝ่ายนิติบัญญัติ โดยภารกิจแรกคือแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่ความน่ากังวลที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ก็คือเสียงสนับสนุนของรัฐบาลที่เกินกึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อย ที่เรียกว่า "เสียงปริ่มน้ำ" ทำให้การทำงานร่วมกับสภามีความเสี่ยง โดยเฉพาะการเสนอกฎหมาย การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมไปถึงการถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งล้วนต้องใช้เสียงข้างมากถึงจะผ่านไปได้แต่ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย กลับมองในแง่บวกว่า เรื่องที่รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนปริ่มน้ำ เป็นเรื่องที่ทราบกันดีอยู่แล้ว และรัฐบาลเองก็ทราบ การบริหารงานจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง ส่วนตัวเชื่อว่าการที่รัฐบาลไม่มีเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด จะทำให้เกิดวินัยในการทำงานมากขึ้น เช่น การประชุมสภาจะขาดไม่ได้ เพราะย่อมส่งผลต่อการโหวตในสภา จึงถือเป็นข้อดี ขณะที่ฝ่ายค้านก็มีข่าวว่าจะทำงานรูปแบบใหม่ เป็น "ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน" ตามที่ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านและการมีส่วนร่วมของประชาชน เคยประกาศเอาไว้ ไม่ใช่ค้านทุกเรื่อง ทั้งหมดนี้มองว่าเป็นความสวยงามของประชาธิปไตยมากกว่านักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองที่มองปรากฏการณ์ "เสียงปริ่มน้ำ" ไปในทางบวก ยังมี รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ประเมินว่า รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ อาจอยู่ได้ยาวถึง 2 ปี เพราะมีตัวช่วยหลายตัวในรัฐธรรมนูญ เช่น การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี รัฐธรรมนูญกำหนดกรอบเวลาไว้ให้ว่าต้องไม่เกิน 105 วันต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร ฉะนั้นหากมีการตีรวน หรือมีปัญหาใดๆ ก็ตาม เมื่อครบเวลาแล้วให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรไปเลย เหตุนี้อาจไม่จำเป็นต้องโหวต หรือรัฐบาลแพ้โหวตได้ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณก็ไม่ตกไปนอกจากนั้นยังมีบทบัญญัติกำหนดให้ฝ่ายคืนยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้แค่ปีละ 1 ครั้ง ทำให้รัฐบาลมีเวลาเตรียมตัว และแก้ไขปัญหาภายในไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมจนแพ้โหวตคาสภาได้ ระยะเวลา 2 ปีผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจแค่ 2 ครั้ง จึงมีความเป็นไปได้นี่คือทัศนะความเห็นจากกูรูการเมือง และนักวิชาการที่คร่ำหวอดเรื่องการเมืองระบบรัฐสภา ส่วนจะเป้นจริงตามที่คาดการณ์หรือไม่ ต้องรอลุ้นกัน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ