Program Online

วัดใจ ครม.วางเกณฑ์สกัด "รื้อ" สัญญาไฮสปีด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วัดใจ ครม.วางเกณฑ์สกัด "รื้อ" สัญญาไฮสปีด

แม้บอร์ดอีอีซีจะเห็นชอบร่างสัญญาร่วมทุนโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ระหว่างการรถไฟฯกับกลุ่มซีพีไปแล้ว แต่ยังมีประเด็นเรื่องการขอแก้ไขสัญญาและการขอขยายอายุสัญญาในอนาคต ติดตามจากรายงานพิเศษ

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ที่ประชุมจะพิจารณาผลการประมูลโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนเชื่อม 3สนามบิน วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท หลังจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือบอร์ดอีอีซี ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะได้รับทราบผลการคัดเลือกและร่างสัญญาร่วมลงทุนระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือร.ฟ.ท. กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตรหรือกลุ่มซีพีไปแล้ว                 เลขาธิการบอร์ดอีอีซี ดร.คณิศ แสงสุพรรณยืนยันว่าร่างสัญญาร่วมลงทุนที่บอร์ดอีอีซีเห็นชอบนั้นผ่านการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด และเป็นไปตามกรอบเงื่อนไขทีโออาร์  ขณะที่รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ วรวุฒิ มาลาสำทับว่าข้อเสนอเพิ่มเติมของกลุ่มซีพี รวมทั้งข้อเสนอด้านการเงินถูกตัดทิ้งทั้งหมดแต่ยอมรับว่าในระหว่างดำเนินการตามสัญญาร่วมทุน ซึ่งมีระยะเวลา 50 ปีอาจมีเหตุให้แก้ไขสัญญาได้ เพราะเป็นสัญญาระยะยาว แต่จะต้องมีเหตุผลอันสมควรหรือเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น เกิดภาวะสงคราม จลาจลหรือภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง    ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ย้ำว่าการเปิดช่องให้มีการแก้ไขสัญญาในอนาคตเป็นเรื่องที่ร.ฟ.ท.และกลุ่มซีพีเห็นพ้องร่วมกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเพราะโดยหลักการแล้วสัญญาที่ดีจะต้องอยู่ตลอดจนครบ 50 ปี ถ้าไม่เปิดให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขจะเป็นสัญญาที่ดีได้อย่างไร   ส่วนผู้พิจารณาเรื่องการแก้ไขสัญญาคือคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการ ซึ่งจะแต่งตั้งขึ้นตามมาตรา 43 ของพ.ร.บ.อีอีซีขั้นตอนแรกคือพิจารณาว่าเหตุผลที่เอกชนเสนอประกอบการแก้ไขสัญญานั้นสมควรจะเปิดการเจรจากับเอกชนหรือไม่หลังจากนั้นต้องพิจารณาว่าจำเป็นต้องอนุมัติให้แก้ไขสัญญาหรือไม่และยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาต้องเป็นธรรมกับทั้งฝ่ายรัฐและเอกชนและสุดท้ายคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติว่าเห็นควรให้แก้ไขสัญญาหรือไม่     ส่วนประเด็นการขยายอายุสัญญาจาก 50 ปีนั้น ผู้ว่าการร.ฟ.ท. ระบุว่า สามารถดำเนินการได้ในกรณีที่ ร.ฟ.ท. ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างล่าช้า  หากดูจากประวัติการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของร.ฟ.ท.ในอดีต มีโอกาสสูงที่ร.ฟ.ท.จะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างไม่ทันตามกำหนดและเอกชนอาจนำมาใช้เป็นเหตุในการขอขยายอายุ หรือแก้ไขสัญญาซึ่งต้องรอดูว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้จะมีแนวทางป้องกันปัญหาที่คาดว่าจะต้องเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร เรื่องนี้ต้องติดตามดูกันยาวๆต่อไปว่าหากมีการแก้สัญญาเกิดขึ้นจริงจะส่งผลให้รัฐต้องเสียเปรียบ หรือขัดแย้งกับทีโอาร์ที่กำหนดมาตั้งแต่ต้นหรือไม่ ทีมข่าวเนชั่นทีวี รายงาน 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ