ข่าว

'พล.อ.เปรม' โมเดล กับการสมานฉันท์สามัคคีคนในชาติ (จบ)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3494 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 8-10 ส.ค.2562 โดย... ประพันธุ์ คูณมี

‘พล.อ.เปรม’ โมเดล

กับการสมานฉันท์สามัคคีคนในชาติ (จบ)

 

การต่อสู้กับปัญหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ จนกลายเป็นปัญหาสงครามภายในประเทศครั้งสำคัญ นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตประชาชน พลเรือน ตำรวจ ทหาร ใน แต่ละปีจำนวนหลายร้อยหลายพันชีวิต ที่เริ่มตั้งแต่วันเสียงปืนแตกคือ วันที่ 7 สิงหาคม 2508 จนถึงวันที่สงครามได้สงบลงนั้น สงครามก็ได้ทำลายชีวิตคนไทยนับหมื่นคน สร้างความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ในทางเศรษฐกิจและสังคม สุดที่จะประมาณได้ ประเทศ ไร้ความสงบสุข รอบบ้านก็เต็มไปด้วย ไฟสงครามปกคลุมทั้งอินโดจีน

                ภารกิจยุติสงครามภายในประเทศ จึงเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ยึดกุมเป็นภารกิจสำคัญสูงสุด ที่จะต้องแก้ปัญหาและยุติสงครามภายในประเทศ อันเป็นสงครามแห่งการเข่นฆ่ากันเองระหว่างคนไทยร่วมชาตินี้ให้จงได้ เพราะมันมิใช่เป็นเพียงการยุติสงครามภายในเท่านั้น แต่ภารกิจนี้คือการปกป้องแผ่นดินไทยมิให้ล่มสลาย ตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามทฤษฎีโดมิโน เหมือนประเทศรอบบ้านแบบ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ที่ได้ล่มสลายกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ไปก่อนแล้ว

                แม้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะได้มีคำสั่งที่ 66/2523 สามารถสลายกองกำลังที่ติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์ให้อ่อนแอลง และทำให้นักศึกษา ประชาชน ที่เข้าป่าจับปืนต่อสู้กับรัฐบาลขณะนั้น หันกลับมาร่วมพัฒนาประเทศ และร่วมสร้างประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จนสงครามสงบลงในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่สงครามก็ยังมิได้สงบลงโดยสิ้นเชิง เพราะพรรค คอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และสมาชิกพรรคกับผู้ร่วมอุดมการณ์จำนวนมากส่วนหนึ่ง ยังคงมีความเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งขณะนั้นกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอัน เป็นคอมมิวนิสต์ 2495 ยังมีผลบังคับใช้ โดยมิได้ถูกยกเลิกแต่อย่างใด

                การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว รัฐยังสามารถดำเนินการเอาผิดได้ ทำให้ขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์เหล่านั้น ยังมิอาจวางใจฝ่ายอำนาจรัฐไทยได้โดยสนิทใจ ขณะเดียวกันยังมีกำลังส่วนหนึ่งพยายามฟื้นฟูขบวนการกลับคืนมาอีก แม้จะเหลือกำลังไม่มากนักและขาดการสนับสนุนจากจีนก็ตาม แต่ก็มีความพยายามที่จะแสวงหาการหนุนช่วยจากประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ รัฐบาลต่อมาจึงจำเป็นต้องเดินตามแนวทาง พล.อ.เปรม โมเดล เพื่อยุติสงครามให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยุติความขัดแย้งภายในชาติให้ได้

                เพื่อยุติสงครามภายในประเทศให้หมดสิ้น การยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นกฎหมายและเครื่องมือของฝ่ายอำนาจรัฐ ที่ใช้จัดการต่อประชาชนและผู้มีความคิดทางการเมืองแตกต่างโดยเด็ดขาดในอดีต จึงเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญและยิ่งใหญ่ไม่น้อย อันเป็นเหตุจำเป็นที่รัฐบาลต้องดำเนินการ เพื่อสร้างความสมานฉันท์และสามัคคีคนในชาติ

                แต่ก็มีคนจำนวนมากในประเทศ ไม่ทราบว่าภารกิจนี้สำเร็จลงได้อย่างไร และต้องต่อสู้ฝ่าฟันกับแนวคิดอนุรักษนิยม ฝ่ายอำนาจรัฐเก่าที่ยังต้องการใช้กฎหมายนี้ เพื่อกำราบและจัดการโดยเด็ดขาดกับคนที่ท่านเห็นว่าเป็นภัย ตามความคิดและทรรศนะเดิมๆ ที่ท่านเคยชิน เหตุที่ผู้เขียนทราบว่ามีแนวคิดเช่นนี้ดำรงอยู่มากกับฝ่ายอำนาจรัฐ ก็เพราะผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการเสนอให้ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ การยกเลิกจึงยากยิ่ง เพราะความคิดต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ได้ถูกปลูกฝังอยู่ในความคิดฝ่ายราชการไทยมายาวนาน

                ประเทศสยามมีความกังวลเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 7 มีการแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญาให้ “การสั่งสอนทฤษฎีการเมืองหรือเศรษฐกิจ เพื่อให้บังเกิดความเกลียดชัง ดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือเกิดความเกลียดชังระหว่างชนชั้น” เป็นความผิดมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท และเมื่อ นายปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในคณะราษฎรได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจที่มีการปฏิรูปที่ดินและรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน หรือที่เรียกว่า “สมุดปกเหลือง” ก็ถูกวิจารณ์และกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับคอม มิวนิสต์ขึ้นเป็นฉบับแรกคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476

 

                นายปรีดี พนมยงค์ จึงต้องลี้ภัยหนีออกไปต่างประเทศ กฎหมายนี้มีการปรับแก้หลายครั้ง จนกระทั่งถึงรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ฉบับใหม่ ที่มีบทลงโทษรุนแรงมากกว่าเดิม และมีนิยามที่กว้างขวางขึ้น คือ พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 ที่มีผลบังคับใช้เรื่อยมาจนถึงปี 2543 โดยตลอดระยะเวลา 67 ปี ที่มีกฎหมายนี้ใช้บังคับ มีประชาชนที่คิดต่างถูกจับกุมคุมขังนับหมื่นชีวิต มีผู้ถูกประหารชีวิตเพราะถูกกล่าวหานับร้อยนับพัน กฎหมายคอมมิวนิสต์ จึงเป็นกฎหมายที่น่าสะพรึงกลัวและสร้างความอำมหิตสยดสยองแก่ผู้คิดต่างทางการเมืองอย่างยิ่ง

                ปี 2543 นายชวน หลีกภัย ได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นวาระที่ 2 หลังวิกฤติทางเศรษฐกิจปี 2540 สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ถูกประชาชนขับไล่ นายกฯ ชวน หลีกภัย ได้มอบหมายให้ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ดำเนินการหาทางยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 เสีย เพื่อยุติสงครามคอมมิวนิสต์ในชาติให้จบสิ้น

                ผู้เขียนในฐานะเลขานุการ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ จึงได้ร่วมกันทำงานนี้ ร่วมกับ ส.ส.ประชาธิปัตย์บางท่าน ซึ่งต้องต่อสู้ทางความคิดอย่างหนักกับบรรดา ส.ส. ส.ว.หัวเก่า ในสภาสมัยนั้น มีการคัดค้านเรื่องนี้อย่างหนัก แต่ผู้เขียนกับท่าน น.ต.ประสงค์ ก็ได้ชี้แจงเหตุผลและยกหลักกฎหมายอาญาและกฎหมายความมั่นคงที่มีอยู่ มาอธิบายถึงความพอเพียงที่จะรับมือกับปัญหาความมั่นคงของบ้านเมืองได้ กว่าจะฝ่าฟันและยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ได้ ก็ต้องต่อสู้ทางความคิดไม่น้อย ที่สุดสภาฯก็ยอมรับในเหตุผลให้ยกเลิกโดยกฎหมายนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันการ
กระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 ฉบับ พ.ศ.2543” ลงนามโดยนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 51 ก ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2543 ซึ่งนับจากบัดนั้นเป็นต้นมา กฎหมายคอมมิวนิสต์ก็ได้ถูกฌาปนกิจ โดยฝีมือรัฐบาลนายชวน หลีกภัย

                จึงกล่าวได้ว่า นอกจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะได้ใช้คำสั่ง 66/2523 ดับไฟสงครามภายในประเทศแล้ว ต้องถือว่า นายชวน หลีกภัย คือผู้ทำให้สงครามยุติลงโดยสิ้นเชิง ถือได้ว่าทั้ง 2 ท่าน ได้มีส่วนสร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อสังคมไทย เป็นผู้ทำให้ความสมานฉันท์และความสามัคคีคนในชาติไทย ได้ปรากฏเป็นจริงตามเจตนารมณ์ของพี่น้องประชาชนไทยทั้งชาติ สมควรที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะได้จดจำจารึกเรื่องนี้ไว้เป็นบทเรียนในแผ่นดิน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ