Program Online

(คลิปข่าว) รู้จัก "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

(คลิปข่าว) รู้จัก "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" เครื่องกรองประชาธิปไตย

จะขยายความให้ฟังเกี่ยวกับ "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" ซึ่ง กกต.จัดสลากกัน ก่อนส่งลงไปทำหน้าที่ในจังหวัดต่างๆ ฟังข่าวแล้วอาจจะงงๆ ว่า "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" คือใคร ทำหน้าที่อะไร ซึ่งจะว่าไป "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" คือ "นวัตกรรมใหม่" ของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย กกต.ฉบับปัจจุบัน เพราะเพิ่งจะมีในการเลือกตั้งหนนี้เป็นครั้งแรก

นิยามของ "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" ก็คือ คณะบุคคลที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดําเนินการเลือกตั้ง และการกระทําความผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง หรือการกระทําใดก็ตามที่จะเป็นเหตุทําให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ในอำนาจหน้าที่ในการสอดส่องของ "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" ทั้งสิ้น แต่ผู้ตรวจการเลือกตั้งไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษเอง ทำได้แค่แจ้งเตือนกรณีผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ จากนั้นต้องจัดทำรายงานเสนอให้ กกต.ทราบ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยไปตามกฎหมาย ส่วน "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" มาจากไหน กฎหมายเขียนเอาไว้ว่า ให้ กกต.คัดเลือกบุคคลที่มีภูมิลําเนาในแต่ละจังหวัด จังหวัดละไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 8 คน เพื่อแต่งตั้งเป็น "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" โดยจำนวนที่แต่งตั้งต้องเพียงพอกับการปฏิบัติหน้าที่ครบทุกจังหวัด ซึ่ง "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" จะทำหน้าที่เฉพาะการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.เท่านั้น มีวาระการทำหน้าที่ไม่เกิน 5 ปี ส่วนการเลือกตั้งอื่นๆ เช่น เลือกตั้งท้องถิ่น หากจะให้ "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง"ทำหน้าที่ ก็ต้องรอ กกต.สั่งเป็นคราวๆ ไป คุณสมบัติของ "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" ต้องไม่เป็นข้าราชการที่มีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจํา ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดในเวลา 5 ปีที่ผ่านมาก่อนการแต่งตั้ง และเป็นบุคคลที่เชื่อได้ว่ามีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย นี่คือคุณสมบัติหลักๆ สำหรับสาเหตุที่ กกต.ต้องจับสลาก "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" ก็เพื่อให้แต่ละจังหวัดมี "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" ที่เป็นคนในภูมิลำเนานั้น ผสมกับผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดอื่น เพื่อไม่ให้มีเส้นสายหรือสนิทสนมกับนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลภายในจังหวัด จะได้ทำหน้าที่ได้อย่างโปร่งใส ไร้ข้อครหา  ที่ผ่านมาเคยมีนักวิชาการที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับกลไก "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" พบว่ามีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในการสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง สำหรับจุดแข็งก็คือ "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" ที่ทําหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งในระดับจังหวัดเป็นเวลาชั่วคราว และไม่จําเป็นต้องซ้ําหน้าเดิม เพราะจะมีการจับสลากกำหนดพื้นที่ที่จะให้ไปทำงานนั้น วิธีการนี้จะทําให้ "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" ไม่มีความเชื่อมโยงกับคนในพื้นที่ ลดปัญหาการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มการเมืองบางกลุ่มบางฝ่าย ซึ่งจะทำให้งานตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น  แต่การใช้คนจากพื้นที่อื่นทําหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด ก็ส่งผลอีกด้านหนึ่งได้เหมือนกัน โดยเฉพาะจังหวัดที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ เช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคือ ผู้ที่ทำหน้าที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งจะไม่เข้าใจปัญหาในพื้นที่ บางคนไม่เข้าใจภาษา วัฒนธรรมเฉพาะถิ่น จนอาจเกิดปัญหาตามมาได้

(คลิปข่าว) รู้จัก "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง"

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ