ข่าว

'ตาชั่งเอียง' หรือไม่? คดี 'ดอน-ธนาธร' ไฉนศาลตัดสินต่างกัน..

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ว่าเป็นปฏิบัติการทางกฎหมายในการ "ดับฝันธนาธร-ดับทางเดินของอนาคตใหม่"

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3473 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 26-29 พ.ค.2562 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

‘ตาชั่งเอียง’ หรือไม่?

คดี ‘ดอน-ธนาธร’ ไฉนศาลตัดสินต่างกัน...

 

                พลันเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9:0 เสียง รับคดี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถือหุ้นสื่อไว้พิจารณาว่าขัดกับคุณสมบัติการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือไม่ และมีมติด้วยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ให้ “ธนาธร” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ว่าเป็นปฏิบัติการทางกฎหมายในการ “ดับฝันธนาธร-ดับทางเดินของอนาคตใหม่”

                ถึงขนาดมีการยกวาทะดังของ “มงแต็สกีเยอ” นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อดังว่า “ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือในนามของกระบวนการยุติธรรม” มาสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้ทางด้านมวลชน

                ในพรรคอนาคตใหม่ไปไกลถึงขนาดมีการยกเรื่องราวการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องการถือหุ้นของ “ดอน ปรมัตถ์วินัย” รมว.ต่างประเทศ มาเทียบเคียง และร้องถามหาความยุติธรรมกันสนั่นโลกออนไลน์!

                ผมจึงอยากพาทุกท่านมาศึกษาเรื่องคำตัดสินของศาลใน 2 คดีทางการเมืองที่กำลังกลายเป็นบรรทัดฐานของประเทศในเรื่องคุณสมบัติของนักการเมือง ที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ

                ในเอกสารสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ลงมติด้วยเสียงข้างมากได้อธิบายไว้ชัดดังนี้..

                กรณีให้รับคดีไว้พิจารณา : “ผู้ถูกร้อง (นายธนาธร) เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ”

                เหตุผลที่ศาลยกมาคือ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นทุกครั้งของกลุ่มไทยซัมมิท จะส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ระบุวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น พร้อมหนังสือนำส่งนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพฯ ในเวลาใกล้ชิดกัน แตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในคดีนี้ ตามเอกสารประกอบคำร้องไม่ปรากฏว่ามีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น จึงปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง

                กรณีการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง : ศาลเห็นว่า “การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมาย และการคัดค้านโต้แย้ง เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุม ส.ส. ได้”

                เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) กำหนดเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครส.ส.ไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้สมัคร ส.ส. “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ”

                อย่างไรก็ตาม ธนาธรก็ยังไม่ยอมรับ และประกาศเดินหน้าต่อไป โดยระบุว่า ตัวธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ยังยืนยันที่จะรวบรวมเสียงจากพรรคต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเพื่อต่อต้าน “ฝ่ายเผด็จการ” ต่อไป

                “อยากให้เรายืนเงียบๆ แล้วเงี่ยหูฟัง พวกเราได้ยินเสียงของความคลั่งโกรธของผู้คนที่อยู่ข้างนอกไหม...คสช. ในวันนี้อยู่ในขาลง คสช. และระบอบเผด็จการที่มาพร้อมพวกเขา คืออาทิตย์ที่กำลังอัสดง”

                ธนาธรยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับมติของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการทำงานของ กกต. รีบร้อนผิดปกติ และมีแรงจูงใจทางการเมือง เพราะ “คณะกรรมการสืบสวนข้อร้องเรียนกรณีที่ผมถือหุ้นสื่อยังคงดำรงสืบสวนอยู่จนถึงวันนี้ เหตุใด กกต. ชุดใหญ่ ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ถึงพิจารณาและส่งข้อร้องเรียนให้ศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 16 พ.ค. ทั้งที่ชุดเล็กยังแสวงหาข้อเท็จจริงยังไม่เสร็จสิ้น”

                “ถึงแม้ว่าวันนี้ผมถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส. แต่ผมยังเป็น ส.ส. ระหว่างรอการวินิจฉัยของศาล ผมจะยังคงทำงานกับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ในเมื่อพวกเขาไม่ให้ผมเข้าสภา ผมก็จะอยู่กับประชาชน ผมจะทำงานในฐานะบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน 6 ล้าน 3 แสนเสียงทั่วประเทศ” ธนาธร ยืนยัน

                คดีนี้จะเป็นอย่างไร ต้องติดตามการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งไม่น่าจะช้ามากนัก

                หวนกลับไปดูคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ร้อง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เป็นผู้ถูกร้อง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 กรณีความเป็นรัฐมนตรีของนายดอนต้องสิ้นสุดเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ เนื่องจากที่นางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยานายดอน ถือหุ้นเกิน 5% ในบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที จำกัด

                เพราะภายหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ นายดอนไม่ได้แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าภรรยาครอบครองหุ้นดังกล่าว รวมถึงแจ้งการครอบครองเกินกว่ากำหนดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยหุ้นส่วนรัฐมนตรี พ.ศ.2543

                ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า ภรรยานายดอน โอนหุ้นภายใน 30 วัน ตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 และเป็นการโอนหุ้นที่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้น นายดอนจึงไม่สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี

                ทำไมศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยเช่นนั้นทั้งๆ ที่นายดอน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมา 2 ปีเศษ

                ศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 264 เป็นบทเฉพาะกาล ให้คณะรัฐมนตรีอยู่ปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ามา และมีการงดเว้นลักษณะต้องห้ามบางประการ แต่ไม่ยกเว้นตามมาตรา 187 คือ กรณีรัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด ขณะที่หนังสือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 5 เม.ย. 2560 ระบุให้รัฐมนตรีพึงระวังดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ห้ามการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ และต้องไม่เป็นหุ้นส่วนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นเมื่อนายดอนเป็นรัฐมนตรีก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 จึงต้องปฏิบัติตามมาตรา 187 ที่ต้องไม่เป็นหุ้นส่วนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดด้วย

                มีปัญหาต้องวินิจฉัยอีกว่า นายดอนได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 วันใด ศาลเห็นว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีแนววินิจฉัยไว้แล้ว ตามคำวินิจฉัยฉบับที่ 20/2544 ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 จึงถือว่านายดอนได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในวันดังกล่าวด้วย ดังนั้น จึงต้องไม่ถือหุ้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

                กรณีนางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยานายดอน โอนหุ้นถูกกฎหมายหรือไม่ ศาลวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงศาลชั่งนํ้าหนักรับฟังได้ว่า นางนรีรัตน์ ถือหุ้นบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด 7,200 หุ้น และทำหนังสือแจ้งการโอนหุ้นเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2560 ให้กับนายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย (บุตร) จำนวน 4,800 หุ้น หลังจากนั้นทำหนังสือแจ้งที่ประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2560 และที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการโอนหุ้นดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2560 โดยนางนรีรัตน์คงเหลือหุ้น 2,400 หุ้น หรือ 4%

                ขณะเดียวกันนางนรีรัตน์ ถือหุ้นบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที จำกัด 3,500 หุ้น และทำหนังสือแจ้งการโอนหุ้นเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2560 ให้กับนายเพื่อน 2,700 หุ้น และทำหนังสือแจ้งที่ประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2560 และที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการโอนหุ้นดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2560 โดยนางนรีรัตน์คงเหลือหุ้น 800 หุ้น หรือ 4%

                ศาลเห็นว่า การโอนหุ้นมี 2 แบบคือ หุ้นแบบระบุชื่อ และไม่ระบุชื่อ สำหรับหุ้นใน 2 บริษัทดังกล่าว เป็นหุ้นแบบระบุชื่อ โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 ระบุว่า การโอนหุ้นแบบระบุชื่อนั้น ต้องให้ผู้โอน ผู้รับโอน และพยานลงนามในหนังสือโอนหุ้นด้วย ถ้าไม่ทำหนังสือ หรือไม่มีพยานรับรองให้ถือว่าเป็นโมฆะ โดยนางนรีรัตน์ ได้ทำหนังสือโอนหุ้นแก่ที่ประชุมของ 2 บริษัทดังกล่าว ในวันที่ 27 เม.ย. 2560 และวันที่ 30 เม.ย. 2560 ซึ่ง 2 บริษัทดังกล่าวจัดประชุมในวันที่ 27 เม.ย. 2560 และวันที่ 30 เม.ย. 2560 ในการอนุมัติการโอนหุ้น

                การโอนหุ้นดังกล่าวเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 ดังนั้นนางนรีรัตน์จึงโอนหุ้นเป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4 ที่กำหนดให้ต้องโอนหุ้นภายใน 30 วัน จึงดำเนินการถูกต้อง

                ศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187

                ทั้ง 2 คดีมีที่มาคล้ายกัน แต่แตกต่างกันในสาระและข้อกฎหมาย!

                หรือใครจะว่าศาลเอียง!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ