ข่าว

'เจ้าสัวใหญ่ธนินท์' วางมือ? '3 เจ้าสัวน้อย' ขึ้นนั่งบัลลังก์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'เจ้าสัวใหญ่ธนินท์' วางมือ? '3 เจ้าสัวน้อย' ขึ้นนั่งบัลลังก์

คอลัมน์ข่าวห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3465 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 28 เม.ย.-1 พ.ค.2562 โดย...พรานบุญ

 

'เจ้าสัวใหญ่ธนินท์' วางมือ?

'3 เจ้าสัวน้อย' ขึ้นนั่งบัลลังก์

 

                ปล่อยให้ลุ้นมานานว่า ระหว่าง “สุภกิต-ณรงค์-ศุภชัย เจียรวนนท์” ใครจะเป็นทายาทในการรับไม้ต่อเป็นผู้นำองค์กรที่มีทรัพย์สิน 6-6.5 ล้านล้านบาท ทำกำไรทั้งกลุ่มปีละ 4.5-5 แสนล้านบาท มากกว่างบลงทุนของประเทศไทย ต่อจาก “เจ้าสัวใหญ่ธนินท์ เจียรวนนท์” ผู้สร้างอาณาจักรเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มาตั้งแต่วัย 19 ปี

                ช่วงเดือนมกราคม 2560 กลุ่มธุรกิจในเครือซีพี ส่งสัญญาณถึงการผลัดใบเข้าสู่รุ่นที่ 3 อย่างเต็มตัว เมื่อเจ้าสัวธนินท์ตัดสินใจถอยฉากก้าวขึ้นไปเป็น “ประธานอาวุโส” พร้อมกันแต่งตั้ง “สุภกิต เจียรวนนท์” บุตรชายคนโตที่ดูแลภาพรวมทั้งหมดของการลงทุนในจีนขึ้นเป็น ประธานซีพี

                ณรงค์ ทายาทคนที่ 2 ที่ดูแลธุรกิจค้าปลีก เป็น รองประธานซีพี

                และมีการแต่งตั้งให้ เจ้าสัวน้อยศุภชัย เป็น ประธานคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ) เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่จะมีอายุครบ 100 ปี ในปี 2564

                แต่นั่นมิใช่การถอยฉากของเจ้าสัวธนินท์ในทางธุรกิจ...หากแต่เป็นการถอยออกมา 1-2 ก้าว เพื่อเปิดทางให้ทายาท 3 หนุ่ม 3 มุม แสดงฝีไม้ลายมือในการบริหารจัดการ นำพาองค์กรโดยที่ “ท่านประธานธนินท์” ออกมายืนดูและคอยประคอง

                แต่พลันที่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เจ้าสัวใหญ่ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีภารกิจมากขึ้น ทำให้ไม่มีเวลาปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ โดยมีผลทันทีวันที่ 24 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา

                หลังจากนี้ไปคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนและสรรหากรรมการของ CPF อยู่ระหว่างการสรรหาบุคคลที่เหมาะสม เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งให้เข้าดำรงตำแหน่ง

                พรานบุญซึ่งเชี่ยวชาญในการส่องสรรพสัตว์อยู่ในพงไพร..บอกได้เลยว่า อาณาจักรซีพีกำลังผลัดใบส่งมอบเก้าอี้ผู้นำองค์กรอย่างแท้จริง

                และเชื่อได้ว่า ในไม่ช้า เจ้าสัวใหญ่ธนินท์ที่นั่งเป็นประธานกรรมการอีก 2 บริษัทในตลาดหุ้น คือ ซีพีออลล์ ยักษ์ค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งปีที่ผ่านมาสร้างรายได้รวม 527,859 ล้านบาท และทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งในปีที่ผ่านมามีรายได้รวม 177,525 ล้านบาท จะลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้ทายาทที่โชว์ฝีมือการนำพาองค์กรก้าวขึ้นมาแทนที่

                สายข่าวจากป่าใหญ่พงไพรที่รกชัฏบอกว่า ในทางปฏิบัติแม้จะให้กรรมการสรรหา ที่มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ประเสริฐ พุ่งกุมาร และ ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ เป็นกรรมการทำหน้าที่สรรหา แต่ในทางปฏิบัติขอบอกว่า มิใช่เป็นเช่นนั้น...แน่ยิ่งกว่าแช่แป้ง

                และแม้ว่าจะมีโพยออกมาหยั่งกระแสว่า จะมีการแต่งตั้ง “คนนอก” มาบริหารงานแบบมืออาชีพ โดยมีการปล่อยชื่อ “ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล” อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ที่ปัจจุบันเป็นรองประธานแต่ทำงานเสมือน ซีเอฟโอของเครือซีพี “ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์-รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์-อดิเรกศรีประทักษ์” เป็นประธาน...แต่อาจมิใช่เช่นนั้น

                พรานฯได้กลิ่นโชยมาจากป่าใหญ่ว่า ถ้ามิใช่ “ประธานสุภกิต” ก็เป็น “ประธานศุภชัย” เท่านั้น

                ส่วนซีพีออลล์ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเฟลเว่น มีสินทรัพย์กว่า 3.5 แสนล้านบาท รายได้กว่า 3.4 แสนล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท นั้นปล่อยให้ “เจ้าสัวณรงค์” ทำหน้าที่โดยมี “ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” เป็นโคชชิ่ง

                แน่นอนว่ากลุ่มทรูนั้น ไม่มีใครเหมาะสมเท่า ประธานคณะผู้บริหาร เจ้าสัวน้อยศุภชัย...

                ทำไมเป็นเช่นนั้น พรานฯได้ข่าวว่าระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา ประธานธนินท์ใช้ยุทธวิธี “สร้างคน” หาคนที่มีความสามารถมีประสบการณ์ใหม่ๆ เข้ามานำพาองค์กร เจ้าสัวเชื่อว่า องค์กรที่ปรับตัวได้ทัน กับการเปลี่ยนแปลงจึงจะกลายเป็น “ผู้นำทางธุรกิจและรักษาความยั่งยืนได้”

                อีกทั้งหากสังเกตให้ดีในระยะ 2 ปี ประธานธนินท์ได้พยายามสร้างอาณาจักรให้กับทายาททั้ง 4 ขึ้นดูแลธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด โดยมอบให้ “ทิพาภรณ์” ดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจรทั้งในนามกลุ่ม แมกโนเลีย และกลุ่มซี.พี.แลนด์

                การก้าวลงตำแหน่งของผู้นำองค์กรที่มีทรัพย์สินทั้งหมดมากมายมหาศาลในประเทศตกประมาณ 1-2 ล้านล้านบาท ในต่างประเทศอีกมหึมา มีอาณาจักรทางธุรกิจในเครือ รวม 13 กลุ่มธุรกิจ ไล่จากกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร, กลุ่มธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและเคมีเกษตร, กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ

                กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร, กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง, กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์, กลุ่มธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่าย, กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม, กลุ่มธุรกิจพลาสติก, กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, กลุ่มธุรกิจยานยนต์, กลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์ และกลุ่มธุรกิจการเงินและการธนาคาร จึงมิใช่เรื่องเล็กๆแต่สะท้านไปทั้งพงไพร

                ในหนังจีนอาจมีการแย่งบัลลังก์ฮ่องเต้กัน ตั้งองค์เล็ก องค์รอง และองค์โต จะมีปัญหา แต่ในอาณาจักรซีพี มิได้เป็นเช่นนั้นแน่นอน เพราะ 3 เจ้าสัวน้อยผู้เป็นทายาทนั้น แม้ข้างนอกอาจดูไม่ผูกสัมพันธ์ ต่างคนต่างเดิน แต่ความจริงแล้วเหนียวแน่น...และศรัทธาประธานใหญ่ยิ่งกว่าอะไร...

                ตั้งใครขึ้นนั่งบัลลังก์มิได้หมายความว่า ท่านประธานจะหมดความหมายเสียเมื่อไหร่...

                เพราะภารกิจที่มุ่งหมายในการสร้างอาณาจักร การพัฒนาที่ดินให้ครบวงจรทั้งเมืองใหม่ รถไฟความเร็วสูง คอมเพล็กซ์อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการเงินที่เป็นไมโครไฟแนนซ์ ซึ่งผูกติดไปกับเทคโนโลยี...ยังเดินไปไม่ถึงไหน

                เจ้าสัวใหญ่วางมือเพียงเพื่อเดินงานใหญ่ระดับโลกให้สัมฤทธิ์มากกว่า มีภารกิจในการประชุม ประชุม และประชุม...

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ