ข่าว

พิมพ์สลากขาย 100 ล้านฉบับ ใครกันแน่ที่ 'พุงกาง'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3483 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย.2562 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

พิมพ์สลากขาย 100 ล้านฉบับ

ใครกันแน่ที่ ‘พุงกาง’

 

พิมพ์สลากขาย 100 ล้านฉบับ ใครกันแน่ที่ 'พุงกาง'

 

          ผมเกาะติดนโยบายการแก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลแพง มาตั้งแต่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศมาตรการแก้สลากแพง และนำเสนอแนวคิดเรื่องการจัดการควบคุม “ผู้ขาย” ด้วยการใช้ระบบ “สีของสลาก” มาจัดการ แต่ คสช.กระทรวงการคลัง และที่มีนายทหารเป็นประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ก็ไม่เคยสนใจใยดีที่จะเงี่ยหูฟัง

          กลับเดินหน้าพิมพ์สลากออกมาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผู้คนในประเทศ “มีรสนิยม” ที่ติดเป็นนิสัยชอบเสี่ยงโชค ติดหวยกันงอมแงม จนล่าสุด คุณธนวรรธน์ พลวิชัย อาจารย์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่ายอดคนซื้อหวยใต้ดินเพิ่มขึ้นมาจาก 1 แสนล้านบาท เป็น 5 แสนล้านบาทเข้าไปแล้ว สะท้อนพฤติกรรมผู้คนในประเทศว่านิยมอบายมุขด้วยการเสี่ยงโชค มากกว่า “ลงมือทำ”

          ขณะที่ยอดการพิมพ์สลากออกมาขายประชาชนให้ควักเงินจากหยาดเหงื่อแรงกายมาซื้อสลากของรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแบบไม่น่าเชื่อ

          ลองดูนี่สิครับ สลากกินแบ่งรัฐบาลยุค “รัฐบาลลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

          งวดวันที่ 30 ธันวาคม 2559 พิมพ์สลากออกมาขาย 65 ล้านฉบับ งวดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 พิมพ์เพิ่มเป็น 71 ล้านฉบับ

          งวดวันที่ 1 สิงหาคม 2561 พิมพ์เพิ่มเป็น 87 ล้านฉบับ วันที่ 1 กันยายน 2561 พิมพ์เพิ่มเป็น 90 ล้านฉบับ สูงสุดในประวัติศาสตร์

          ล่าสุดคณะกรรมการสนง.สลากฯ มีมติให้พิมพ์สลากออกมาขายในงวดวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ซึ่งจะเปิดการจองตั้งแต่หลังวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป เพิ่มเป็น 100 ล้านฉบับ

          ถ้าดูตัวเลขระยะเวลา 5 ปี มีการพิมพ์สลากออกมาขายประชาชนเพิ่มขึ้นมา 35 ล้านฉบับ หรือ 70 ล้านฉบับต่อเดือน ถ้าขายออกไปในราคาหน้าตั๋วเท่ากับว่า นั่นหมายถึงว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเดือนละ 5,600 ล้านบาท ตกปีละ 67,200 ล้านบาท...ท่ามกลางคำถามตัวโตๆ ว่าแก้ปัญหาสลากแพงได้หรือไม่ และใครได้ประโยชน์

          เพราะถ้ามีการเพิ่มสลากออกมาขายงวดละ 100 ล้านฉบับ เอาแค่ขายใบละ 90 บาทพอไม่ต้อง 100-120 บาท เท่ากับว่า คอหวยทั้งประเทศรวมเงินไปซื้อสลากงวดละ 9,000 ล้านบาท เดือนละ 18,000 ล้านบาท ปีละไม่มากดอกครับ 216,000 ล้านบาท ถ้าขาย 80 บาท เท่ากับงวดละ 8,000 ล้านบาท เดือนละ 16,000 ล้านบาท ปีละ 192,000 ล้านบาท

พิมพ์สลากขาย 100 ล้านฉบับ ใครกันแน่ที่ 'พุงกาง'

          วันนี้ ผมมีพันธมิตรเพิ่มอีกหลายคน 1 ในนั้นคือ คุณเกียรติ สิทธีอมร แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาตั้งคำถาม ดังๆว่า สลากลอตเตอรี่ 100 ล้านใบ : ใครได้ใครเสีย…??

          ขออนุญาตพาไปฟังความเห็นคุณเกียรติ ..ผมได้ติดตามข่าวนี้จากสื่อมวลชน โดยในระหว่างที่รอการอนุมัติการออกสลากออนไลน์ “เลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว” จะเพิ่มการพิมพ์สลากอีก 10 ล้านฉบับรวมเป็น 100 ล้านฉบับ ฟังแล้วบอกตรงๆ ว่า “กังวลอย่างยิ่ง” จึงอยากขอเสนอมุมมองที่แตกต่าง และขอกระตุกแรงๆ ให้ทบทวนให้รอบคอบก่อนที่จะมีมติใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมไทย

          1. ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 67 ล้านคน พิมพ์สลากขายถึง 100 ล้านฉบับ เพื่ออะไร? อ้างมาโดยตลอดว่าเพื่อแก้ปัญหาการขายสลากเกินราคา แต่ก็ได้พิสูจน์แล้วมาโดยตลอดเช่นกันว่า วิธีนี้แก้ไขปัญหาไม่ได้ ตราบใดที่การขายสลากเป็นการขายตัดตอน ไม่มีการขึ้นทะเบียนผู้ค้าทุกราย ทุกระดับ จากกองสลากถึงผู้ซื้อที่เป็นประชาชน

          2. ในช่วงสมัยรัฐบาลนายกฯชวน 2 มีการพิมพ์สลากประมาณ 14 ล้านฉบับเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าเหมาะกับจำนวนประชากรของประเทศในขณะนั้นคือ 61 ล้านคน สมัยรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ ก็มีการพิมพ์สลากอยู่กว่า 40 ล้านฉบับ ขณะนั้นผมก็ได้ท้วงติงไปว่า เทียบกับประชากรของประเทศ การพิมพ์สลากกว่า 40 ล้านฉบับนั้น สูงเกินไปมากและก็ได้มีการให้ทบทวนจำนวนสลาก และให้แนวทางในการแก้ปัญหาขายสลากเกินราคา โดยการขึ้นทะเบียนผู้ค้าทุกราย ทุกระดับ แต่ก็ได้รับทราบในช่วงเวลาต่อมาหลังรัฐบาลหมดวาระแล้ว ว่ามิได้มีการดำเนินการใดๆ ตามแนวทางที่ให้ไว้ เพราะเกรงอิทธิพลของขาใหญ่และกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม

          ลองคิดดูครับว่าธุรกิจขายตรงที่มีเครือข่ายผู้ขายเป็นล้านคน ทำไมเขาควบคุมไม่ให้มีการขายเกินราคาได้ แล้วทำไมกองสลากทำไม่ได้?? น่าคิดครับ!! จริงๆ ต้องบอกว่าน่าอายนะครับ!!

พิมพ์สลากขาย 100 ล้านฉบับ ใครกันแน่ที่ 'พุงกาง'

          3. ในแต่ละงวดมีผู้ซื้อลอตเตอรี่ทั้งสิ้น 20 ล้านคน แต่มีผู้ได้รับเงินรางวัลแค่ 20,000 ราย หรือ 0.1% นั้น ซึ่งหมายความว่าในแต่ละงวดมีประชาชนผู้ซื้อที่ไม่ถูกรางวัลใดๆ เลย 19,980,000 คน หรือ 99.9%

          ดังนั้นการเพิ่มจำนวนฉลากและรูปแบบการให้รางวัล มีแจ๊กพอตสูงถึง 100 ล้านบาท ก็คือการผลักให้ประชาชนซื้อสลากมากขึ้น ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่ามีคนถูกรางวัลเพียง 0.1 % ของผู้ซื้อทั้งหมด แล้วคนที่เสียเงินอีก 99.9% ละครับ จะอธิบายเขาอย่างไร?

          สำหรับผมนี่คือการมอมเมา และสร้างภาระให้ประชาชนเกือบ 20 ล้านคนทุกเดือน เดือนละ 2 รอบ!! ส่วนคนที่ได้มากขึ้นทุกงวดก็คือพ่อค้าคนกลางและกองสลากเองครับ!!

          4. ถ้าใช้ระบบออนไลน์ แน่นอนครับขายเกินราคาไม่ได้แน่นอน ถ้าทำให้ถูกต้อง แต่ต้องตอบให้ได้ว่า กลุ่มผู้ขายที่ขายสลากเป็นอาชีพหลัก เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มทหารผ่านศึก กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่มีทางเลือกในการทำมาหากิน จะอยู่กันอย่างไร?

          5. ข้ออ้างที่ว่า การพิมพ์สลากเพิ่มและออกเลข 2 ตัว 3 ตัว จะลดปัญหาหวยใต้ดิน มีการนำกรณีศึกษาของประเทศฟิลิปปินส์มาเป็นตัวอย่าง มีการประมาณการว่า จะลดการซื้อหวยใต้ดิน ในไทยได้ 100,000 ล้านบาท จากมูลค่าทั้งหมด 500,000 ล้านบาท หรือเพียง 20% ซึ่งถ้าทำกันจริงๆ ต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าประมาณการนี้จะถูกต้องหรือไม่?

          ก่อนที่จะสรุปเช่นนี้ ขอให้ไปดูกรณีศึกษาในประเทศ อื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และบางประเทศในยุโรป ทุกรายงานยืนยันตรงกันว่า วิธีการเหล่านี้ไม่สามารถทำให้หวยใต้ดินหมดไปได้เลย และในหลายกรณี สร้างปัญหาสังคมเพิ่มขึ้น ตัวเลขทางอาชญากรรมเพิ่มขึ้น คนจนมากขึ้น ต้องเพิ่มกำลังตำรวจเพื่อแก้ปัญหาสังคมที่ตามมา ผมก็ต้องสงสัยว่าทำไมไม่นำข้อมูลทางลบเหล่านี้มานำเสนอให้กรรมการกองสลากและสังคมรับรู้บ้างละครับ??

          6. ขอให้ทบทวนคดีการออกสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ในยุครัฐบาลทักษิณชินวัตร ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาว่าผิดวัตถุประสงค์ของกองสลากและกฎหมายที่มีอยู่ และมีคำพิพากษาระบุว่า “เข้าลักษณะเป็นเจ้ามือรับกินใช้ ซึ่งมีลักษณะเดียวกับหวยใต้ดิน เป็นการพนันขันต่อให้มัวเมาประชาชน”

          ยอมรับเถอะครับว่า สิ่งที่ท่านทั้งหลายกำลังพยายามจะทำกันนั้น จะทำให้เกิดผลกระทบกับสังคมไทยอย่างรุนแรงไม่ได้แก้ปัญหา แต่กลับเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนขาใหญ่บางกลุ่มที่มีแต่ได้กับได้

          นี่คือข้อคิดเห็นของคุณเกียรติ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีน่าที่จะช่วยกันขบคิดหาทางแก้ไข

          สำหรับคำถามว่า ใครได้ ใครเสียนั้น ผมมีคำตอบ...ลองดูข้อมูลนี่ครับ...ผมว่าคนที่ได้จริงคือ รัฐบาลกับตัวแทนจำหน่าย เพราะอะไร ก็เพราะการจัดสรรรายได้จากการขายสลากที่คสช.ดำเนินการนั้น ให้ส่วนลดกับตัวแทนจำหน่าย 14% นำส่งเงินเข้ารัฐไม่น้อยกว่า 20% ซึ่งตกประมาณ 35,000-38,000 ล้านบาท

          ผลจากการให้ส่วนลด ผู้ขายรายย่อยมีต้นทุนลดลงจากเดิมฉบับละ 74.40 บาท เหลือ 70.40 บาท กำไรเพิ่มขึ้นจากเดิม 5.60 บาทต่อฉบับ เป็น 9.60 บาท กำไรฉบับละ 7.68%

พิมพ์สลากขาย 100 ล้านฉบับ ใครกันแน่ที่ 'พุงกาง'

          ตัวแทนจำหน่ายที่เป็นนิติบุคคล มูลนิธิ-สมาคมนิติบุคคล ต้นทุนเดิมฉบับละ 72.80 บาท ลดเหลือ 68.80 บาทต่อฉบับ กลุ่มนี้มีกำไรเพิ่มจาก 7.20 บาท เป็น 11.20 บาทต่อฉบับ กำไรฉบับละ 8.96%

 

พิมพ์สลากขาย 100 ล้านฉบับ ใครกันแน่ที่ 'พุงกาง'

          เครือข่ายธุรกิจสลากที่ขายเกินราคาฟันกำไรพุงกาง หากขายไปฉบับละ 100 บาท เกินหน้าตั๋ว 20 บาท จะได้กำไร 29.60 บาทต่อฉบับ ถ้าขาย 90 ล้านฉบับ 2,664 ล้านบาท/งวด เดือนละ 5,328 ล้านบาท ปีละ 63,936 ล้านบาท

          แต่เมื่อพิมพ์เพิ่มเป็น 100 ล้านฉบับ ขายเกินราคา 20 บาท หรือฉบับละ 100 บาท พ่อค้าขายหวยจะกำไรฉบับละ 29.60 บาท

          กำไรตกงวดละ 2,960 ล้านบาท เดือนละ 5,920 ล้านบาท กำไรดีถึงปีละ 71,040 ล้านบาท

          พุงกางมั้ยครับ....นี่คือคำตอบว่าทำไมต้องพิมพ์สลากมาขายเพิ่ม

พิมพ์สลากขาย 100 ล้านฉบับ ใครกันแน่ที่ 'พุงกาง'

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ