ข่าว

ความคิดพินิจประชาธิปไตยไทย การเมืองไทยจากปี 2544 ถึงปัจจุบัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความคิดพินิจประชาธิปไตยไทย การเมืองไทยจากปี 2544 ถึงปัจจุบัน (3)

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3474 ระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-1มิ.ย.2562 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

 

ความคิดพินิจประชาธิปไตยไทย

การเมืองไทยจากปี 2544 ถึงปัจจุบัน (3)

 

                ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นไป ลักษณะสองนคราประชา ธิปไตยเริ่มคลายตัว ด้วยเหตุที่ชนบทและเมืองเริ่มเคลื่อนที่เข้าหากัน แทบไม่มีชนบทที่ล้าหลังและถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวเหลืออยู่อีกต่อไป เกิดเมืองขนาดใหญ่ขึ้นในต่างจังหวัด นอกจากกรุงเทพ มหานคร รวมถึงเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก นอกจากนั้น อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้พยายามแก้โจทย์ของสองนคราประชาธิปไตย โดยพยายามได้เสียงสนับสนุนจากกลุ่มคนทั้งสองนครา คือทั้งคนเมืองและคนชนบท ทักษิณได้สร้างมิติใหม่ให้แก่วงการเมือง ด้วยการเสนอนโยบายที่จับใจประชาชนที่เป็นฐานเสียง โดยเฉพาะคนยากจนและชนชั้นกลางระดับล่างที่ยังอยู่ในต่างจังหวัด เช่น นโยบายการออกสินเชื่อ การสร้างกองทุนหมู่บ้าน การพักการชำระหนี้เกษตรกร และโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น

                การเกิดขึ้นของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการเมืองไทย เป็นครั้งแรกที่พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเด็ดขาดและสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวในการเลือกตั้งต้นปี 2548 และหลังจากนั้น พรรคการเมืองในกลุ่มของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในชื่อพรรคต่างๆ ก็สามารถชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาดได้ติดต่อกัน เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี

                การเมืองไทยกำลังไปได้ด้วยดี หากไม่มีปัญหาหลายเรื่องในการทำงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีทักษิณเอง เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ในเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดนราธิวาส การสังหารประชาชนเกือบ 2,500 ศพ ในนโยบายการทำสงครามปราบยาเสพติด หรือการใช้อำนาจโดยทุจริตในทางฉ้อฉลต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ดังปรากฏตามความผิดต่างๆ ที่ศาลได้ตัดสินคดีไปแล้ว เป็นต้น

                อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร คือนักธุรกิจการเมือง แสดงออกซึ่งพลังของธนานุภาพที่ชัดเจน เมื่อผนวกกับการนำเสนอนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชนที่เป็นฐานของคะแนนเสียงแล้ว เกิดเป็นนโยบายที่เรียกว่า “นโยบายประชานิยม” นอกจากนั้นยังเกิดการคอร์รัปชัน “ทุจริตเชิงนโยบาย” ดังที่วิพากษ์วิจารณ์กัน

                ทั้งหมดนี้เป็นเหตุนำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองอีกครั้ง เพื่อต่อต้านรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในสมัยที่ 2 เกิดการแสดงพลังของชนชั้นกลางขึ้นอีกครั้ง ด้วยการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่นำโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล ปลายปี 2548 ในระยะนี้ ดูเหมือนพลังของสองนครา ประชาธิปไตย ก็จะฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จากการชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในเมือง ส่วนนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร มองว่า ฝ่ายต่อต้านที่นำโดยนายสนธินั้น อิงแอบอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ และบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นคือ องคมนตรี บุคคลกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลนี้จึงถูกเรียกว่า “กลุ่มอำมาตย์” และเรียกฝ่ายตนว่า “ไพร่”

                กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลใช้ฐานความชอบธรรมในการต่อสู้อิงอยู่ที่การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ใช้เสื้อสีเหลืองซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 9 เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ เพราะอีกเหตุผลหนึ่งในการต่อต้านนายกฯ ทักษิณ ได้แก่การมองว่าบุคคลผู้นี้ไม่เคารพ ไม่จงรักภักดี และทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ การต่อสู้ทางการเมืองในห้วงเวลานี้ เป็นการนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์ไปต่อสู้กับระบอบทักษิณ ซึ่งจะใช่หรือไม่ จะจริงหรือไม่ก็ตาม ได้ทำให้เกิดกระแสของนักวิชาการ ปัญญาชนและขบวนการเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่ง ที่กลับไปพินิจพิเคราะห์บทบาทของพระมหากษัตริย์ในทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในเชิงลบ และพยายามถอดบทเรียนบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ระหว่างปี 2475-2477 เมื่อผนวกกับนักวิชาการ ปัญญาชนและขบวนการเคลื่อนไหวที่มีความคิดไปในแนวทางของสาธารณรัฐนิยมและกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ศักดินาแล้ว ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกสั่นคลอนไปบ้าง

                การต่อต้านรัฐบาลของกลุ่มผู้ชุมนุมที่นำโดยนายสนธิ ได้ขยายกลายเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมขนาดใหญ่ ในนามของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เกิดจากหลายองค์กรทั่วประเทศและหลายฝ่ายร่วมมือกัน จนสุดท้ายจบลงที่การรัฐประหารที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และการตั้งรัฐบาลที่เชิญพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2549 มีการยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะนี้ ประเทศไทยก็ได้เกิดขบวนการมหาชนชนชั้นล่าง (กลุ่มคนเสื้อแดง) ซึ่งสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร โดยเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร ที่ยึดอำนาจมาจากรัฐบาลทักษิณ กลุ่มคนเสื้อแดงมีบทบาททางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการล้มล้างรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่พวกเขาเชื่อว่าได้รับการสนับสนุนจากทหารในการตั้งรัฐบาล ในปี 2552-2553

                เมื่อรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 เรียบร้อย และได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นปลายปี 2550 พรรคพลังประชาชน (พรรคไทยรักไทยเดิม) ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี

                หลังปี 2550 ในยุคของรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ขึ้น ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และพฤติกรรมของนักการเมือง ประชาธิปไตยไทยในระยะนี้ถูกมองรวมไปถึงบทบาทในการควบคุมการทำงานของรัฐโดยองค์กรอิสระ อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ก็สามารถมองได้อีกแง่หนึ่งว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องการประชาธิปไตย ที่มีใครหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตรวจสอบและคัดค้านไม่ได้ แม้ว่าอำนาจนั้นจะมาจากชัยชนะในการเลือกตั้งก็ตาม

                ในปลายสมัยของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ รัฐบาลใช้เสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบ “สุดซอย” ทำให้เกิดการโต้กลับจากมวลชนขนาดใหญ่ ออกมาคัดค้านทันที จนเกิดเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชน ในนาม กปปส.เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์และการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศ มวลชนของ กปปส.ส่วนใหญ่คือ ชนชั้นกลางซึ่งต่างจากมวลชนในยุโรปในยุคศตวรรษที่ 19-20 ที่เป็นมวลชนชนชั้นรากหญ้า แต่มวลชนของไทยมีทั้งชนชั้นกลางและคนรากหญ้าด้วย การเคลื่อนไหวของ กปปส.จบลงด้วยการรัฐประหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี (อ่านต่อในตอนต่อไป)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ