ข่าว

อำนาจพิเศษ 'ทรัมป์' สิ้นมนต์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อำนาจพิเศษ 'ทรัมป์' สิ้นมนต์

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3472 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 23-25 พ.ค.2562 โดย.... ณัฐพล หวังทรัพย์ (แทน)

 

อำนาจพิเศษ ‘ทรัมป์’ สิ้นมนต์

 

          กลายเป็นข่าวสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วโลกเมื่อ “Google” ผู้สร้างระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือ ออกแถลงการณ์ระบุ จำเป็นต้องระงับการให้บริการทางเทคนิค ตลอดจนการสนับสนุนด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แก่บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีฯ ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ของจีน ยกเว้นบางอย่างที่สามารถให้บริการผ่านระบบเปิดได้ รวมถึงในอนาคตอาจจะไม่สามารถใช้แอพฯ ต่างๆ ของ Google ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Gmail ในเครือกูเกิลทั้งหมดบนโทรศัพท์หัวเว่ย

          เหตุการณ์สะเทือนโลกครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติ เมื่อวันพุธที่ 15 พฤษภาคม 2562 ห้ามบริษัทสหรัฐฯ ใช้เครือข่ายโทรคมนาคมของบริษัทต่างชาติ ที่เชื่อว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

          จากนั้นในวันเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ ได้ประกาศชื่อบริษัทเข้าบัญชีดำการซื้อขาย ที่เรียกว่า Entity List ห้ามบริษัทต่างๆ ในประเทศของสหรัฐฯ ใช้อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมของหัวเว่ย และบริษัทลูกอีกกว่า 68 แห่ง หากจะขายอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ของบริษัทให้กับหัวเว่ย หรือบริษัทอื่นๆในบัญชีดำนี้ ก็จะต้องยื่นเรื่องของอนุมัติจากหน่วยงานภาครัฐก่อน จึงจะสามารถซื้อขายได้

          แม้ต่อมากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้ยกเลิกคำสั่งห้ามธุรกิจสหรัฐฯร่วมงานกับบริษัทหัวเว่ยฯ เป็นการชั่วคราว โดยอนุญาตให้มีการอัพเดตซอฟต์แวร์เพื่อให้ผู้ใช้ยังคงสามารถใช้งานโทรศัพท์ของหัวเว่ยได้ โดยการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 19 สิงหาคมนี้

          คำประกาศของทรัมป์ เป็นไปตามกฎหมายปี ค.ศ. 1976 ที่อนุญาตให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถประกาศภาวะฉุกเฉินได้ ในอดีตการประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ (national emergency) จะใช้ในยามเกิดศึกสงคราม เช่น สงครามโลก สงครามเกาหลี ส่วนการใช้อำนาจพิเศษนี้ในสมัยของทรัมป์ที่ฮือฮาที่สุด คือการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อก่อสร้างกำแพงกั้นชายแดนความยาว 320 กิโลเมตร และล่าสุดคือกรณีหัวเว่ย

          อันที่จริงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการใช้อำนาจพิเศษมาตั้งแต่โบราณกาล ในยุคสมัยโรมันก็ได้มีการกำหนดให้ผู้นำสามารถประกาศภาวะฉุกเฉินได้เมื่อยามประสบปัญหาวิกฤติ และได้คืนชีพมาจนถึงปัจจุบันรัฐธรรมนูญของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส เยอรมนี แอฟริกาใต้ รวมถึงสหรัฐฯ ได้ให้อำนาจนี้ให้แก่ฝ่ายบริหารอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉิน

          การที่สหรัฐฯมีกฎหมายพิเศษนี้ ก็เพื่อเป็นการรับประกันว่าการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาตินั้น จะต้องมีความรับผิดชอบ (Responsible) เหมาะสม (Appropriate) และถูกต้องกับเวลาหรือกาลเทศะ (Timely) แต่บทบัญญัติของกฎหมายกลับไม่ได้ให้คำ นิยามที่ชัดเจนของคำว่า “สถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติ” แต่ได้ให้อำนาจเด็ดขาดแก่ประธานาธิบดีเพียงผู้เดียวในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยไม่ต้องพิจารณาถึงหลักฐานหรือข้อเท็จจริงภายนอกใดๆ

          ต้องยอมรับว่ากฎหมายพิเศษฉบับนี้ถือเป็นยาแรงที่สหรัฐฯงัดมาใช้ หวังมัดมือชกบรรดาบริษัทไอทีสหรัฐฯตัดสัมพันธ์ธุรกิจกับหัวเว่ย เพราะหากไม่ทำตามอาจถูกอายัดทรัพย์สินฐานฝ่าฝืนข้อห้ามมิให้ชาวอเมริกันทำธุรกรรมทางการเงินกับหัวเว่ย ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นวิธีการที่สหรัฐฯนิยมนำมาใช้กับผู้ฝ่าฝืนมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ

          จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯประกาศขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยแล้ว Google และบริษัทชั้นนำด้านไอที ไม่ว่าจะเป็น Intel Qualcomm และ Broadcom ผู้ผลิตชิปอุปกรณ์ รวมไปถึงไมโครซอฟท์ก็ประกาศระงับการทำธุกรรมกับหัวเว่ยเช่นกัน

          ก่อนหน้านี้บริษัท แซดทีอี ของจีน ก็เคยถูกขึ้นบัญชีดำในทำนองเดียวกันนี้มาแล้วเมื่อครั้งถูกสหรัฐฯจับได้ว่าบริษัทลักลอบขายสินค้าให้กับอิหร่านและเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นประเทศที่ถูกสหรัฐฯประกาศควํ่าบาตร จนแซดทีอี ต้องยอมเจรจายอมจ่ายค่าปรับให้กับสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการถูกถอดชื่อจากบัญชีดำและกลับมาทำธุรกิจกับบริษัทสหรัฐฯได้ตามปกติ

          แต่กรณีหัวเว่ยผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลก มีการนำเข้าชิ้นส่วนต่างๆจากภายนอกองค์กรประมาณ 67,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในแต่ละปี คงไม่ง่ายนัก ที่สำคัญยังทำให้การใช้อำนาจพิเศษประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติ ของ “ทรัมป์” ดูเสื่อมถอยลง หลังจากผู้บริหารหัวเว่ยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทเตรียมความพร้อมมาระยะหนึ่งแล้วสำหรับเรื่องนี้ ด้วยการพัฒนาแอพพลิเคชันต่างๆ และซอฟต์แวร์ของตัวเอง เพื่อเป็นผู้กำหนดโชคชะตาธุรกิจของตัวเอง

          หัวเว่ยยังประกาศชัดเจนว่าะมุ่งพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่สำคัญๆ ด้วยเทคโนโลยีของตัวเอง และลดการพึ่งพาซัพพลายเออร์ต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ

          ยิ่งดูจากท่าทีของรัฐบาลจีนที่ส่งสัญญาณออกมาว่าอาจมีการจำกัดส่งออกแร่แรร์เอิร์ธ ที่ใช่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตชิปคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไฮเทค รวมถึงอาวุธ ซึ่งจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ 90% ของทั้งโลก แน่นอนว่ามาตรการจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตชิปในสหรัฐฯ จนกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯต้องออกมายกเลิกคำสั่งห้ามธุรกิจสหรัฐฯร่วมงานกับบริษัท หัวเว่ยฯ ออกไปอีก 3 เดือนมีผลบังคับใช้วันที่ 19 สิงหาคมนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ