ข่าว

ความคิดพินิจประชาธิปไตยไทย (4)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3476 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 6-8 มิ.ย.2562 โดย.. ประพันธุ์ คูณมี

ความคิดพินิจประชาธิปไตยไทย (4)

 

                การเกิดรัฐประหาร 2 ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 8 ปี ครั้งแรกในปี 2549 โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นั้น รัฐบาลหลังการรัฐประหารไม่มีเครื่องมือทางกฎหมาย ที่สามารถใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างมาตรา 44 ในการบริหารประเทศเหมือนในสมัยของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีการตั้งพรรคการเมืองของคณะรัฐบาล เพื่อแข่งขันในการเลือกตั้ง และรัฐบาลก็อยู่ในอำนาจไม่นาน เมื่อร่างรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อย ก็ก้าวลงจากอำนาจ

                จากประสบการณ์การทำรัฐประหารครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า การรัฐประหารไม่สามารถออกแบบการเมืองได้ทั้งหมด สุดท้ายการเมืองไทยก็กลับไปเป็นการเมืองแบบเก่า พบปัญหาเดิมๆ การรัฐประหารครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนให้กับการรัฐประหารครั้งที่ 2 ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2557 ทำให้การรัฐประหารครั้งนี้มีการปรับตัว ระมัดระวังและไตร่ตรองยิ่งขึ้น เห็นได้ว่าการรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อปัญหาทางการเมืองที่มีความสุขงอมและบ้านเมืองไร้ทางออก ส่วนการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร ก็ปรับปรุงให้มีความเด็ดขาดมากขึ้น

               การรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อต้องการลดทอนอำนาจของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ยังพยายามกลับเข้ามามีบทบาทและมีอำนาจในทางการเมืองของไทยอีกครั้งจากต่างประเทศ ทั้งที่ตนเองนั้นมีความผิดติดตัว โดยศาลได้พิพากษาลงโทษแล้ว แต่ยังคงหลบหนีอยู่ต่างประเทศ การรัฐประหารและการตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลจากการยึดอำนาจของไทย ไม่เคยใช้เหตุผลที่ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย แต่จะอ้างถึงปัญหาของระบอบประชาธิปไตย ที่ดำรงอยู่ก่อนหน้าและจำเป็นต้องหยุดเพื่อปรับปรุงประชาธิปไตยให้ดีขึ้นเสียก่อน  เป็นการแก้ปัญหาทางการเมืองที่มีอยู่และเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง  

                แต่อย่างไรก็ตาม ผลของการรัฐประหารระยะหลังไม่เหมือนในอดีต ไม่สามารถคลี่คลายปัญหาของบ้านเมืองได้เช่นในอดีต ที่เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นแล้ว ในอดีตผู้นำประเทศที่ถูกยึดอำนาจ ก็จะต้องหมดบทบาททางการเมืองไป ต้องไปลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ และหากกลับมาสู่การเมืองก็มาตั้งพรรคการเมืองใหม่ ที่มีอุดมการณ์ใหม่ มีฐานอำนาจและฐานคะแนนเสียงต่างจากเดิม

                แต่สังเกตให้ดี อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร นั้นกลับเข้ามามีอำนาจทางการเมืองในประเทศไทย โดยใช้เส้นทางสู่อำนาจแบบเดิม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคการเมือง จากพรรคไทยรักไทยเป็นชื่ออื่นๆ แต่ก็ยังดำเนินการทางการเมืองในรูปแบบเดิม นำกลับไปสู่ปัญหาเดิมๆอีก ทั้งยังมีความพยายามจะปลุกระดมกลุ่มมวลชนที่เป็นฐานอำนาจเดิมของตน ให้ต่อสู้กับคณะรัฐประหารด้วย นี่เป็นสิ่งที่แตกต่างจากเหตุการณ์หลังการรัฐประหารในอดีต

                ส่วนเหตุการณ์ที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกสั่นคลอนและตั้งคำถามอยู่ระยะหนึ่ง ทำให้เกิดความคลุมเครือในเรื่องความจงรักภักดี ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในหมู่คนไทย แต่จากเหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในปี 2559 หลังจากที่ทรงครองราชสมบัติดูแลประชาชนคนไทยทุกกลุ่มมายาวนานถึง 70 ปี ความคลุมเครือดังกล่าว ก็ปรากฎเป็นคำตอบที่ชัดเจน ด้วยการแสดงออกถึงความจงรักภักดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือระบอบปรมิตตาญาสิทธิราชย์ (Limited Monarchy) ที่พระมหากษัตริย์เป็นธรรมราชากำกับ สถาบันพระมหากษัตริย์ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชนทั้งชาติอย่างมั่นคง

    

รู้จักและเข้าใจ 87 ปี ประชาธิปไตยบนพื้นฐานของสังคมไทย

                จากระยะเวลา 87 ปี เห็นได้ว่าการเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลง ในลักษณะที่เหมือนบ้างและต่างบ้างจากประชาธิปไตยแบบตะวันตก เช่น มีพลังทางสังคมมากำหนดประชาธิปไตย เช่นเดียวกับประเทศในตะวันตก โปรดสังเกตว่า ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น ยังไม่มีพลังทางสังคมของไทยเกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่เมื่อหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว ได้เกิดพลังทางสังคมที่ต่อสู้และมีส่วนร่วมทางการเมืองขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังเป็นเพียงพลังของนักศึกษาเพราะยังไม่มีอาชีพ ไม่ใช่พลังของชนชั้นกลางที่แท้จริง จนกระทั่งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 พลังทางสังคมของชนชั้นกลางก็เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

                ในการพิจารณาประชาธิปไตยของไทย ไม่ควรมองว่าการเมืองไทยหยุดนิ่ง น้ำเน่าหรือไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง แท้จริงแล้ว ประชาธิปไตยของไทยมีพลวัตและการเปลี่ยนแปลงที่สูงมาก เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงมักเกิดขึ้นในการเมืองไทยเสมอ ฝ่ายที่เคยกุมอำนาจอยู่ก่อนการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้เป็นฝ่ายชนะในการเลือกตั้งเสมอไป คนไทยและสังคมไทยเปลี่ยนแปลงทางความคิดได้อย่างรวดเร็ว โดยยังยึดถือจารีตประเพณี แต่สามารถผสมผสานไปกับความก้าวหน้า และการเปลี่ยนแปลงไปกับสถานการณ์ได้ เป็นความทันสมัยด้วย สังคมไทยไม่ใช่สังคมที่เป็นอนุรักษ์นิยมเข้มข้นที่รับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ได้ ลักษณะของทั้ง 2 มุมนี้ ทำให้สังคมไทยอยู่รอดปลอดภัยได้จนปัจจุบัน หลังการเข้ามาของชาติตะวันตก ในยุคล่าอาณานิคม

                สำหรับประเทศไทย ไม่ควรมองเรื่องประชาธิปไตย เป็นเป้าหมายเพียงอย่างเดียวในการพัฒนาทางการเมืองหรือการทำความเข้าใจลักษณะของการเมืองไทย เพราะคนไทยคำนึงถึงเรื่องความมั่นคง ความสงบสุขและเรื่องอื่นๆ ร่วมด้วย การคำนึงถึงสิ่งที่รอบด้าน ได้ทำให้ประเทศไทยอยู่รอดปลอดภัยมากว่า 700-800 ปี การที่คนไทยยึดถือเรื่องความมั่นคงและความสงบสุขเป็นใหญ่ เพราะประเทศไทยคุ้นชินกับการไม่มีสงครามมากว่า 200 ปี อีกทั้งคนไทยไม่ชอบการปฏิวัติที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบถอนรากถอนโคน ไม่ชอบความวุ่นวายและความรุนแรง

                ที่สำคัญที่สุด คนไทยยังนิยมสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้เป็นสถาบันหลักนำชัยของชาติต่อไป ซึ่งหมายถึงการปกครองแบบปรมิตตาญาสิทธิราชย์ (Limited Monarchy) ที่ผสมผสานไปกับหลักธรรมะของทุกศาสนา และเป็นธรรมาธิปไตย จากผลงานในอดีตของพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการนำพาประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า ผ่านพ้นวิกฤตครั้งต่างๆ ซึ่งปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจน เหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่นักประชาธิปไตยต้องคำนึง นำมาคิดพิจารณาประกอบการทำงานหรือการต่อสู้ของตน

               ความจงรักภักดีต่อระบอบราชาธิปไตยของคนไทย ( อ่านตอนต่อไป)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ